วันศุกร์ที่ 10 สิงหาคม พ.ศ. 2555

ที่มืด ที่สว่าง


อยู่ที่มืด จงเร่งคิดผ่อนผันไปหาที่สว่าง


สามก๊ก เจ้าพระยาพระคลัง(หน) ตอนที่ 12

หมันทองหว่านล้อมซิหลงให้ทิ้งเอียวฮองและหันเซียม
แล้วไปสวามิภักทำราชการกับโจโฉที่มีน้ำใจกว้างขวาง
เลี้ยงดูทหารด้วยน้ำใจเอื้ออารี ปกป้องผู้ใต้บังคับบัญชา
จะได้เจริญรุ่งเรืองต่อไป


เดินอยู่ในที่มืด ย่อมเสี่ยงต่อการตกหลุมตกท่อ
เสี่ยงต่อการล้มคว่ำคะมำหงาย
เสี่ยงต่อการบาดเจ็บร่างกาย

คนทำงาน มีทั้ง ทำถูก และ ทำผิด
ทำผิด มีทั้ง ไม่ตั้งใจ และ ตั้งใจ
ตั้งใจ มีทั้ง จำใจ และ จงใจ
คนที่ ไม่ตั้งใจ จำใจ จึงควรรีบหยุด
คนที่ ตั้งใจ จงใจ ยิ่งควรรีบหยุด

แปลก ที่บางคนก็ไม่ชอบ แสงสว่าง



Note



สำนวน ฉบับภาษาอังกฤษของ C.H. Brewitt-Taylor ว่า

Will you not leave darkness for light. 



สำนวน ฉบับแปลใหม่ของ วรรณไว พัธโนทัย ว่า

ขอท่านจงทิ้งที่มืดออกไปหาที่สว่าง

สามก๊ก อ่านสามจบ ยังคบได้

มีคำกล่าวล่ำลือถึงความเป็น สุดยอดตำราทางยุทธศาสตร์ ของ สามก๊ก ว่า อ่านสามจบคบไม่ได้  ฟังดูก็ไม่เชิงว่าจะเป็นการนิยมยกย่องสักเท่าไร เพราะเหตุที่คบไม่ได้ มิใช่ว่าจะเป็นคนเก่งกล้าสามารถ แต่หากจะเป็นคน เจ้าเล่ห์แสนกล ด้วยสามก๊กนั้นเต็มไปด้วยกลอุบาย หรือที่คบไม่ได้อาจเป็นเพราะ ท่าทางจะเป็นคนโง่เหลือกำลัง ที่ทนอ่านอยู่ได้ตั้งสามจบ

ผู้เขียนเองก็นับว่าอ่านสามก๊กมามากกว่าสามจบ ทั้งฉบับ เจ้าพระยาพระคลัง(หน) ฉบับ วรรณไว พัธโนทัย ฉบับ ยาขอบ และฉบับ มรว.คึกฤทธิ์ ปราโมช อ่านแล้วก็ลืม ลืมแล้วก็อ่าน อ่านทุกครั้งก็สนุกทุกครั้ง ไม่วิเคราะห์ไม่คิดมากให้เสียเวลา อ่านเอาสนุก อ่านเป็นนิยาย
ก็คนเขียนเขาเขียนเป็นนิยาย จะไปอ่านเอาสาระทำไมกัน หาก หลอกว้านจง ผู้ประพันธ์ รู้เข้าก็คงจะงุนงงเป็นยิ่งนักที่สามก๊กกลายเป็นตำราพิชัยสงคราม ตำราการบริหารเชิงยุทธศาสตร์ ไปได้

ผู้เขียนฟัง อาปา เล่าเรื่องสามก๊กให้ฟังมาตั้งแต่เด็ก ส่วนใหญ่เป็นเรื่องไหวพริบของตัวละครต่างๆในสามก๊ก ซึ่งก็เป็นเหตุทำให้ผู้เขียนสนใจอ่านสามก๊กเพื่อไปค้นหาข้อความที่อาปาเล่า ฉบับแรกที่อ่านก็เป็นฉบับ เจ้าพระยาพระคลัง(หน) เล่มใหญ่หนาที่บ้านอาโกว 

มานึกได้วันหนึ่งว่า น่าจะลองอ่านสามก๊กใหม่อีกสักหน คราวนี้จะลองอ่านแบบ อ่านเอาเรื่อง อ่านตรงที่คนอื่นเขาไม่อ่านกัน เพื่อยืนยันว่าอ่านอีกกี่จบก็น่าจะ ยังคบได้




ไม่มีความคิดเห็น: