วันอาทิตย์ที่ 7 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2559

รักษาตัว

๑๒๒


ธรรมดาภัยมาถึงตัวแล้วก็ย่อมจะรักษาตัวก่อน

สามก๊ก เจ้าพระยาพระคลัง(หน) ตอนที่ 49

เมื่อเล่าเจี้ยงหลงกลเตียวสง ให้หวดเจ้งถือหนังสือไปหาเล่าปี่
ที่เมืองเกงจิ๋ว เชื้อเชิญเล่าปี่เข้าเมืองเสฉวน ระหว่างการเจรจา
เล่าปี่รำพึงรำพันห่วงหน้าพะวงหลัง แม้บังทองจะเตือนสติว่า
ต้องรีบตัดสินใจ เล่าปี่ก็ยังเกรงว่าจะผิดธรรมเนียมที่จะไปแย่ง
เมืองเสฉวนของเล่าเจี้ยง บังทองจึงกล่าวว่า อันเล่าปี่เป็นคนดี
คนมีความสัตย์เทพยดาก็รู้อยู่แล้ว แต่ในสถานการณ์จลาจลเช่นนี้
มัวแต่จะถือความสัตย์ให้มั่นคงอยู่คงมิได้ ธรรมดาภัยมาถึงตัวแล้ว
ก็ย่อมจะรักษาตัวก่อน ควรยืมเมืองเสฉวนมาไว้ก่อน เมื่อแผ่นดิน
ราบคาบแล้วค่อยตอบแทนคุณเล่าเจี้ยงในภายหลัง 

ในการสงคราม
เมื่อภัยมาถึงตัวแล้ว ก็ย่อมจะรักษาตัวก่อน

รักษาตัว เพื่อ เอาชีวิตรอด
เอาชีวิตรอด เพื่อ กลับมาเอาชัยชนะ

ในตำราพิชัยยุทธ
วิชาว่าด้วย การหนี จึงเป็นสุดยอดแห่งวิชา
กลยุทธการหนี ใช้เมื่ออยู่ในภาวะคับขันที่สุด
หนี เพื่อ รักษาตัว
รักษาตัว เพื่อ เอาชีวิตรอด
เอาชีวิตรอด เพื่อ กลับมาเอาชัยชนะ

จึงมิใช่ตะบี้ตะบันรักษาตัว
รักษาตัว ตั้งแต่ยังไม่เข้าสู่สนามรบ
รักษาตัว ทั้งที่ยังมิได้เริ่มต่อสู้
คนประเภทนี้ เรียกว่า ขี้ขลาด

เอาแต่แก้ตัว เอาตัวรอด ใส่ร้ายเพื่อนร่วมงาน
เอาดีใส่ตัว เอาชั่วใส่ผู้อื่น

ในการทำงาน ไม่มีถึงแก่ชีวิต
ในการทำงาน จึงไม่ต้องมัวแต่รักษาตัว




สามก๊ก อ่านสามจบ ยังคบได้

มีคำกล่าวล่ำลือถึงความเป็น สุดยอดตำราทางยุทธศาสตร์ ของ สามก๊ก ว่า อ่านสามจบคบไม่ได้  ฟังดูก็ไม่เชิงว่าจะเป็นการนิยมยกย่องสักเท่าไร เพราะเหตุที่คบไม่ได้ มิใช่ว่าจะเป็นคนเก่งกล้าสามารถ แต่หากจะเป็นคน เจ้าเล่ห์แสนกล ด้วยสามก๊กนั้นเต็มไปด้วยกลอุบาย หรือที่คบไม่ได้อาจเป็นเพราะ ท่าทางจะเป็นคนโง่เหลือกำลัง ที่ทนอ่านอยู่ได้ตั้งสามจบ

ผู้เขียนเองก็นับว่าอ่านสามก๊กมามากกว่าสามจบ ทั้งฉบับ เจ้าพระยาพระคลัง(หน) ฉบับ วรรณไว พัธโนทัย ฉบับ ยาขอบ และฉบับ มรว.คึกฤทธิ์ ปราโมช อ่านแล้วก็ลืม ลืมแล้วก็อ่าน อ่านทุกครั้งก็สนุกทุกครั้ง ไม่วิเคราะห์ไม่คิดมากให้เสียเวลา อ่านเอาสนุก อ่านเป็นนิยาย
ก็คนเขียนเขาเขียนเป็นนิยาย จะไปอ่านเอาสาระทำไมกัน หาก หลอกว้านจง ผู้ประพันธ์ รู้เข้าก็คงจะงุนงงเป็นยิ่งนักที่สามก๊กกลายเป็นตำราพิชัยสงคราม ตำราการบริหารเชิงยุทธศาสตร์ ไปได้
ผู้เขียนฟัง อาปา เล่าเรื่องสามก๊กให้ฟังมาตั้งแต่เด็ก ส่วนใหญ่เป็นเรื่องไหวพริบของตัวละครต่างๆในสามก๊ก ซึ่งก็เป็นเหตุทำให้ผู้เขียนสนใจอ่านสามก๊กเพื่อไปค้นหาข้อความที่อาปาเล่า ฉบับแรกที่อ่านก็เป็นฉบับ เจ้าพระยาพระคลัง(หน) เล่มใหญ่หนาที่บ้านอาโกว 
มานึกได้วันหนึ่งว่า น่าจะลองอ่านสามก๊กใหม่อีกสักหน คราวนี้จะลองอ่านแบบ อ่านเอาเรื่อง อ่านตรงที่คนอื่นเขาไม่อ่านกัน เพื่อยืนยันว่าอ่านอีกกี่จบก็น่าจะ ยังคบได้



ไม่มีความคิดเห็น: