วันอาทิตย์ที่ 14 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2559

ยาดี

๑๒๓

ยาดีกินขมปากแต่เป็นประโยชน์แก่คนไข้

สามก๊ก เจ้าพระยาพระคลัง(หน) ตอนที่ 49



เล่าเจี้ยงหลงกลเตียวสง เชื้อเชิญเล่าปี่เข้าเมืองเสฉวน ขณะเตรียมตัวออกไปรับ
เล่าปี่ อุยก๋วนที่ปรึกษาพยายามทัดทานก็ไม่สำเร็จ อุยก๋วนจึงเอาเชือกผูกห้อยตัว
อยู่ที่ซุ้มประตูเมือง มือหนึ่งถือหนังสือมือหนึ่งถือกระบี่ ท้าทายเล่าเจี้ยงว่า หาก
ไม่ฟังคำทัดทานที่ดุจดัง ยาดีกินขมปากแต่เป็นประโยชน์แก่คนไข้ คนซื่อกล่าวคำ
ไม่เพราะหู แต่เป็นประโยชน์แก่กาลภายหน้า ก็ให้เอากระบี่ตัดเชือกให้ศรีษะ
กระแทกลงให้ตายเสีย เมื่อเล่าเจี้ยงอ่านหนังสือจบก็โกรธ เอากระบี่ตัดเชือก
อุยก๋วนก็ศรีษะปักลงมาคอหักตาย



ยาดีหรือไม่ดี ไม่ได้อยู่ที่ตัวยา
ยาดีหรือไม่ดี ขึ้นอยู่กับโรค

โรคที่สนองตอบต่อยา ยานั้นเป็นยาดี
โรคไม่สนองตอบต่อยา ยาตัวเดียวกันนั้น กลับเป็นยาไม่ดี

การเสนอความคิดเห็นต่อผู้บังคับบัญชา ก็เช่นกัน
ย่อมขึ้นอยู่กับ จะตรงใจผู้บังคับบัญชาหรือไม่

หากตรงใจ ความคิดเห็นนั้น ย่อมเป็นความคิดเห็นที่ดี
หากไม่ ความคิดเห็นนั้นแม้มีประโยชน์ ก็เป็นความคิดเห็นที่ไม่ดี

ยาดี ต้องรักษาโรคได้
ยาดี ต้องกิน จึงจะรู้ว่ารักษาโรคได้หรือไม่
ยาขม จึงต้องเคลือบน้ำตาลให้กินง่าย

การเสนอความคิดเห็นต่อผู้บังคับบัญชา ก็เช่นกัน


หมายเหตุ

ยาดี ยาไม่ดี
ความคิดเห็นดี ความคิดเห็นไม่ดี
ก็ไม่สำคัญไปกว่า
อย่าท้าทายผู้บังคับบัญชา
อาจโดนกระบี่ตัดเชือก หัวทิ่มคอหักตาย







สามก๊ก อ่านสามจบ ยังคบได้

มีคำกล่าวล่ำลือถึงความเป็น สุดยอดตำราทางยุทธศาสตร์ ของ สามก๊ก ว่า อ่านสามจบคบไม่ได้  ฟังดูก็ไม่เชิงว่าจะเป็นการนิยมยกย่องสักเท่าไร เพราะเหตุที่คบไม่ได้ มิใช่ว่าจะเป็นคนเก่งกล้าสามารถ แต่หากจะเป็นคน เจ้าเล่ห์แสนกล ด้วยสามก๊กนั้นเต็มไปด้วยกลอุบาย หรือที่คบไม่ได้อาจเป็นเพราะ ท่าทางจะเป็นคนโง่เหลือกำลัง ที่ทนอ่านอยู่ได้ตั้งสามจบ



ผู้เขียนเองก็นับว่าอ่านสามก๊กมามากกว่าสามจบ ทั้งฉบับ เจ้าพระยาพระคลัง(หน) ฉบับ วรรณไว พัธโนทัย ฉบับ ยาขอบ และฉบับ มรว.คึกฤทธิ์ ปราโมช อ่านแล้วก็ลืม ลืมแล้วก็อ่าน อ่านทุกครั้งก็สนุกทุกครั้ง ไม่วิเคราะห์ไม่คิดมากให้เสียเวลา อ่านเอาสนุก อ่านเป็นนิยาย
ก็คนเขียนเขาเขียนเป็นนิยาย จะไปอ่านเอาสาระทำไมกัน หาก หลอกว้านจง ผู้ประพันธ์ รู้เข้าก็คงจะงุนงงเป็นยิ่งนักที่สามก๊กกลายเป็นตำราพิชัยสงคราม ตำราการบริหารเชิงยุทธศาสตร์ ไปได้
ผู้เขียนฟัง อาปา เล่าเรื่องสามก๊กให้ฟังมาตั้งแต่เด็ก ส่วนใหญ่เป็นเรื่องไหวพริบของตัวละครต่างๆในสามก๊ก ซึ่งก็เป็นเหตุทำให้ผู้เขียนสนใจอ่านสามก๊กเพื่อไปค้นหาข้อความที่อาปาเล่า ฉบับแรกที่อ่านก็เป็นฉบับ เจ้าพระยาพระคลัง(หน) เล่มใหญ่หนาที่บ้านอาโกว 
มานึกได้วันหนึ่งว่า น่าจะลองอ่านสามก๊กใหม่อีกสักหน คราวนี้จะลองอ่านแบบ อ่านเอาเรื่อง อ่านตรงที่คนอื่นเขาไม่อ่านกัน เพื่อยืนยันว่าอ่านอีกกี่จบก็น่าจะ ยังคบได้

ไม่มีความคิดเห็น: