วันนี้ตรงกับวันที่ ๒๙ กรกฎาคม ๒๕๖๒ เป็นวันสำคัญวันหนึ่งที่ต้องจารึกไว้ ด้วยเป็นวันที่ พรบ.ระบบสุขภาพปฐมภูมิ พ.ศ. ๒๕๖๒ มีผลบังคับใช้ตามกฎหมาย ส่งผลให้เริ่มต้นการปฏิรูประบบสุขภาพปฐมภูมิอย่างเป็นรูปธรรม
พรบ.ฉบับนี้มีความสำคัญอะไรบ้าง
๑. ต่อไปนี้ ประชาชนคนไทยทุกคนจะมีแพทย์เวชศาสตร์ครอบครัวและทีมดูแลสุขภาพเป็นแพทย์ประจำตัวเป็นแพทย์ประจำครอบครัว และมีหน่วยบริการปฐมภูมิที่รับผิดชอบดูแลสุขภาพของทุกคน เราต้องเปลี่ยนคำแนะนำที่เคยบอกว่า สงสัยเรื่องเกี่ยวกับสุขภาพใด ๆ ให้ปรึกษาที่ โรงพยาบาลใกล้บ้านเป็น เมื่อสงสัยเกี่ยวกับสุขภาพใด ๆ ให้ถามหมอของคุณ หมอของคุณก็คือแพทย์เวชศาสตร์ครอบครัวและทีม ตามพรบ.ฉบับนี้นั่นเอง
หน่วยบริการปฐมภูมิต้องจัดให้มีระบบส่งต่อ เพื่อส่งต่อผู้ที่มีความจำเป็นต้องรับการรักษาดูแลในระบบสุขภาพที่สูงขึ้น
เพื่อความสะดวกของประชาชน ประชาชนสามารถขอเปลี่ยนแปลงหน่วยบริการปฐมภูมิของตนได้
๒. ต่อไปนี้ ข้อมูลทางการแพทย์ของทุกคนไม่ว่าจะไปรับบริการการรักษาที่ไหน ประชาชนต้องได้รับทราบข้อมูลการดูแลรักษาของตนเอง หน่วยบริการใด ๆ ต้องส่งกลับข้อมูลนั้นไปที่หมอของคุณ หมอของคุณก็คือแพทย์เวชศาสตร์ครอบครัวและทีมตามพรบ.ฉบับนี้นั่นเอง (ทั้งนี้อยู่บนความยินยอมของเจ้าของข้อมูลนั้น)
๓. ต่อไปนี้ ค่าใช้จ่ายด้านสุขภาพปฐมภูมิ จะถูกกำหนดให้จ่ายไปที่หน่วยบริการปฐมภูมิ ไม่ว่าสิทธิในด้านการรักษาพยาบาลเดิมจะเป็นกองทุนใด ๆ (อาทิ สิทธิข้าราชการ สิทธิประกันสุขภาพถ้วนหน้า(บัตรทอง ๓๐ บาท) สิทธิประกันสังคม ฯลฯ) หน่วยบริการปฐมภูมิไม่ควรต้องตามจ่ายหน่วยบริการลำดับถัดไปเมื่อต้องส่งต่อ
สุขภาพปฐมภูมิที่พูดถึงคือ
การสุขภาพที่มุ่งเน้นดูแลทุกคนตั้งแต่แรก ทุกคนคือ ทุกสิทธิ ทุกกลุ่มวัย ทั้งกลุ่มสุขภาพปกติ กลุ่มเสี่ยง กลุ่มป่วย และหลังป่วย
การสุขภาพที่มุ่งเน้นดูแลแบบองค์รวม คือ ดูแลคน ไม่ใช่ดูแลโรค ดูแลทั้งร่างกาย จิตใจ และสังคม
การสุขภาพที่มุ่งเน้นดูแลแบบครอบคลุมผสมผสาน คือ ส่งเสริมสุขภาพ ป้องกันโรค ควบคุมโรค รักษาพยาบาล และฟื้นฟูสุขภาพ
การสุขภาพที่มุ่งเน้นดูแลแบบบูรณาการ คือ การดูแลตามบริบทของ ชุมชน สังคม สิ่งแวดล้อม ฯลฯ
การสุขภาพที่มุ่งเน้นดูแลแบบต่อเนื่อง คือการดูแลทั้งครอบครัวต่อเนื่อง ตั้งแต่เกิดจนตาย หากจำเป็นต้องมีระบบส่งต่อ และรับกลับมาดูแลต่อ
สุขภาพปฐมภูมิที่พูดถึงคือ การดูแลคน ไม่ใช่ดูแลโรค การรักษาคน ไม่ใช่รักษาโรค เพื่อให้ประชาชนสุขภาพดี
ประชาชนจะมีสุขภาพดีได้ ประชาชนต้องสามารถ จัดการตนเองด้านสุขภาพ (Self Management)
ประชาชนจะสามารถจัดการสุขภาพตนเองได้ ประชาชนต้องมี ภูมิรู้ทางสุขภาพ (Health Literacy)
ทั้งหมดอยู่ที่ความร่วมมือกันของ ทีมหมอประจำครอบครัวกับประชาชน
จะอย่างไรก็ตาม เราไม่สามารถทำให้ประชาชนคนไทยทุกคนมีแพทย์เวชศาสตร์ครอบครัวและทีมดูแลสุขภาพเป็นแพทย์ประจำตัวเป็นแพทย์ประจำครอบครัว สำเร็จตามพรบ.ฉบับนี้ภายในวันนี้ แต่ถ้าเราไม่เริ่มวันนี้ เราจะทำสำเร็จได้เมื่อไร
หากทุกท่านที่มีส่วนเกี่ยวข้อง ได้ศึกษาสาระแนวคิดรวบยอดที่มุ่งเน้นสุขภาพของประชาชนตาม พรบ.ฉบับนี้ แล้วช่วยกันผลักดันไปสู่ความสำเร็จ เวลา ๑๐ ปีตามบทเฉพาะกาลก็คงไม่สายเกินไป
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น