วันอาทิตย์ที่ 7 เมษายน พ.ศ. 2556

ที่หนักที่เบา

๔๒

ธรรมดาเกิดมาเป็นชายให้รู้จักที่หนักที่เบา ถ้าผู้ใดมิได้รู้จัก
ที่หนักที่เบา คนทั้งปวงก็จะล่วงติเตียนว่าผู้นั้นหาสติปัญญาไม่


สามก๊ก เจ้าพระยาพระคลัง(หน) ตอนที่ 22

เมื่อครั้งโจโฉได้ตัวกวนอูมาอยู่ด้วย พยายามทำนุบำรุงกวนอูด้วยยศศักดิ์ศฤงคารบริวาร
กวนอูก็คิดรักเล่าปี่อยู่มิได้ขาด โจโฉจึงให้เตียวเลี้ยวไปเกลี้ยกล่อมกวนอู แต่กวนอูก็ยังคงยืนกรานว่า
แม้โจโฉจะชุบเลี้ยงมีบุญคุณ แต่จะให้วายคิดถึงเล่าปี่นั้นไม่ได้ เตียวเลี้ยวจึงตือนกวนอูว่า
เกิดเป็นชายต้องรู้จักที่หนักที่เบา รู้อะไรควรไม่ควร


เพราะเกิดมาเป็นคนจำจะรู้จักที่หนักที่เบาจึงควร

สามก๊ก เจ้าพระยาพระคลัง(หน) ตอนที่ 36

เมื่อเล่าเปียวแห่งเมืองเกงจิ๋วเสียชีวิต นางชัวฮูหยิน ชัวมอ และ เตียวอุ๋น ลอบปลอม
คำสั่งเสียเล่าเปียวให้ยกเล่าจ๋องขึ้นเป็นเจ้าเมืองแทนบิดา ขณะเดียวกันโจโฉเตรีย
ยกทัพผ่านเกงจิ๋วไปตีเมืองซินเอี๋ย เล่าจ๋องให้วิตกกังวลจึงปรึกษาที่ปรึกษาทั้งปวง
ว่าควรทำอย่างไรดี ฮูสวนแนะนำให้เล่าจ๋องนำเมืองเกงจิ๋วและหัวเมืองทั้งเก้าไปยกให้
โจโฉเสียก็จะรอดปลอดภัย เล่าจ๋องโกรธตวาดฮูสวนว่า เล่าเปียวผู้เป็นบิดาเพิ่งเสียชีวิต
เหตุใดมาแนะนำให้ยกเมืองให้โจโฉ เก๊งอวดจึงกล่าวสนับสนุนฮูสวน ว่าเล่าจ๋องเพิ่งตั้ง
ตัวเป็นใหญ่ พี่น้องก็มีปัญหากัน เห็นจะสู้โจโฉไม่ได้ สู้ยอมเสียจะดีกว่า
เพราะเกิดมาเป็นคนจำจะรู้จักที่หนักที่เบาจึงควร



ของหนัก  เอามาถือไว้ก็หนัก
ของเบา  หากต้องถือไว้ก็เบา

ของหนัก  คนเดียวถือก็หนักเกินไป
ของเบา  หลายคนมาช่วยถือก็เกะกะ รุงรัง

งานใหญ่  จึงต้องหลายคนช่วยกันทำ
งานเล็ก  จึงไม่ต้องมะรุมมะตุ้ม งานเล็กจะกลายเป็น งานเละ แล้ว

เรื่องใหญ่  จึงต้องมีคณะทำงานมากหน้าหลายตา ตามผู้ที่มีส่วนเกี่ยวข้อง
เรื่องเล็ก  จึงมิต้องตั้งคณะทำงานจัดประชุมใหญ่โต

ไม่ว่าผู้บริหาร หรือ ผู้ปฏิบัติ  ก็ต้องรู้จัก  ที่หนักที่เบา  ไม่ยุ่งเกี่ยวไปทุกเรื่องราว



สามก๊ก อ่านสามจบ ยังคบได้

มีคำกล่าวล่ำลือถึงความเป็น สุดยอดตำราทางยุทธศาสตร์ ของ สามก๊ก ว่า อ่านสามจบคบไม่ได้  ฟังดูก็ไม่เชิงว่าจะเป็นการนิยมยกย่องสักเท่าไร เพราะเหตุที่คบไม่ได้ มิใช่ว่าจะเป็นคนเก่งกล้าสามารถ แต่หากจะเป็นคน เจ้าเล่ห์แสนกล ด้วยสามก๊กนั้นเต็มไปด้วยกลอุบาย หรือที่คบไม่ได้อาจเป็นเพราะ ท่าทางจะเป็นคนโง่เหลือกำลัง ที่ทนอ่านอยู่ได้ตั้งสามจบ

ผู้เขียนเองก็นับว่าอ่านสามก๊กมามากกว่าสามจบ ทั้งฉบับ เจ้าพระยาพระคลัง(หน) ฉบับ วรรณไว พัธโนทัย ฉบับ ยาขอบ และฉบับ มรว.คึกฤทธิ์ ปราโมช อ่านแล้วก็ลืม ลืมแล้วก็อ่าน อ่านทุกครั้งก็สนุกทุกครั้ง ไม่วิเคราะห์ไม่คิดมากให้เสียเวลา อ่านเอาสนุก อ่านเป็นนิยาย
ก็คนเขียนเขาเขียนเป็นนิยาย จะไปอ่านเอาสาระทำไมกัน หาก หลอกว้านจง ผู้ประพันธ์ รู้เข้าก็คงจะงุนงงเป็นยิ่งนักที่สามก๊กกลายเป็นตำราพิชัยสงคราม ตำราการบริหารเชิงยุทธศาสตร์ ไปได้

ผู้เขียนฟัง อาปา เล่าเรื่องสามก๊กให้ฟังมาตั้งแต่เด็ก ส่วนใหญ่เป็นเรื่องไหวพริบของตัวละครต่างๆในสามก๊ก ซึ่งก็เป็นเหตุทำให้ผู้เขียนสนใจอ่านสามก๊กเพื่อไปค้นหาข้อความที่อาปาเล่า ฉบับแรกที่อ่านก็เป็นฉบับ เจ้าพระยาพระคลัง(หน) เล่มใหญ่หนาที่บ้านอาโกว 

มานึกได้วันหนึ่งว่า น่าจะลองอ่านสามก๊กใหม่อีกสักหน คราวนี้จะลองอ่านแบบ อ่านเอาเรื่อง อ่านตรงที่คนอื่นเขาไม่อ่านกัน เพื่อยืนยันว่าอ่านอีกกี่จบก็น่าจะ ยังคบได้



ไม่มีความคิดเห็น: