วันเสาร์ที่ 3 พฤศจิกายน พ.ศ. 2555

ข้าวแดงแกงร้อน

๒๔

ธรรมดาเป็นบ่าวได้กินข้าวแดงของท่านแล้ว
ถ้ามิพอใจอยู่ด้วย แลจะซ้ำทำร้ายแก่นาย
ก็เป็นคนหากตัญญูมิได้


สามก๊ก เจ้าพระยาพระคลัง(หน) ตอนที่ 12



โจโฉอยากได้ตัวซิหลงไว้เป็นทหารจึงส่งหมันทองซึ่งคุ้นเคยกับซิหลงมาก่อน
ไปหว่านล้อมซิหลงให้ทิ้งเอียวฮองและหันเซียมไปอยู่กับโจโฉ 
หมันทองเกลี้ยกล่อมจนซิหลงยินยอม แล้วแนะนำให้ซิหลง
ตัดหัวเอียวฮองและหันเซียมไปกำนัลแก่โจโฉ
ซิหลงไม่ยินยอมด้วยรู้คุณข้าวแดงแกงร้อน

ในอดีตที่ผ่านมา เจ้านายที่มีลูกน้องไว้ทำงาน จะต้องเลี้ยงดูทั้งชีวิตความเป็นอยู่และอาหารการกิน

อาหารที่ให้ลูกน้องประเภท ขี้ข้า กินนั้นไม่ได้ดิบดีนัก ก็แค่ ข้าวแดงกับแกงร้อนๆ
แม้งานจะหนักนายจะโหดอย่างไร ทุกวันก็ยังมี ข้าวแดงกับแกงร้อนๆราดข้าวให้กินประทังชีวิต
ข้าวแดงแกงร้อน จึงเป็นสำนวนที่ขี้ข้าใช้แสดงความรู้สึกถึง บุญคุณ ของเจ้านาย

ปัจจุบัน สภาวะ และบริบทเปลี่ยนไป

เป็นการทำงานร่วมกัน ต่างพึ่งพาอาศัยกัน นายให้ลูกน้องบ้าง ลูกน้องให้นายบ้าง เป็นการทำแบบได้รับ ผลประโยชน์ต่างตอบแทน จึงต่างก็เป็น บุญคุณ แก่กันและกัน

เมื่อต่างก็มีบุญคุณ จึงต่างควรสำนึกถึงบุญคุณของผู้ให้ ไม่ว่าผู้ให้จะตั้งใจหรือไม่ก็ตาม ยามขัดข้องหมองใจเรื่องใด พึงระลึกว่าอย่างน้อยก็มีสิ่งดีๆที่เขาเคยให้ แม้ว่าจะน้อยนิดจนเทียบชดเชยกับความขัดข้องในปัจจุบันไม่ได้ แต่ขณะเมื่อก่อนหน้านั้น สิ่งที่ได้รับมาก็เป็นส่วนสำคัญในชีวิตเรา

คนไม่รู้จักกัน ศัตรูกัน ยังสามารถแผ่เมตตาให้ได้  นี่รู้จักกันมา ร่วมงานกันมา มีบุญคุณต่อกันมา จะฆ่ากันจนตายไปข้างหนึ่ง จึงไม่ควรกระทำ

หมายเหตุ
ยุคนี้เจ้านายไม่จำเป็นต้องเลี้ยงดูลูกน้อง ลูกน้องบางคนกลับต้องเลี้ยงดูเจ้านาย เอาใจนายสารพัดสารพัน
วันหลังลองหุงข้าวแดงเลี้ยงนายสักมื้อ เผื่อนายจะนึกถึงข้าวแดงแกงร้อนบ้าง


Note

สำนวน ฉบับภาษาอังกฤษของ C.H. Brewitt-Taylor ว่า
It is very wrong for a servant to slay his master.

สำนวน ฉบับแปลใหม่ของ วรรณไว พัธโนทัย ว่า
บ่าวที่ทำร้ายนายของตนเองย่อมเป็นคนอกตัญญูอย่างยิ่ง




สามก๊ก อ่านสามจบ ยังคบได้

มีคำกล่าวล่ำลือถึงความเป็น สุดยอดตำราทางยุทธศาสตร์ ของ สามก๊ก ว่า อ่านสามจบคบไม่ได้  ฟังดูก็ไม่เชิงว่าจะเป็นการนิยมยกย่องสักเท่าไร เพราะเหตุที่คบไม่ได้ มิใช่ว่าจะเป็นคนเก่งกล้าสามารถ แต่หากจะเป็นคน เจ้าเล่ห์แสนกล ด้วยสามก๊กนั้นเต็มไปด้วยกลอุบาย หรือที่คบไม่ได้อาจเป็นเพราะ ท่าทางจะเป็นคนโง่เหลือกำลัง ที่ทนอ่านอยู่ได้ตั้งสามจบ

ผู้เขียนเองก็นับว่าอ่านสามก๊กมามากกว่าสามจบ ทั้งฉบับ เจ้าพระยาพระคลัง(หน) ฉบับ วรรณไว พัธโนทัย ฉบับ ยาขอบ และฉบับ มรว.คึกฤทธิ์ ปราโมช อ่านแล้วก็ลืม ลืมแล้วก็อ่าน อ่านทุกครั้งก็สนุกทุกครั้ง ไม่วิเคราะห์ไม่คิดมากให้เสียเวลา อ่านเอาสนุก อ่านเป็นนิยาย
ก็คนเขียนเขาเขียนเป็นนิยาย จะไปอ่านเอาสาระทำไมกัน หาก หลอกว้านจง ผู้ประพันธ์ รู้เข้าก็คงจะงุนงงเป็นยิ่งนักที่สามก๊กกลายเป็นตำราพิชัยสงคราม ตำราการบริหารเชิงยุทธศาสตร์ ไปได้

ผู้เขียนฟัง อาปา เล่าเรื่องสามก๊กให้ฟังมาตั้งแต่เด็ก ส่วนใหญ่เป็นเรื่องไหวพริบของตัวละครต่างๆในสามก๊ก ซึ่งก็เป็นเหตุทำให้ผู้เขียนสนใจอ่านสามก๊กเพื่อไปค้นหาข้อความที่อาปาเล่า ฉบับแรกที่อ่านก็เป็นฉบับ เจ้าพระยาพระคลัง(หน) เล่มใหญ่หนาที่บ้านอาโกว 

มานึกได้วันหนึ่งว่า น่าจะลองอ่านสามก๊กใหม่อีกสักหน คราวนี้จะลองอ่านแบบ อ่านเอาเรื่อง อ่านตรงที่คนอื่นเขาไม่อ่านกัน เพื่อยืนยันว่าอ่านอีกกี่จบก็น่าจะ ยังคบได้



ไม่มีความคิดเห็น: