วันเสาร์ที่ 9 เมษายน พ.ศ. 2559

ไม่กลัวตาย

๑๒๘


อันเกิดมาเป็นมนุษย์นี้
ก็ย่อมกอบไปด้วยความตาย
ใครจะพ้นจากอันตรายก็หาไม่

สามก๊ก เจ้าพระยาพระคลัง(หน) ตอนที่ 51

เล่าเจี้ยงแจ้งว่าเล่าปี่ยกทหารเข้าตีเอาด่านโปยสิก๋วน
จึงให้เหลงเปา เล่ากุ๋ย เตียวหยิม เตงเหียน คุมทหาร
ไปตั้งขัดไว้ ณ เมืองลกเสีย เมื่อมาถึงกลางทาง เล่ากุ๋ย
ขอแวะดูชะตากับจีโฮโต้หยิน ที่ตำบลเขากิมปิสานให้รู้
ว่าร้ายแลดี เตียวหยิมจึงว่า อันเกิดมาเป็นมนุษย์นี้ก็ย่อม
กอบไปด้วยความตาย ใครจะพ้นจากอันตรายก็หาไม่
เป็นชายชาติทหารจะมาวิตกกังวล ไปถามให้เป็นลางแก่ตัวทำไม


ในสงคราม ผลของการรบมีได้เพียงสี่รูปแบบ
หนึ่งคือ ชนะ
หนึ่งคือ พ่ายแพ้
หนึ่งคือ ไม่ชนะไม่พ่ายแพ้ เลิกรากันไป
หนึ่งคือ ไม่ชนะไม่พ่ายแพ้ พักรบ รอกลับมารบกันใหม่

การสงครามไม่มีคำว่า เสมอ
การทำงานในองค์กร มีผลลัพธ์เพียงสองรูปแบบ
หนึ่งคือ สำเร็จ
หนึ่งคือ ล้มเหลว

สำเร็จ คือ ชนะ
ล้มเหลว คือ พ่ายแพ้

ทุกคนย่อมต้องพบกลับความตาย
กลัวตาย ได้แต่นอนรอความตาย

ไม่กลัวตาย จึงรอด

เมื่อล้มเหลว จึงต้อง ทบทวนหาสาเหตุ
แล้วย้อนกลับไปทำใหม่ ให้สำเร็จ
หากยังคงล้มเหลว ก็ทบทวนหาสาเหตุ
แล้วย้อนกลับไปทำใหม่ ให้สำเร็จ

การทำงานในองค์กร ไม่เพียงไม่มีคำว่า เสมอ
การทำงานในองค์กร ยังไม่มีคำว่า ยอมแพ้

ต้องกล้าล้มเหลว จึงจะสำเร็จ


หมายเหตุ
กล้าล้มเหลว มิใช่ล้มเหลวแล้วจึงหาทางแก้ไข
กล้าล้มเหลว คือ ต้องเตรียมการรับความล้มเหลว



สามก๊ก อ่านสามจบ ยังคบได้

มีคำกล่าวล่ำลือถึงความเป็น สุดยอดตำราทางยุทธศาสตร์ ของ สามก๊ก ว่า อ่านสามจบคบไม่ได้  ฟังดูก็ไม่เชิงว่าจะเป็นการนิยมยกย่องสักเท่าไร เพราะเหตุที่คบไม่ได้ มิใช่ว่าจะเป็นคนเก่งกล้าสามารถ แต่หากจะเป็นคน เจ้าเล่ห์แสนกล ด้วยสามก๊กนั้นเต็มไปด้วยกลอุบาย หรือที่คบไม่ได้อาจเป็นเพราะ ท่าทางจะเป็นคนโง่เหลือกำลัง ที่ทนอ่านอยู่ได้ตั้งสามจบ
ผู้เขียนเองก็นับว่าอ่านสามก๊กมามากกว่าสามจบ ทั้งฉบับ เจ้าพระยาพระคลัง(หน) ฉบับ วรรณไว พัธโนทัย ฉบับ ยาขอบ และฉบับ มรว.คึกฤทธิ์ ปราโมช อ่านแล้วก็ลืม ลืมแล้วก็อ่าน อ่านทุกครั้งก็สนุกทุกครั้ง ไม่วิเคราะห์ไม่คิดมากให้เสียเวลา อ่านเอาสนุก อ่านเป็นนิยาย
ก็คนเขียนเขาเขียนเป็นนิยาย จะไปอ่านเอาสาระทำไมกัน หาก หลอกว้านจง ผู้ประพันธ์ รู้เข้าก็คงจะงุนงงเป็นยิ่งนักที่สามก๊กกลายเป็นตำราพิชัยสงคราม ตำราการบริหารเชิงยุทธศาสตร์ ไปได้
ผู้เขียนฟัง อาปา เล่าเรื่องสามก๊กให้ฟังมาตั้งแต่เด็ก ส่วนใหญ่เป็นเรื่องไหวพริบของตัวละครต่างๆในสามก๊ก ซึ่งก็เป็นเหตุทำให้ผู้เขียนสนใจอ่านสามก๊กเพื่อไปค้นหาข้อความที่อาปาเล่า ฉบับแรกที่อ่านก็เป็นฉบับ เจ้าพระยาพระคลัง(หน) เล่มใหญ่หนาที่บ้านอาโกว 
มานึกได้วันหนึ่งว่า น่าจะลองอ่านสามก๊กใหม่อีกสักหน คราวนี้จะลองอ่านแบบ อ่านเอาเรื่อง อ่านตรงที่คนอื่นเขาไม่อ่านกัน เพื่อยืนยันว่าอ่านอีกกี่จบก็น่าจะ ยังคบได้




ไม่มีความคิดเห็น: