วันพฤหัสบดีที่ 28 มีนาคม พ.ศ. 2567

จินตนาการจากการอ่าน ช่างเพริศแพร้วยิ่งกว่าสิ่งใด(SHUT DOWN กรุงศรี)


"มีเรือจากหัวเมืองเหนือใต้เข้ามาค้าขายในพระนครอย่างคับคั่งเสมือนหนึ่งว่าไม่มีสงครามเกิดขึ้นจนกระทั่งกองทัพพม่า SHUTDOWN กรุงศรีอยุธยาแล้วนั่นเองจึงเกิดความเดือดร้อนขึ้นพากันนำเรืออพยพไปยังที่ "คิดว่า" ปลอดภัย"

SHUT DOWN กรุงศรี
ปรามินทร์ เครือทอง

ธรรมชาติคือ  สิ่งที่เกิด มี และเป็นอยู่ ตามธรรมดาของสิ่งหนึ่ง
ธรรมชาติจึงไม่หยุดนิ่ง ธรรมชาติจึงแปรเปลี่ยนไปตามเวลาและสภาวะแวดล้อม
การพยายามหยุดนิ่งใด ๆ จึงเป็นเรื่องฝืนธรรมชาติ
การพยายามให้ผู้คนกระทำสิ่งต่าง ๆ แบบเดิม เหมือนเดิม ไม่เปลี่ยนแปลง จึงเป็นเรื่องฝืนธรรมชาติ

องค์กรใด หน่วยงานใด สังคมใด ฝืนธรรมชาติ ผู้คนในองค์กร หน่วยงาน หรือสังคมนั้นย่อมหาทางขยับขยายหลีกหนี

ให้โอกาสความเสื่อมโทรมและการพัฒนาที่เป็นไปตามธรรมชาติ


ต้นเรื่อง

SHUT DOWN กรุงศรี เป็นแนวคิดเชิงวิเคราะห์ประวัติศาสตร์ถึงสงครามคราวเสียกรุงให้กับพม่าครั้งที่ 2 โดยพยายามเน้นให้เห็นภาพคนเล็ก ๆ ที่ตกอยู่ในภาวะสงครามว่าได้รับผลกระทบอย่างไรต่างจากมุมมองหนังสือที่บันทึกประวัติศาสตร์การเสียกรุงฉบับอื่น ๆ

Quote ที่น่าสนใจเพิ่มเติมจากหนังสือเล่มนี้

"ยังคงค้าขายกันอย่างปกติ มีเรือจากหัวเมืองเหนือใต้เข้ามาค้าขายในพระนครอย่างคับคั่งเสมือนหนึ่งว่าไม่มีสงครามเกิดขึ้นจนกระทั่งกองทัพพม่า SHUTDOWN กรุงศรีอยุธยาแล้วนั่นเองจึงเกิดความเดือดร้อนขึ้นพากันนำเรืออพยพไปยังที่ "คิดว่า" ปลอดภัย"


จินตนาการจากการอ่าน ช่างเพริศแพร้วยิ่งกว่าสิ่งใด


วันอังคารที่ 26 มีนาคม พ.ศ. 2567

จินตนาการ จากการอ่าน ช่างเพริศแพร้วยิ่งกว่าสิ่งใด(ท่ง กุลา ลุกไหม้)


"แต่เพิ่นบ่ป่อยให้เฮาได้เว้าอันที่เฮาอยากเว้า"

ท่ง กุลา ลุกไหม้
ฆวาน รุลโฟ-พีระ ส่องคืนอธรรม

มนุษย์ย่อมมีเสรีภาพในการพูด หากการพูดนั้นไม่รบกวนผู้อื่น
ผู้บริหารองค์กรจึงไม่มีอำนาจใดที่จะห้ามผู้ปฏิบัติในการพูดแสดงความคิดของตน

มนุษย์ย่อมมีเสรีภาพในการฟัง เลือกที่จะฟังสิ่งที่ตนพึงพอใจได้
ผู้บริหารจำเป็นต้องฟังผู้ปฏิบัติ เมื่อผู้ปฏิบัติแสดงความคิดเห็น

ผู้บริหารบางคนไม่ให้พูด เมื่อไม่พูดก็ไม่ต้องฟัง
ผู้บริหารบางคนให้พูด แต่ก็ไม่ฟัง
ผู้บริหารบางคนฟัง แต่ก็ไม่ได้ยิน

ผู้ที่ไม่ยอมให้ผู้อื่นพูด ผู้ที่ไม่ฟังผู้อื่น ผู้ที่ไม่ได้ยินผู้อื่น ล้วนแล้วแต่เป็นผู้มีอคติ


ต้นเรื่อง

ท่ง กุลา ลุกไหม้ เป็นหนังสือรวมเรื่องสั้นแปลจาก El Llano en Ilamas ของ Juan Rulfo ซึ่งเป็นภาษาสเปน ให้เป็นภาษาอีสาน สื่อเปรียบเทียบระหว่างเนื้อเรื่องของสังคมความแร้นแค้น ความยากจน ความสัตย์ซื่อ ของเม็กซิโก ด้วยภาษาอีสานของไทย ที่อ่านยาก ทำความเข้าใจยากจั๊กหน่อย

Quote ที่น่าสนใจเพิ่มเติมจากหนังสือเล่มนี้

"บ่แม่นปายทางข้อย หากแต่เป็นปายทางมัน"


จินตนาการ จากการอ่าน ช่างเพริศแพร้วยิ่งกว่าสิ่งใด


วันเสาร์ที่ 23 มีนาคม พ.ศ. 2567

จินตนาการจากการอ่าน ช่างเพริศแพร้วยิ่งกว่าสิ่งใด(ลวงตา ลวงตาย)


"ผิดซ้ำสองไม่กลายเป็นถูก"

ลวงตา ลวงตาย
LEE CHILD - โรจนา นาเจริญ

ทุกผู้คนล้วนมีโอกาสผิดพลาด
นักประดิษฐ์ นักวิทยาศาสตร์ และนักคิด ล้วนเคยผิดพลาด และเคยผิดพลาดในเรื่องเดิมหลายครั้งกว่าจะหาคำตอบที่ถูกต้องได้

คนที่ผิดพลาดครั้งแรกอาจเรียกได้ว่า ไม่รู้
คนที่ผิดพลาดซ้ำในเรื่องเดิมด้วยวิธีการเดิมอีกครั้งเรียกว่า โง่
คนที่ผิดพลาดซ้ำในเรื่องเดิมด้วยวิธีการเดิมหลายครั้งซ้ำแล้วซ้ำอีกเรียกว่า โง่ดันทุรัง

นักประดิษฐ์ นักวิทยาศาสตร์ และนักคิด วิเคราะห์จากความผิดพลาดแต่ละครั้งแล้วหาแนวทางใหม่ที่แตกต่าง จนกว่าจะพบความถูกต้อง

หากผิดแล้วเลิก ไม่คิดจะหาวิธีการใหม่ที่ถูกต้อง ก็ไม่อาจแก้ปัญหาใดได้ เป็นได้ก็แค่เพียง คนขี้แพ้


ต้นเรื่อง

ซีรีส์อาชญนิยายชุด  Jack Reacher ของ Lee Child ที่เขียนให้ อดีตสารวัตรทหารหนุ่ม แจ๊ค รีชเชอร์ ต้องเข้าไปรับบทบาทในการสืบคดีต่าง ๆ ที่ทั้งโหดและเสี่ยง สนุกสนาน ตื่นเต้นตลอดเรื่อง ลวงตา ลวงตาย แปลจากเรื่อง Echo Burning โดย โรจนา นาเจริญ

Quote ที่น่าสนใจเพิ่มเติมจากหนังสือเล่มนี้

"ผู้คนโกหกกันตลอดเวลาด้วยเหตุผลต่างๆนานา"

"เรื่องมันแล้วไปแล้วคิดไปก็ไม่มีประโยชน์"

หมายเหตุ
จินตนาการจากเพื่อนเฟสบุ้คบางคน

@Suriya Sathienkit-umpai
ผิดซ้ำ ๆ จนเป็นนิสัย เลยคิดว่าถูกก็เป็นได้

@Pongpot Theeranantachai
แล้วไม่รู้ตัวว่าผิดล่ะ


จินตนาการจากการอ่าน ช่างเพริศแพร้วยิ่งกว่าสิ่งใด

วันพฤหัสบดีที่ 21 มีนาคม พ.ศ. 2567

จินตนาการจากการอ่าน ช่างเพริศแพร้วยิ่งกว่าสิ่งใด(มังกรคู่สู้สิบทิศ 1)


"ในโลกนี้มีวัตถุสองสิ่งที่ทำลายความเป็นมนุษย์และความสัมพันธ์ระหว่างบุคคลนั่นคืออำนาจและเงินตรา"

มังกรคู่สู้สิบทิศ 1
หวงอี้ : น.นพรัตน์

อำนาจคือ ความสามารถหรือสิ่งที่สามารถทำหรือบันดาลให้เกิดสิ่งใดสิ่งหนึ่งได้ จึงมีผู้คนเชื่อว่าอำนาจเป็นความสามารถในการเปลี่ยนแปลงชีวิตผู้อื่น
ผู้คนมักคิดว่า การมีอำนาจนำไปสู่การมีเงินตรา
หลายผู้คนจึงยินยอมใช้เงินตรานำไปสู่การมีอำนาจ

ผู้ไร้เงินตราอาจหมดโอกาสที่จะมีอำนาจ
ผู้ไร้เงินตราหลายคน จึงเลือกใช้วิธีเข้าสู่อำนาจโดยการพึ่งพาบารมีผู้มีอำนาจบางคน แล้วผ่อนส่งสิ่งต่างตอบแทนชดเชยเงินตรา

แต่มีข้อเท็จจริงอยู่สองประการ
หนึ่งคือ ผู้มีอำนาจ อาจใช้อำนาจได้ทั้งทางบวกและทางลบ 
หนึ่งคือ เมื่อมีอำนาจย่อมมีหมดอำนาจ

การแสวงหาอำนาจโดยอาศัยเงินตราเพื่อเงินตรา จึงเป็นสิ่งที่ลดทอนความเป็นมนุษย์ของผู้นั้น
เพื่อใช้อำนาจทางบวกจึงไม่จำเป็นต้องแสวงหาอำนาจมาโดยเงินตรา


ต้นเรื่อง

มังกรคู่สู้สิบทิศ วรรณกรรมจีนแต่งโดย หวงอี้ ในรูปแบบนิยายอิงประวิติศาสตร์ เป็นเรื่องราวของการก่อตั้งราชวงศ์ถัง ตัวเอกของเรื่องเป็นสองเด็กกำพร้าแห่งเมืองหยางโจว โค่วจง และ ฉีจื่อหลิง ใช้ชีวิตจากการเป็นอันธพาล ลักเล็กขโมยน้อย ต่อมาฟ้าประทานให้ทั้งสองได้รับเคล็ดวิชา จนสามารถรวบรวมสมัครพรรคพวกเป็นกองกำลังเข้าร่วมกระบวนการชิงแผ่นดิน ไม่ว่าเรื่องราวจะหนักหนาสาหัสถึงกับต้องแลกด้วยชีวิตปานใด คุณธรรมก็ยังเป็นสิ่งสำคัญที่สองสหายยึดมั่น มังกรคู่สู้สิบทิศ แบ่งออกเป็น 2 ภาค  ภาคแรก มังกรคู่สู้สิบทิศ 10 เล่ม และภาค 2 มังกรคู่สู้สิบทิศ ภาคสมบูรณ์ 11 เล่ม

Quote ที่น่าสนใจเพิ่มเติมจากหนังสือเล่มนี้

"คนฉลาดชอบคิดฟุ้งซ่าน"

"คำเตือนมักระคายหู"

หมายเหตุ
จินตนาการจากเพื่อนเฟสบุ้คบางคน

@Suriya Sathienkit-umpai
อำนาจ และเงินตรา ไม่เข้าใครออกใคร ลุ่มหลงกับมันจะนำความทุกข์มาภายหลัง


จินตนาการจากการอ่าน ช่างเพริศแพร้วยิ่งกว่าสิ่งใด

วันอังคารที่ 19 มีนาคม พ.ศ. 2567

จินตนาการจากการอ่าน ช่างเพริศแพร้วยิ่งกว่าสิ่งใด(รวมเรื่องสั้นชุดเมืองจีน)


"เมื่อทุกหัวใจเปี่ยมไปด้วยความจงเกลียดจงชัง ซึ่งไม่กล้าแสดงออกนอกหน้า การนิ่งเงียบจึงนับว่าดีที่สุด"

รวมเรื่องสั้นชุดเมืองจีน
เพิร์ล เอส บั๊ค - สันตสิริ

การนิ่งเงียบ คือการไม่แสดงออก
การที่ผู้คนไม่แสดงออกอาจเกิดได้จากหลายสาเหตุ อาทิ
- ไม่แสดงออกเพราะไม่กล้า แม้จะเข้าใจประเด็น มีความคิดเห็นส่วนตน แต่ไม่มีความกล้าเพียงพอที่จะแสดงความคิดเห็นของตน จึงได้แต่เงียบ

ไม่แสดงออกเพราะไม่มีผู้ใดให้โอกาส แม้จะมีความกล้าที่จะแสดงออก แต่ไม่ได้รับโอกาสหรืออาจถึงกับถูกกีดกันมิให้แสดงออก จำเป็นต้องเงียบ

ไม่แสดงออกเพราะไม่พอใจจะแสดงออก แม้จะมีความคิดเห็น แต่แสดงความคิดเห็นอะไรออกไปก็ไม่มีผู้ใดรับฟัง เมื่อความคิดเห็นไม่มีความหมาย สู้เงียบไว้ดีกว่า

ไม่แสดงออกเพราะไม่รู้เรื่อง ไม่มีความรู้กับเรื่องนั้น ๆ ถึงกับไม่รู้ด้วยซ้ำว่าเขาพูดเขาทำอะไรกัน เงียบแบบไม่รู้เรื่องจริง ๆ

ผู้บริหารบางคน พูดมากกว่าฟัง แสดงความคิดเห็นของตนมากกว่าจะรับฟังความคิดเห็นของผู้อื่น
เป็นผู้บริหารต้องศึกษาผู้คน ต้องเข้าใจผู้คน ต้องให้โอกาสผู้คนในการแสดงความคิดเห็น

การพัฒนาขององค์กร เกิดจากการฟังมากกว่าการพูด


ต้นเรื่อง

รวมเรื่องสั้นชุดเมืองจีน ฉบับ สันตสิริ แปลจากผลงานของ เพิร์ล เอส บั๊ค(Pearl S. Buck) นักเขียนรางวัลโนเบล สาขาวรรณกรรม ซึ่งปกติจะเขียนเรื่องราวเกี่ยวกับชีวิตของเมืองจีนที่แสดงให้เห็นถึงวิถีชีวิต ขนบธรรมเนียมประเพณี และต่อเนื่องไปถึงการเปลี่ยนแปลงการปกครอง จึงเสมือนการบันทึกประวัติศาสตร์หน้าหนึ่งของประเทศจีนไว้อย่างน่าสนใจ

Quote ที่น่าสนใจเพิ่มเติมจากหนังสือเล่มนี้

"คนเราคิดว่าอะไรที่แตกต่างออกไปน่าขบขันเสมอ"

"ไม่มีมนุษย์คนใดจะเป็นไทยแก่ตัวเลย"

"ใครเลยจะปลูกข้าวให้งอกงามได้ โดยที่ไม่มีพันธุ์ข้าวจะใช้หว่านเสียก่อน"


จินตนาการจากการอ่าน ช่างเพริศแพร้วยิ่งกว่าสิ่งใด


วันเสาร์ที่ 16 มีนาคม พ.ศ. 2567

จินตนาการจากการอ่าน ช่างเพริศแพร้วยิ่งกว่าสิ่งใด(รหัสลับหลังคาโลก เล่ม 11)


"ยิ่งฉลาดมาก ยิ่งรู้มาก ก็ยิ่งทำลายสังคมมาก"

รหัสลับหลังคาโลก เล่ม 11
เหอหม่า – อนุรักษ์ กิจไพบูลย์ทวี

คนเก่ง คือคนที่มีความรู้
คนฉลาด คือคนที่รู้จักเอาความรู้มาใช้ประโยชน์
คนรู้มาก คือคนที่เอาความฉลาดมาเอาเปรียบผู้อื่น

องค์กรที่มีผู้นำเก่งแต่ไม่ฉลาด องค์กรก็ไม่อาจพัฒนา
องค์กรที่มีผู้นำฉลาดแต่ไม่มีความรู้ องค์กรอาจทำแต่เรื่องไร้สาระ
องค์กรที่มีผู้นำรู้มาก องค์กรจะบรรลัย


ต้นเรื่อง

รหัสลับหลังคาโลก เริ่มต้นเป็นนวนิยายเผยแพร่ทาง website ต่อมาได้รับความนิยมอย่างรวดเร็วถึงกับหลายสำนักพิมพ์รุมซื้อลิขสิทธิ์ รหัสลับหลังคาโลก เป็นเรื่องราวของประธานบริษัทธุรกิจเกี่ยวกับการฝึกสุนัขทิเบตัน มัลทิฟฟ์ ได้พบรูปภาพสัตว์ตัวหนึ่ง ที่เขาเชื่อว่าเป็นสุดยอดสุนัขทิเบตัน มัลทิฟฟ์ กิเลนม่วง ที่เขาตามหาตามหา จากนั้นมหากาพย์ของการเดินทางเพื่อไขความลับของทิเบต แดนแห่งหลังคาโลกจึงเริ่มขึ้น ด้วยทีมที่แต่ละคนมีวัตถุประสงค์ซ่อนเร้นในใจ เรื่องราวผจญภัยแสนสาหัสจึงยืดยาวถึง 11 เล่ม

Quote ที่น่าสนใจเพิ่มเติมจากหนังสือเล่มนี้

"คนเราหากเสื่อมคุณธรรม ยิ่งฉลาดมาก ยิ่งรู้มาก ก็ยิ่งทำลายสังคมมาก"

"คนฉลาดน่ะเก็บไว้คนเดียวก็พอ"

"คนที่บุ่มบ่ามมักตายก่อน ซ้ำยังเดือดร้อนเพื่อนพ้องอีกด้วย"


จินตนาการจากการอ่าน ช่างเพริศแพร้วยิ่งกว่าสิ่งใด

วันพฤหัสบดีที่ 14 มีนาคม พ.ศ. 2567

จินตนาการจากการอ่าน ช่างเพริศแพร้วยิ่งกว่าสิ่งใด(ฆาตกรรมหลังเลิกเรียน)


"ความสุขมักจะอยู่กับเราไม่นาน"

ฆาตกรรมหลังเลิกเรียน
ชนินทร อุลิศ

ทุกสิ่งอย่างย่อมมีเวลาเป็นตัวกำหนด เวลามีทั้งเวลาที่ผ่านไปแล้ว เวลาปัจจุบัน และเวลาที่ยังมาไม่ถึง
เวลาที่สำคัญที่สุดจึงคือ เวลาที่เหมาะสม
จะทำการสิ่งใดสำเร็จหรือไม่ ต้องไม่เร็วเกินไป และต้องไปช้าเกินไป
จะทำการสิ่งใดสำเร็จหรือไม่ ต้องอยู่ในห้วงเวลาที่เหมาะสม

เวลาที่เหมาะสมมิใช่เรื่องบังเอิญ มิใช่การผูกดวงวางลัคนาฤกษ์พานาที หากแต่เป็นเรื่องที่ต้องเรียนรู้ ต้องอาศัยประสบการณ์ และ ต้องวิเคราะห์เหตุแลผล
หากพ้นเวลาที่เหมาะสมไป อาจมิใช่แค่ต้องรอเวลาใหม่ แต่อาจหมายถึงการสูญเสียโอกาสไปโดยสิ้นเชิง


ต้นเรื่อง

ฆาตกรรมหลังเลิกเรียน เป็นวรรณกรรมแนวรหัสคดี หรือ อาชญนิยาย ที่เริ่มต้นเรื่องที่นักเรียนคนหนึ่งถูกเพื่อร่วมชั้นพลั้งมือฆ่าตาย แต่ฆาตกรกลับพบว่า มีผู้ที่เกี่ยวข้องกับผู้ตายมากหลายคน เงื่อนงำหลายอย่างนำไปสู่ความซับซ้อนของเรื่องให้น่าติดตาม

หมายเหตุ
จินตนาการจากเพื่อนเฟสบุ้คบางคน

@Uthumpon Sumakon
ความทุกข์ก็เช่นกัน

@วิมล แสงอุทัย
มันก็อยู่ที่ใจ

@ชุมนุม พรหมขัติแก้ว
มันต้องถ่ายทุกข์ด้วยยาระบาย

@PanTer ThanapholSatorn Tunprasert
แค่อักษรสะกดสระเสียงก็ลัวนกล่าวว่า "ทุก(ข์) ๆ วัน"


จินตนาการจากการอ่าน ช่างเพริศแพร้วยิ่งกว่าสิ่งใด