ตัวกูเป็นข้าบทรัช
พระพงศ์จักรพรรดิมหาศาล
คือองค์นารายณ์อวตาร
จะคบพวกพาลด้วยอันใด
เจ้ามึงถึงมีฤทธา
กูจะออกไปหาหาควรไม่
เองจงเร่งรีบกลับไป
บอกให้แจ้งใจอสุรี
เมื่อพระรามขึ้นครองราชย์สมบัติกรุงศรีอยุธยา จากนั้นจึงปูนบำเหน็จให้แก่พระลักษมณ์ พระพรต พระสัตรุตและบรรดาข้าราชบริพาลที่ช่วยรบทัพเอาชนะกรุงลงกา พระยาพิเภกได้รับแต่งตั้งให้ครองกรุงลงกามีนามว่าท้าวทศคิริวงศ์ กล่าวถึงท้าวมหาบาลครองเมืองจักรวาลเป็นสหายของทศกัณฑ์ คำนึงถึงทศกัณฑ์จึงยกทัพเพื่อมาหาที่กรุงลงกา เมื่อมาถึงด่านกรุงลงกาจึงทราบข่าวจากนายด่านว่าทศกัณฑ์ถูกพระรามสังหารและให้ท้าวทศคิริวงศ์ขึ้นครองกรุงลงกา ก็ตะลึงโกรธให้เสนาชื่อภัทรจักรเข้าไปแจ้งให้ท้าวทศคิริวงศ์ออกมาเข้าเฝ้า ฝ่ายท้าวทศคิริวงศ์ได้ทราบก็ประหวั่นพรั่นใจดำริว่า หากตนออกไปพบท้าวมหาบาลก็คงจะไม่ยินดีพูดจาด้วย ทั้งตนก็เป็นข้าของพระนารายณ์จะยอมออกไปก็ดั่งยินยอมสวามิภักดิ์ยิ่งเป็นการไม่สมควร
ในองค์กร ย่อมมีคนดีแลคนไม่ดี
คนดีจึงยึดถือขั้นตอนระเบียบกติกา
คนไม่ดีชอบ ลัดขั้นตอน ใช้เส้นสาย เล่นพรรคเล่นพวก ก้าวร้าวข่มขู่
เป็นคนทำงาน ต้องไม่สวามิภักดิ์ให้พวก เกกมะเหรก เกเรเกเส กเฬวราก มาข่มขู่
แม้จะต้องบาดหมางไม่พอใจ ก็ต้องมั่นคงในตนเองในระเบียบกติกา
แม้จะต้องสูญเสียตำแหน่ง ก็ต้องมั่นคงในความดีความชอบความถูกต้องความดีงาม
หมายเหตุ
พจนานุกรม ฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ.๒๕๔๔
สวามิภักดิ์ : ก. ยอมตนหรือมอบตนอยู่ใต้อำนาจ
เกกมะเหรก : ว. เกเร
เกเร : ว. มีนิสัยเป็นพาล ชอบแกล้งชอบรังแกและเอาเปรียบเขา
เกเรเกเส : ว. ไม่ตรงไปตรงมา
กเฬวราก : ก. ซากศพ
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น