วันเสาร์ที่ 19 มีนาคม พ.ศ. 2559

เลี้ยงเสือ

๑๒๖


เสมือนหนึ่งเลี้ยงเสือไว้ในบ้าน

สามก๊ก เจ้าพระยาพระคลัง(หน) ตอนที่ 50

เล่าปี่ตั้งทัพอยู่ที่ตำบลด่านแฮบังก๋วน ได้รับแจ้งจากขงเบ้งว่า 
นางซุนฮูหยินกลับไปเมืองกันตั๋ง  โจโฉรบกับซุนกวนที่ตำบล
ยี่สู หากผู้ใดมีชัยชนะจะยกทัพมาตีเอาเมืองเกงจิ๋ว จึงปรึกษา 
บังทองว่าจะคิดอ่านประการใด บังทองแนะนำให้ทำหนังสือถึง 
เล่าเจี้ยง อ้างว่าซุนกวนขอให้กองทัพเกงจิ๋วไปช่วย จึงจะขอ 
ทหารเล่าเจี้ยงสามหมื่นกับเสบียงสิบหมื่นถัง เพื่อไปช่วยซุนกวน
กำจัดโจโฉ เอียวหวยจึงคุมผู้ถือหนังสือเข้าไปพบเล่าเจี้ยง
แจ้งกับเล่าเจี้ยงว่าไม่ไว้ใจเล่าปี่เป็นคนเจ้าความคิดหวานนอกขมใน 
เล่าป๊าเสนอว่า เล่าปี่เป็นคนหามีกตัญญูไม่ เล่าเจี้ยงเอา 
มาไว้ในเมืองเสฉวน เสมือนหนึ่งเลี้ยงเสือไว้ในบ้าน


เสือ เป็นสัตว์ป่า
สัตว์ป่า ย่อมมีสัญชาตญาณป่า
หากจะนำเสือมาเลี้ยงในบ้าน จึงต้องทำสองอย่าง
หนึ่งคือ เลี้ยงดูให้อิ่มอยู่เสมอ
หนึ่งคือ กักขังไว้ในที่จำกัด หรือมีเชือกมีโซ่ล่าม
ผู้เลี้ยงจึงจะปลอดภัย

หากวันใดปล่อยให้หิวโหย
เสืออาจทะลายกรงขังออกล่าเหยื่อเอง
เป็นอันตรายต่อเจ้าของและผู้อื่น

ถึงแม้จะอิ่มหมีพีมัน
หากปล่อยให้หลุดออกจากกรงขัง
ก็อาจปลุกสัญชาตญาณป่ากลับคืนมา
เป็นอันตรายต่อเจ้าของและผู้อื่น

คนโกง ในองค์กร
คนโกง ย่อมมีสัญชาตญาณโกง
การดูแลคนโกงในองค์กร จึงต้องทำสองอย่าง
หนึ่งคือ ดูแลทุกข์สุข ให้มีกินมีใช้ตามอัตภาพ และให้ได้รับความเป็นธรรม
หนึ่งคือ สร้างระบบการทำงาน ให้มั่นคงรัดกุม ไม่สามารถมีช่องทางคดโกงได้

หากวันใดขาดเงิน หนี้สินรุงรัง
คนโกง ก็จะหาทางทะลายระบบ ไปคดโกงได้
เป็นอันตรายต่อองค์กร

แม้จะอยู่ดีมีสุข
หากวันใดระบบล้มเหลว เปิดช่องทาง
ก็อาจปลุกสัญชาตญานความคดโกงกลับคืนมา
เป็นอันตรายต่อองค์กร

คนเลี้ยงเสือ รู้ว่าตนเองเลี้ยงเสือ

แต่ ผู้บริหารองค์กร ไม่อาจรู้ได้ว่าใครคดโกง

ปิดทางคนเคยโกง
ปิดทางคนหัดโกง

ต้อง ทำตามระบบ
ต้อง สร้างระบบ
ต้อง ทำเป็นระบบ


หมายเหตุ

ทำตามระบบ (Systems Management)
คือ ระบบ มีอยู่แล้ว แค่ทำไปตามระบบที่มีอยู่

สร้างระบบ (
Systemic Management)
คือ ยังไม่มีระบบ หรือ ระบบเดิมไม่ดี ต้องสร้างระบบขึ้นมาใหม่ ด้วยการวิเคราะห์และสังเคราะห์

ทำเป็นระบบ (
Systematic Management)
คือ ทำงานอย่างมีแบบแผน เชื่อมโยงความสัมพันธ์ ให้ต่อเนื่อง


สามก๊ก อ่านสามจบ ยังคบได้

มีคำกล่าวล่ำลือถึงความเป็น สุดยอดตำราทางยุทธศาสตร์ ของ สามก๊ก ว่า อ่านสามจบคบไม่ได้  ฟังดูก็ไม่เชิงว่าจะเป็นการนิยมยกย่องสักเท่าไร เพราะเหตุที่คบไม่ได้ มิใช่ว่าจะเป็นคนเก่งกล้าสามารถ แต่หากจะเป็นคน เจ้าเล่ห์แสนกล ด้วยสามก๊กนั้นเต็มไปด้วยกลอุบาย หรือที่คบไม่ได้อาจเป็นเพราะ ท่าทางจะเป็นคนโง่เหลือกำลัง ที่ทนอ่านอยู่ได้ตั้งสามจบ

ผู้เขียนเองก็นับว่าอ่านสามก๊กมามากกว่าสามจบ ทั้งฉบับ เจ้าพระยาพระคลัง(หน) ฉบับ วรรณไว พัธโนทัย ฉบับ ยาขอบ และฉบับ มรว.คึกฤทธิ์ ปราโมช อ่านแล้วก็ลืม ลืมแล้วก็อ่าน อ่านทุกครั้งก็สนุกทุกครั้ง ไม่วิเคราะห์ไม่คิดมากให้เสียเวลา อ่านเอาสนุก อ่านเป็นนิยาย
ก็คนเขียนเขาเขียนเป็นนิยาย จะไปอ่านเอาสาระทำไมกัน หาก หลอกว้านจง ผู้ประพันธ์ รู้เข้าก็คงจะงุนงงเป็นยิ่งนักที่สามก๊กกลายเป็นตำราพิชัยสงคราม ตำราการบริหารเชิงยุทธศาสตร์ ไปได้

ผู้เขียนฟัง อาปา เล่าเรื่องสามก๊กให้ฟังมาตั้งแต่เด็ก ส่วนใหญ่เป็นเรื่องไหวพริบของตัวละครต่างๆในสามก๊ก ซึ่งก็เป็นเหตุทำให้ผู้เขียนสนใจอ่านสามก๊กเพื่อไปค้นหาข้อความที่อาปาเล่า ฉบับแรกที่อ่านก็เป็นฉบับ เจ้าพระยาพระคลัง(หน) เล่มใหญ่หนาที่บ้านอาโกว 

มานึกได้วันหนึ่งว่า น่าจะลองอ่านสามก๊กใหม่อีกสักหน คราวนี้จะลองอ่านแบบ อ่านเอาเรื่อง อ่านตรงที่คนอื่นเขาไม่อ่านกัน เพื่อยืนยันว่าอ่านอีกกี่จบก็น่าจะ ยังคบได้


ไม่มีความคิดเห็น: