วันพฤหัสบดีที่ 26 กรกฎาคม พ.ศ. 2555

เสือไร้เขี้ยวนกไร้ปีก



อุปมาเหมือนเสือไม่มีเขี้ยวแลนกหาปีกมิได้


สามก๊ก เจ้าพระยาพระคลัง(หน) ตอนที่ 12

โจโฉยกทัพตีลิฉุยกุยกีแตกไป เอียวฮองและหันเซียมเกรงจะต้องตกอยู่ในเงื้อมมือของโจโฉ
วางแผนหนีไปอยู่เมืองไต้เหลียง โจโฉคิดให้ทหารตามไป
ตันเจี๋ยวจึงบอกโจโฉว่า เอียวฮองและหันเซียมนั้น ไม่มีอันใดน่ากลัว
แค่เสือไม่มีเขี้ยว แค่นกไม่มีปีก


เสือเป็นสัตว์กินเนื้อ จำต้องอาศัยเขี้ยวเล็บในการหาเลี้ยงชีพ หากถูกถอนเขี้ยว หรือขาดเขี้ยวไป ก็จะไม่สามารถหาและกินอาหารได้ นับวันจะขาดอาหาร ผ่ายผอม หมดเรี่ยวแรง สิ้นชีวิตไป
นกเป็นสัตว์ปีก ต้องใช้ปีกโบยบินหากินเป็นอิสระ หากถูกตัดปีก หรือเสียปีกไป ก็บินไม่ได้ แม้ยังเป็นนก ก็เป็นนกที่รอวันตาย
นักบริหาร เลี้ยงชีพด้วยความรู้ความสามารถของตน จึงต้องหมั่นฝึกฝนพัฒนาตน ต้องหมั่นเรียนรู้ให้ทันโลกที่เปลี่ยนแปลงไปอย่างรวดเร็ว หากขาดความรู้ความสามารถ ก็เป็นดั่งเสือไร้เขี้ยวนกไร้ปีก
อย่าให้ใครดูหมิ่นได้ว่าเป็นเสือไม่มีเขี้ยว เป็นนกไร้ปีก
และอย่าเผลอให้ใครถอนเขี้ยว ตัดปีก



Note

สำนวน ฉบับภาษาอังกฤษของ C.H. Brewitt-Taylor ว่า
Tigers without claws, birds without wings.

สำนวน ฉบับแปลใหม่ของ วรรณไว พัธโนทัย ว่า
เสือไม่มีเล็บ นกไม่มีปีก

สามก๊ก อ่านสามจบ ยังคบได้

มีคำกล่าวล่ำลือถึงความเป็น สุดยอดตำราทางยุทธศาสตร์ ของ สามก๊ก ว่า อ่านสามจบคบไม่ได้  ฟังดูก็ไม่เชิงว่าจะเป็นการนิยมยกย่องสักเท่าไร เพราะเหตุที่คบไม่ได้ มิใช่ว่าจะเป็นคนเก่งกล้าสามารถ แต่หากจะเป็นคน เจ้าเล่ห์แสนกล ด้วยสามก๊กนั้นเต็มไปด้วยกลอุบาย หรือที่คบไม่ได้อาจเป็นเพราะ ท่าทางจะเป็นคนโง่เหลือกำลัง ที่ทนอ่านอยู่ได้ตั้งสามจบ

ผู้เขียนเองก็นับว่าอ่านสามก๊กมามากกว่าสามจบ ทั้งฉบับ เจ้าพระยาพระคลัง(หน) ฉบับ วรรณไว พัธโนทัย ฉบับ ยาขอบ และฉบับ มรว.คึกฤทธิ์ ปราโมช อ่านแล้วก็ลืม ลืมแล้วก็อ่าน อ่านทุกครั้งก็สนุกทุกครั้ง ไม่วิเคราะห์ไม่คิดมากให้เสียเวลา อ่านเอาสนุก อ่านเป็นนิยาย
ก็คนเขียนเขาเขียนเป็นนิยาย จะไปอ่านเอาสาระทำไมกัน หาก หลอกว้านจง ผู้ประพันธ์ รู้เข้าก็คงจะงุนงงเป็นยิ่งนักที่สามก๊กกลายเป็นตำราพิชัยสงคราม ตำราการบริหารเชิงยุทธศาสตร์ ไปได้

ผู้เขียนฟัง อาปา เล่าเรื่องสามก๊กให้ฟังมาตั้งแต่เด็ก ส่วนใหญ่เป็นเรื่องไหวพริบของตัวละครต่างๆในสามก๊ก ซึ่งก็เป็นเหตุทำให้ผู้เขียนสนใจอ่านสามก๊กเพื่อไปค้นหาข้อความที่อาปาเล่า ฉบับแรกที่อ่านก็เป็นฉบับ เจ้าพระยาพระคลัง(หน) เล่มใหญ่หนาที่บ้านอาโกว 

มานึกได้วันหนึ่งว่า น่าจะลองอ่านสามก๊กใหม่อีกสักหน คราวนี้จะลองอ่านแบบ อ่านเอาเรื่อง อ่านตรงที่คนอื่นเขาไม่อ่านกัน เพื่อยืนยันว่าอ่านอีกกี่จบก็น่าจะ ยังคบได้



ไม่มีความคิดเห็น: