วันพุธที่ 31 ธันวาคม พ.ศ. 2551

หนูจะมีผัวฝรั่ง


หนองบัวลำภูได้ชื่อว่าเป็นจังหวัดที่มี เขยฝรั่ง อยู่ไม่น้อย ซึ่งเป็นไปตาม trend ของคนในกลุ่มจังหวัดที่ 6.1 (อุดรธานี หนองคาย เลย หนองบัวลำภู) ที่มี วิสัยทัศน์ (อันเป็นที่สงสัยถึงที่มาอยู่) ว่า แหล่งพำนักแห่งที่สอง ของนักลงทุนและนักท่องเที่ยว (The land of your second home) ดูเหมือนจะยินดีต้อนรับ เขยฝรั่ง เป็นเรื่องเป็นราวเหลือเกิน (นัยว่าเป็นการกระตุ้นเศรษฐกิจของกลุ่มจังหวัดที่ชัดเจนที่สุด)

มีหมู่บ้านแห่งหนึ่งในหนองบัว ได้รับการขนานนามว่า หมู่บ้านนานาชาติ เนื่องมาจากมี เขยฝรั่งจากต่างชาติต่างภาษา ฝรั่งเหล่านี้ มาใช้ชีวิตแบบคนไทย เข้าร่วมกิจกรรมตามวัฒนธรรมและประเพณีตามท้องถิ่นที่อาศัยอยู่ คนหนองบัวเห็นฝรั่งเดินซื้อของในตลาด เห็นฝรั่งตามงานวัด เห็นฝรั่งปะปนอยู่ในสังคมทั่วไป จนเป็นวิถีชีวิตธรรมดา 

อาจารย์ท่านหนึ่งจากสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาหนองบัวลำภูเขต 1 สอบถามเด็กนักเรียนหญิง ในโรงเรียนซึ่งตั้งอยู่ใน หมู่บ้านนานาชาติ ว่า เมื่อเรียนจบแล้วจะไปรียนอะไรต่อ 

ได้รับคำตอบชัดเจนว่า หนูจะไปทำงานที่พัทยา (แปลความได้ว่า หนูจะมีผัวฝรั่ง)

นี่คือค่านิยมของเด็กสาวส่วนหนึ่งในหนองบัวลำภูที่สังคมต้อง concern 

หรือจะปล่อยให้เป็นไป เพราะเห็นว่า สเปก (specification) ของเขยฝรั่งเหล่านั้น ไม่ขัดแย้งกับชายไทยเรา อิ อิ

[โพสต์ครั้งแรก ที่ Lanhinlad Lanpanya 31 Dec 2008]

วันจันทร์ที่ 22 ธันวาคม พ.ศ. 2551

เจ้านายมีหลายเบอร์


โทรศัพท์มือถือ แม้เป็นสิ่งอำนวยความสะดวกที่ไม่อาจขาดได้

แต่ก็เป็นสิ่งที่ รบกวน ความเป็นส่วนตัวอย่างยิ่ง ไม่ว่าเราจะอยู่ที่ไหน ทำอะไร ก็ตามมารบกวนได้ถึงที่

ที่ร้ายกว่านั้น สำหรับหลายท่าน ก็คือ คนที่บ้าน ชอบ scan ว่า  ใครโทรมาถึงบ้างในแต่ละวัน

ผู้เขียนมีเคล็ดลับแนะนำ ไม่สงวนลิขสิทธิ์ (ขอยกความดี ให้กับ คุณสะไกร แก้วโสม สาธารณสุขอำเภอเมือง จังหวัดหนองบัวลำภู เจ้าของผลงานครับ)

คือ ให้ท่าน memory ชื่อ กิ๊ก ของท่านเป็นชื่อ เจ้านาย ซะ แล้วก็ใส่เลขกำกับไปตามจำนวนที่ต้องการ

เช่น สมมุติเจ้านายชื่อ สุธี 
ก็ บันทึกชื่อเจ้านายพร้อมเบอร์เป็น สุธี 1
หลังจากนั้นก็เป็นเบอร์กิ๊กทั้งหลายเป็น สุธี 2  ,  สุธี 3  , สุธี 4  

คราวนี้ก็สบาย ไม่ว่า น้องนก น้องหนู น้องแมว โทรมา ก็ขึ้นชื่อเจ้านายหมด  

คนที่บ้านก็ไม่สงสัย เพราะ เจ้านายมีหลายเบอร์ 

ว่าแต่จำรหัสให้ดีๆแล้วกัน เดี๋ยวกิ๊กชนกัน

[โพสต์ครั้งแรก ที่ Lanhinlad Lanpanya 22 Dec 2008]

วันพฤหัสบดีที่ 18 ธันวาคม พ.ศ. 2551

ลมโตนภู


…….ฝาก ลมโตนภู   ลอยไปสู่เมือง กทม.
เอิ้นใจอ้ายมาสานต่อ        ฮักที่รอกับสาวแพรวา..
(เพลง แพรวาสัญญารัก  ต่าย อรทัย)

มาอยู่ หนองบัวลำภู อาาศปีนี้ หนาวอย่าบอกใคร
วันเสาร์อาทิตย์กลับบ้าน มีคนหนองบัวถามว่า พิษณุโลกหนาวใหม
ตอบอย่างมั่นอกมั่นใจว่า พิษณุโลกไม่หนาว แต่อยู่ที่หนองบัว(นอนคนเดียว)หนาวจริงๆ

ที่หนองบัวหนาวแบบเมืองภูเขา หลายคนบอกว่าปีนี้หนาวกว่าปีก่อนๆ(ยังดีที่ไม่บอกว่า ปีนี้หนาวเพราะผู้เขียน ที่ย้ายมาอยู่ด้วย)

นอกจากหนาวเพราะอุณหภูมิที่ลดลงแล้ว ยังหนาวเพราะลมอีกด้วย
ลมที่คนหนองบัวเรียกว่า ลมโตนภู (ลมเดียวกับที่ต่าย อรทัย ฝากให้ไปบอกคนกทม.ในเพลง แพรวาสัญญารัก)

ลมโตนภูที่หนองบัวลำภูพัดแรงมาก เมื่อได้เจอใหม่ๆเข้าใจว่าเป็นลมพายุ

ผู้รู้ที่นี่บอกว่า คำว่า โตน เป็นภาษาอีสาน แปลว่า กระโดด หรือ กระโจน


ลมโตนภู ก็คือ ลมที่กระโจนลงมาจากภูเขา


เมื่อลอง search หาข้อมูลก็พบแต่ เนื้อเพลงข้างต้น เลยลองหาข้อมูลที่เกี่ยวกับลมและภูเขา เข้าใจว่า
(ผิดถูกต้องรอผู้รู้มาท้วงติง นะครับ)


ลมภูเขา(Mountain Wind) คือลมที่พัดลงมาตามทางลาดชันของภูเขาลงสู่หุบเขา เกิดในเวลากลางคืน
เนื่องจากอากาศบนยอดเขาจะเย็นลงเร็วกว่าหุบเขา อากาศเย็นจึงไหลลงสู่หุบเขา

ตรงกันข้าม ในเวลากลางวัน ยอดเขาได้รับความร้อนจากแสงอาทิตย์จึงร้อนกว่าหุบเขา

อากาศเย็นจึงไหลขึ้นยอดเขา เกิดกระแสลมที่เรียกว่า ลมหุบเขา(Valley Wind)

ลมภูเขา จะแรงกว่า ลมหุบเขา และในช่วงฤดูหนาว ลมภูเขาจะแรงกว่าปกติ(ตรงกับที่ผู้เขียนรู้สึกได้ตอนดึกๆ)
(ข้อมูลจาก สารานุกรมไทยฉบับเยาวชนฯ ฉบับที่ 4 http://www.kanchanapisek.or.th)

ลมภูเขาและลมหุบเขา อาจก่อให้เกิดกระแสลมที่ผันผวน เป็นอันตรายต่อเครื่องบินเล็กได้
(ข้อมูลจาก สัมพันธ์ ไทยเครือวัลย์ http://mhsmet.110mb.com/data/TMD_KM/article-0030.doc)

รวมถึงท่านที่จะกางเต๊นท์นอนบนเขา ก็ควรจะดูทิศทางลมให้ดีด้วยครับ 
ลมภูเขา (ภาพจาก http://www.kanchanapisek.or.th)

ลมหุบเขา (ภาพจาก http://www.kanchanapisek.or.th)

ลมโตนภู ก็คือ ลมภูเขา(Mountain Wind)สำหรับสาเหตุของ ลมโตนภู ในมืองหนองบัวที่มักพัดแรงในตอนเช้า ผู้เขียนเข้าใจเองว่า น่าจะเกิดจาก 2 สาเหตุ คือการใช้พลังงานของชาวเมืองที่ทำให้อุณหภูมิสูงขึ้นอย่างมาก และ การที่มีหนองน้ำขนาดใหญ่อยู่กลางเมือง ทำให้อากาศเปลี่ยนแปลงไปอย่างรวดเร็ว(คล้าย ลมบกลมทะเล)


 หนองบัวยามเย็น

[โพสต์ครั้งแรก ที่ Lanhinlad Lanpanya 18 Dec 2008]

ทำไมต้องหินลาด



สวัสดีครับทุกท่าน


ยินดีต้อนรับสู่ ลานหินลาด ครับ

เมื่อมาแล้วก็ต้องขอแนะนำตัวต่อเจ้าที่เจ้าทางทุกท่านก่อน ว่าผู้เขียนเป็นใครมาจากไหน แล้วทำไมต้องเป็น ลานหินลาด
ความจริงก็ไม่ใช่คนใหม่ แต่ก็ไม่ใช่คนเก่าที่คุ้นเคย อาจเคยพบปะกันมาบ้างตามกระแสอินเตอร์เน็ต ที่สำคัญน่าจะเป็นคำชักชวนแกมบังคับมาจาก จอมป่วน ให้แวะเวียนมาที่นี่บ้าง(บอกมาหลายเดือน จนเข้าใจว่าแม้จอมป่วนก็ลืมเลือนไปแล้ว ตามประสาผู้มีอายุ)
เหตุบังเอิญทำให้ผู้เขียนต้องเดินทางไปปฏิบัตืราชการที่ จังหวัดหนองบัวลำภู อันเป็นที่มาของชื่อ ลานหินลาด 
หินลาด มาจาก ภูที่เป็นแหล่งท่องเที่ยวแห่งหนึ่งของจังหวัดหนองบัวลำภู ชื่อเต็มว่า ภูหินลาดช่อฟ้า 
ตั้งอยู่บริเวณเทือกเขา ภูพานคำ ตำบลโนนทัน อำเภอเมือง จังหวัดหนองบัวลำภู เป็นผืนป่าที่ยังคงความอุดมสมบูรณ์ มีลานหินแตก และหินรูปร่างแปลกตาคล้ายช่อฟ้า อันเป็นที่มาของชื่อ หินลาดช่อฟ้า
ในห้วงเวลาหนึ่งของการต่อสู้ทางการเมือง ภูหินลาดช่อฟ้า เป็นสถานที่พำนักของกลุ่มคนที่เรียกตนเองว่าเป็น นักปฏิวัติ ผู้แสวงหาแนวทางแก้ไขการกดขี่ทางชนชั้นในสังคม (ผู้เขียนแม้ยังมิได้ไปสัมผัสบรรยากาศ แต่ได้มีโอกาสพบปะ สหายหมอ ที่บรรยายเส้นทางเดินจากหนองบัวลำภูสู่ ลาว เวียดนาม และจีน เพื่อเรียนรู้อุดมการณ์อันยิ่งใหญ่ อย่านึกว่าความคิดเห็นทางอุดมการณ์เหล่านั้นจะหายไป มันก็เพียงจางลง รอวันที่จะเข้มข้นขึ้น หากสังคมถดถอย สหายเฒ่าท่านนั้นรับปากที่จะนำผู้เขียนไปพบปะกับเหตุการณ์ในอดีต หากเวลาเหมาะสมคงได้ ปัญญา มาแลกเปลี่ยน)

เมื่อยังไม่เคยไปสัมผัสสถานที่จริง ด้วยผู้ร่วมงาน ขู่ว่าต้องหา 4 WD จึงจะไปรอด จึงต้องแอบนำภาพเด็ดๆมาจากที่อื่น เพื่อยืนยันบรรยากาศ (แต่สำหรับผู้นิยมจักรยาน อาจสะดวกและได้รสชาติมากกว่า ไม่แน่ว่า จอมป่วน อาจเคยผ่านเส้นทาง หากท่านใดเคยแวะเยี่ยมชม อย่ารีรอที่จะให้ข้อมูลเพิ่มเติม)




( ภาพจาก www.homestaysiam.page.tl )


หมายเหตุ หนองบัวลำภู จังหวัดที่ไม่ค่อยจะมีใครรู้จัก รองผู้ว่าราชการจังหวัด (นายอารยะ จิตรบรรจง) เล่าว่า เพื่อนฝูงมักทักว่า ไปอยู่ที่ อำนาจเจริญ เป็นอย่างไรบ้าง หัวหน้าส่วนราชการหลายคน คุยกันว่าได้รับคำถามเหมือนๆกัน ทุกวันนี้ผู้เขียนเองก็ยังได้รับคำถามเช่นนี้อยู่เช่นกัน


ด้วย ลานปัญญา เป็นลานใหม่สำหรับผู้เขียน สารภาพว่าใช้ไม่ค่อยจะคล่องนัก ในที่สุดก็ยังหาที่บอกตัวตนไม่ได้ 555


[โพสต์ครั้งแรก ที่ Lanhinlad Lanpanya 18 Dec 2008]




วันพฤหัสบดีที่ 4 ธันวาคม พ.ศ. 2551

วิชาการ D D

ผู้เขียนได้มีโอกาสคุยกับ คุณสังคม ศุภรัตนกุล นักวิชาการสาธารณสุข 7  สำนักงานสาธารณสุขจังหวัดหนองบัวลำภู หลายครั้ง หลายท่านบอกผู้เขียนว่า คุยกับ สังคม (ซึ่งขณะนี้กำลังศึกษาต่อในระดับปริญญาเอก)ไม่ค่อยรู้เรื่อง  แต่ผู้เขียนกลับเห็นแตกต่าง ที่ได้แนวคิดที่น่าสนใจหลายเรื่อง เมื่อได้แนวคิด ก็ย่อมเกิดแนวทาง 

แนวคิดหนึ่งคือ การรวบรวมผลงานทางวิชาการของข้าราชการในองค์กรไว้เป็นที่เป็นทาง เพื่อเป็นแหล่งสืบค้นทางวิชาการ

ผู้เขียนจึงเห็นแนวทางว่า  ในผลงานวิชาการของข้าราชการ ที่จะจัดทำเพื่อวัตถุประสงค์ใดก็ตาม ย่อมมีส่วนที่เป็นองค์ความรู้ (Knowledge) อยู่ไม่น้อย ทั้งความรู้ในเชิงกว้าง ลึก และ ยาว  หากเราลองค้น D D 

การค้น D D จึงประกอบด้วย

D   Dig คือ ต้องมีการพยายาม ขุด ค้นหา องค์ความรู้ จากผลงานทางวิชาการเหล่านั้น เหมือนการขุดหา สินแร่ ที่มีอยู่ในแผ่นดิน สินแร่เหล่านั้นอาจรวมกันอยู่เป็นสายแร่ที่ชัดเจน หรือ กระจัดกระจายทั่วๆไป ทีมขุดค้นต้องใช้ความพยายามที่จะ ขุด แล้ว ร่อน จึงจะได้มาซึ่งสินแร่อันมีค่า

D   Digest เมื่อได้ขุดเอาความรู้มาจากนั้นมาได้แล้ว ต้องทำการ ย่อย ให้ได้ องค์ความรู้ ที่สามารถนำไปใช้ เหมือนสินแร่ที่ได้มา ต้องนำไป ถลุง จนได้แร่ที่บริสุทธิ์ นำไปใช้ประโยชน์ต่อไป

หาจะมีทีมงานสักหนึ่งทีม นำผลงานทางวิชาการที่กองไว้อย่างไร้ค่า นำมา Dig & Digest ให้ได้เนื้อขององค์ความรู้สักหนึ่งบรรทัด เราอาจได้สิ่งที่เป็นประโยชน์อันไม่คาดแก่มวลมนุษย์ 

ทำ D D จะได้สิ่งที่ ดี ดี

วันเสาร์ที่ 29 พฤศจิกายน พ.ศ. 2551

ร้องเพลง



บางคน ร้องเพราะ
บางคน ร้องไม่เพราะ
บางคน ร้องผิดคีย์
บางคน ร้องเสียงหลง


คนฟังจะเป็นอย่างไรไม่รู้

แต่คนร้องมีความสุข

เหมือนเจ้านายสั่งงานจังเลย

[โพสต์ครั้งแรกที่ My Idea Gotoknow 29 พฤศจิกายน 2551 09:59]

วันศุกร์ที่ 28 พฤศจิกายน พ.ศ. 2551

ละเมอถึงวันที่จากไป


ผู้เขียนยังไม่ได้คิดที่จะจากที่นี่ไป

แต่ก็มีเหตุให้ต้องคิดล่วงหน้าไปถึงวันที่ยังมาไม่ถึง

ว่าหากต้องการพูดอะไรซึ้งๆ ในวันนั้น ถึงความภาคภูมิใจถึงผลงาน

ผู้เขียนก็อยากบอกถึงผลงานที่ผู้เขียนภาคภูมิใจมากที่สุดสำหรับการทำงานที่นี่ คือ

ผลงานที่เกิดขึ้น ได้ผลดี และยั่งยืนนั้น เกิดจาก ทุกท่านที่นี่ เป็นผูัคิด เป็นผู้ทำ

ผู้เขียนเป็นเพียงแค่ Amplifier เท่านั้นเอง

ละเมอล่วงหน้านานเหลือเกินนะ


[โพสต์ครั้งแรก ที่ นอนละเมอที่หนองบัว 28-11-2008]

วันพุธที่ 19 พฤศจิกายน พ.ศ. 2551

ผิดฝา ผิดตัว


เรื่องที่หนักใจผู้เขียนอย่างหนึ่งขณะนี้คือ ที่นี่มี คนเก่ง เยอะ แต่อะไรไม่ทราบได้ ทำให้เกิดภาวะที่ไม่ Put the right man on the right job (แต่คงไม่ถึงขนาด Put the Wrong man on the right job)

หากให้คำจำกัดความก็คงจะเป็นเพียงแค่ ผิดฝา ผิดตัว งานที่จึงไม่เคลื่อนไปตามที่ควร

เมื่อมันไม่เข้าชุดกัน แล้วทำไม ไม่จับฝาสลับให้ตรงตัว

ที่ยากก็เพราะ แม้มันปิดได้จริงแต่ก็ไม่แนบสนิท ฝาก็เลยสำคัญผิดว่า ตนถูกกับตัวแล้ว

ที่ยากก็เพราะ มันผิดฝาผิดตัว อยู่หลายชุด

สงสัยต้องแอบจับสลับตอน ละเมอ
[โพสต์ครั้งแแรก ที่ นอนละเมอที่หนองบัว 19-11-2008]

วันศุกร์ที่ 31 ตุลาคม พ.ศ. 2551

Risk Management VS SRRT

เราต้องยอมรับความจริงว่าสังคมเปลี่ยนแปลงไปมาก การให้บริการสุขภาพ ที่หมอเป็นเทวดา เป็นพ่อพระแม่พระ เปลี่ยนไปเป็น หมอคือผู้ขายบริการ ผู้ป่วยคือลูกค้า คือผู้ซื้อบริการ เราจึงหลีกหนีไม่พ้นเรื่องของการ ร้องทุกข์ ร้องเรียน หรือฟ้องร้อง ตามกระบวนการ คุ้มครองผู้บริโภค

เมื่อหนีไม่พ้น หลบไม่ได้ เราจำเป็นต้องอยู่กับสังคม ด้วยการยอมรับสภาพทางสังคม และ เตรียมรับกับสิ่งที่จะเกิดขึ้น ด้วยความพร้อม มากกว่าที่จะรอให้เกิดปัญหาจึงแก้ไข เรียกว่า Risk Management

แล้วเราจะทำอย่างไร

ผู้เขียนเสนอว่า เมื่อเราเป็นนักการสาธารณสุข เราก็ใช้กระบวนการทางการสาธารณสุขนี่แหละมาจัดการกับปัญหาต่างๆ ผู้เขียนเสนอให้เราใช้วิธีการป้องกันปัญหาการร้องเรียนนี้ ด้วยวิธีการป้องกันทางระบาดวิทยา คือ

Primary Prevention การป้องกันระดับปฐมภูมิ เป็นการป้องกันก่อนเกิดเหตุ ก่อนมีการร้องเรียน ก่อนมีความไม่พึงพอใจของผู้รับบริการ เราในฐานะผู้ให้บริการ ต้องดำเนินการประเมินว่า จะมีปัจจัยอะไรบ้างที่เป็นสาเหตุแห่งความไม่พึงพอใจของลูกค้า พึงระลึกเสมอว่า ลูกค้าไม่ใช่พระเจ้า แต่ ลูกค้าคือปีศาจ ( http://buabangbai.blogspot.com/2007/01/blog-post.html )

คดีความทั้งหลายของกระทรวงสาธารณสุข มากกว่าร้อยละ ๙๐ มาจากการพูดจา ที่ผู้ให้บริการ คิดว่า พูดด้วยความหวังดี จริงใจ แต่อาจจะ ไม่ถูกใจผู้ฟัง ที่กำลังมีความทุกข์ร้อนแสนสาหัส (ในความรู้สึกของผู้รับบริการ) ซึ่งย่อมไม่คำนึงว่า ผู้ให้บริการจะมีความทุกข์ใดๆอยู่บ้างหรือไม่

อะไรที่ท่านให้บริการไม่ได้ หรือได้ไม่ดีพอ ควรปรึกษาหรือส่งต่อ ส่งไปเร็วก็โดนหน่วยบริการถัดไปว่าเอา ก็ดีกว่าให้เขาบอกว่า ส่งมาช้าไป

เมื่อผู้รับบริการร้องขอไปใช้บริการที่อื่น พึงคิดหลายตลบ ว่า เสี่ยงสูงต่อการถูกร้องเรียน เดินเข้ามาแล้ว อย่าลืมว่า ไม่มีอะไรร้อยเปอร์เซ็นต์ในการรักษาโรค malingering with death ยังมีมาแล้ว

ทีมไกล่เกลี่ย มักเริ่มปฏิบัติการ เมื่อเกิดเหตุแล้ว ควรปรับกระบวนการมาทำ Primary Prevention โดยด่วน

Secondary Prevention การป้องกันระดับทุติยภูมิ คือการป้องกันเมื่อมีปัญหาเกิดขึ้นแล้ว ต้องยึดหลักการ Early Detection and Promp Treatment ค้นพบปัญหาให้ได้เร็วที่สุด แล้วจัดการให้ปัญหานั้นจบลงให้ได้เร็วที่สุด

SRRT(Surveillance and Rapid Response Team) จึงเข้ามามีความหมายที่นี่ เพราะ SRRT เป็นทีมทำงานเชิงระบาดวิทยาที่ต้อง Surveillance คือการเฝ้าระวัง ว่าเริ่มมีสัญญาณของปัญหามาหรือยัง การเฝ้าระวังนี้ต้องมีเครือข่ายของ ทีม ที่กว้างขวาง ไม่เพียงเฉพาะทีมที่ถูกกำหนดให้รับผิดชอบเป็นทีมไกล่เกลี่ย แต่ต้องเป็นทีมที่ประกอบด้วยทุกคนในองค์กร ซึ่งอาจต้องสร้างเครือข่ายไปยังหน่ยวบริการข้างเคียง หน่วยบริการที่ต่ำกว่า และหน่วยบริการที่เหนือกว่า รวมถึงเครือข่ายอื่นๆ ทีมงานจะต้องถูกฝึกให้เป็นคนที่รับรู้ต่อสัญญาณ แม้จะมีเพียงเล็กน้อย อาจไม่ specificity สูง แต่ต้อง sensitivity สูง

ต้องเป็นทีมที่ Rapid Response คือต้องไม่รีรอว่า คงไม่มีอะไรมั้ง

หากเปรียบเทียบกับผู้ป่วยสงสัยไข้หวัดนก เมื่อมี Suspected case ต้องรีบไปเอาตัวมา Investigate ทันที มี Suspected case มากหน่อยก็ดีกว่าปล่อยให้มี Probable case มาก เพราะนั่นหมายถึงโอกาสของ Confirm case ย่อมมากขึ้น

Tertiary Prevention การป้องกันระดับตติยภูมิ คือมีกรณีร้องเรียนหรือฟ้องร้องกันในศาลแล้ว เมื่อถึงขั้นนี้ อย่าชะล่าใจคิดว่า ไม่เป็นไร คงไม่โดนศาลตัดสินในทางเลวร้าย ถึงขั้นตอนนี้ ต้อง รู้รักษาตัวรอดเป็นยอดดี อาจเสียศักดิ์ศรีอยู่บ้าง แต่ต้องไม่ยอมติดคุกเด็ดขาด



วันอังคารที่ 21 ตุลาคม พ.ศ. 2551

มาเร็ว เคลมเร็ว


PRISS คือ สิ่งที่ผู้เขียนคิดว่า แม้ไม่ใช่ของใหม่ แต่ควรจะทำความพึงพอใจให้กับผู้ทำงานมากกว่าการสั่งงาน แต่การพยายามใช้ PRISS ต้องอาศัย เวลา ที่จะให้ทุกคนได้คิดทบทวนและค่อยๆหาแนวทางที่เหมาะสม ซึ่งก็เป็นการ ปรับเปลี่ยนพฤติกรรมการทำงาน ที่แม้ผู้เขียนเองจะมีความเชื่อมาโดยตลอดว่า ต้องใช้ทั้ง 3 กลวิธี คือ บังคับ เลียนแบบ และ เรียนรู้ หากตนเองก็ยังปฏิบัติที่ขัดแย้งกับความเชื่อของตนเองอยู่


เมื่อ นพ.ธวัชชัย กมลธรรม สาธารณสุขนิเทศ เขต 17 ย้ายมาดำรงตำแหน่งนายแพทย์สาธารณสุขจังหวัดพิษณุโลกใหม่ๆ ได้ใช้คำพูดว่า เก่งไม่กลัว กลัวช้า ผู้เขียนเองก็ไม่ค่อยพึงใจเท่าไร ด้วยรู้สึกว่าโดนเย้ยหยันอย่างไรชอบกล แต่เมื่อมาอยู่ที่นี่เข้าเดือนที่สาม ก็เห็นว่าหลายอย่างที่ ขาย ออกไปดูออกจะช้าไปสักหน่อยจริงๆ ในยุค IT อย่างนี้

สัญญานที่ส่งออกไป อาจไม่ชัดเจนเพียงพอ หรือไม่แรงพอ ที่จะส่งผลให้ผู้รับสัญญานเกิดความเข้าใจว่า ต้องการการปรับเปลี่ยนอย่างจริงจัง

แต่ผู้เขียนก็ยังคงอยากทดลอง PRISS อยู่
ก็เลยต้องมา ละเมอ อยู่นี่ไง

[โพสต์ครั้งแรก ที่ นอนละเมอที่หนองบัว 21-10-2008]

วันเสาร์ที่ 18 ตุลาคม พ.ศ. 2551

นอนละเมอที่หนองบัว



บางครั้งมนุษย์เราไม่สามารถพูดทุกอย่างที่คิดได้
การละเมอ จึงอาจเป็นหนทางหนึ่งของมนุษย์
ที่จะปลดปล่อยความเครียดสะสมออกไปได้
การฟังเสียงคนละเมอ จึงอาจล่วงรู้ความในใจที่ปกปิดของคน คนละเมอ


เมื่อเราได้ยินใครสักคนละเมอ เขาว่าหากต้องการพูดคุยด้วยให้หันหลังให้ ก็จะสามารถโต้ตอบกันได้


เมื่อมานอนละเมอที่หนองบัว ผู้อ่านจึงอาจโต้ตอบได้เช่นกัน เพราะอย่างไรก็ไม่เห็นหน้า

หากมีความคิดเห็น ขออย่ารั้งรอ ที่จะแสดงความคิดเห็น ใน ความคิดเห็น

ท่านจึงมีทางเลือก ที่จะปลุกให้ตื่น หรือจะปล่อยให้นอนละเมอต่อไป

นี่เป็นข้อตกลงก่อนนอน ก่อนที่จะละเมอ


[โพสต์ครั้งแรก ที่ นอนละเมอที่หนองบัว 18-10-2008]


วันพุธที่ 3 กันยายน พ.ศ. 2551

P R I S S

การแก้ไขปัญหาสุขภาพของประชาชน  จะสำเร็จได้จาก การมีส่วนร่วมของผู้มีส่วนเกี่ยวข้อง (Participatory) ที่มีค่านิยมร่วมในการมุ่งผลสัมฤทธิ์ (Result Based Management Value) และการบูรณาการ (Integration)  กระบวนการบริหาร   วิชาการ   ตลอดจนเทคโนโลยีสารสนเทศ บนพื้นฐานของการจัดการระบบที่ดี (Systemic Management) และสอดคล้องกับวิถีชีวิตของชุมชน (Style of Life)  [P R I S S]
                ปัญหาด้านสุขภาพ เป็นปัญหาที่เกิดจากปัจจัยหลายปัจจัย การแก้ไขปัญหาด้านสุขภาพจึงไม่อาจใช้เพียงเจ้าหน้าที่สาธารณสุข หากต้องเกิดจากการ ร่วมคิด  ร่วมวางแผน แล ะร่วมแก้ไข ตลอดจน ร่วมประเมิน จากผู้มีส่วนเกี่ยวข้องทั้งหมดอย่างจริงจัง จึงจะสำเร็จได้
                ในอดีตที่ผ่านมา แนวความคิดด้านการบูรณาการได้ถูกยกนำมาเป็นแนวทางโดยตลอด แต่เนื่องด้วย ไม่สามารถบริหารจัดการให้ ผู้มีส่วนเกี่ยวข้องทั้งหมด ได้เข้ามามีส่วนร่วม หรือแม้แต่จะรู้บทบาทตนเองว่าเป็นผู้มีส่วนเกี่ยวข้อง การจัดการในการมีส่วนร่วม จึงเป็นเรื่องสำคัญที่ต้องสามารถทำให้องค์กรต่างๆตลอดจนประชาชน มีค่านิยมร่วมกัน ที่จะมุ่งไปสู่ผลสัมฤทธิ์ของการมีสุขภาพดี โดยไม่ยึดติดกับกระบวนการ ไม่ยึดติดกับแนวคิดว่า หน้าที่ในการดูแลสุขภาพเป็นของหน่วยงานสาธารณสุขเท่านั้น
หากสามารถบูรณาการปัญหาต่างๆของประชาชน  ไม่แก้ปัญหาแบบแยกส่วน และบูรณาการหน่วยงานองค์กร ภาครัฐ เอกชน องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ฯลฯ  ทั้งในด้านงบประมาณและทรัพยากร เพื่อมาวิเคราะห์ปัญหาร่วมกัน ความเกี่ยวโยงของปัญหาที่อาจเป็นสาเหตุของกันและกัน(เช่น จน โง่ เจ็บ) โดยใช้กระบวนการบริหาร วิชาการ ตลอดจนเทคโนโลยีสารสนเทศ มาดำเนินการ บนพื้นฐานของการจัดการระบบที่ดี เราก็จะสามารถแก้ไขปัญหาที่เป็นปัญหาพื้นฐานของสังคมได้อย่างเป็นระบบและยั่งยืน
 แนวทางในการดำเนินการเพื่อบรรลุแนวคิดดังกล่าวข้างต้น จึงควรต้อง
                1. พัฒนาแนวความคิด และค่านิยมร่วม  ในการแก้ไขปัญหา  โดยยึดการมุ่งผลสัมฤทธิ์  ไม่ยึดติดกับกระบวนการและกรอบเดิม
                2. ปรับปรุงพัฒนาระบบเครือข่ายเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร ตลอดจนการนำมา  ใช้ในกระบวนการบริหารและวิชาการ
3. เน้นการทำงานแบบมีส่วนร่วม ทั้งผู้บริหาร ผู้ปฏิบัติการ ประชาชน ทุกภาคส่วนที่มีส่วนเกี่ยวข้อง ในแต่ละสภาพปัญหา ให้สอดคล้องกับวิถีชีวิตของประชาชน ตลอดจนวิถีชีวิตของู้ปฏิบัติงาน
4. เชื่อมโยงการปฏิบัติงานให้สอดคล้องกับแนวนโยบายรัฐบาล และผู้บริหารระดับสูงของกระทรวงสาธารณสุข   นำนโยบายสู่การปฏิบัติ  นำภารกิจด้านสาธารณสุขเข้าสู่กระบวนการบริหารของจังหวัดโดยมีผู้ว่าราชการจังหวัดเป็นผู้นำ อย่างเป็นระบบ  ปรับทัศนคติให้ทุกภาคส่วนเข้าใจในภาระหน้าที่ร่วมกัน  และเห็นชัดเจนถึงบทบาทของทุกคน  ที่ต้องร่วมมือกัน จึงจะสามารถผลักดันงานทุกงานไปสู่ผลสำเร็จได้
5. เน้นการใช้วิชาการ ร่วมในการบริหารจัดการอย่างเป็นระบบ
ใครจะเริ่มก่อนดีครับ



วันอาทิตย์ที่ 31 สิงหาคม พ.ศ. 2551

จับฉ่าย


ทำไมต้องบัว แล้วบัวทำไมต้องบังใบ
จาก Blog Waiting for C&D เพื่อรอวันที่มีใครสักคน Copy & Develop

เมื่อกลับมาทบทวน ก็พบว่า ผู้อ่านหลายท่าน ก็คงจะ ไม่กระจ่างชัดนัก
(ด้วยเป็นเพียงแนวคิด ที่ต้องการนำไปพัฒนา)

เมื่อต้องย้ายถิ่นฐานที่พำนัก จาก พิษณุโลก ไป หนองบัวลำภูที่อยู่ทางอิเล็กทรอนิกส์ก็ขัดๆเขินๆ

จึงขอเปลี่ยนใหม่ทั้งหมด อดไม่ได้ ขออ้าง บัว พอครึ้มใจ
บัว ที่ประกอบกับ ความไม่ชัดเจน
จึงเป็น บัวบังใบ

บัวบังใบ จึงคือ แนวคิดเดิมของผู้เขียน

สิ่งที่เราคิดว่าเราเป็นคนแรกที่คิด
อาจมีคนอื่นคิดออกมาก่อน
สิ่งที่เราคิดไม่ออก อาจมีคนอื่นคิดออก
ความรู้และประสบการณ์ ย่อมปะปนจนปนเป
ไม่รู้ใครคิดก่อนใคร
หากจะนำมาใช้เพื่อประโยชน์แก่สังคม
จะห่วงไปใย ว่าไม่ได้คิดเป็นคนแรก
ความสำคัญอยู่ที่ผลลัพธ์ของงานต่างหาก

Copy เถอะ แต่อย่าเพียง Copy & Paste
จงอย่าลืม Copy & Develop
อ้อ ลอกใครมา อ้างอิง หรือ ขออนุญาต ให้เรียบร้อย

Blog นี้ จึงเป็นที่ๆ คิดแล้วเขียน
รอวันมีใครปิ๊ง แล้วเอาไปพัฒนา Waiting for C&D

แล้ว ทำไมต้อง จับฉ่าย

จับฉ่าย แปลตามพจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ.๒๕๕๒ ว่า ชื่ออาหารอย่างจีนชนิดหนึ่งที่ใส่ผักหลาย ๆ อย่าง , ของต่าง ๆที่ปะปนกันไม่เป็นสํารับ ไม่เป็นชุด

จับฉ่ายจึงไม่มีข้อจำกัด ซึ่งเดิมผู้เขียนพยายามแยกประเด็นไว้ต่างกลุ่มต่างบล็อกกัน

แต่หากความคิดมากมายหลายหลากจนแยกกลุ่มแยกหมวดไม่ได้ คงต้องโยนลงหม้อต้มเป็น จับฉ่าย อร่อยอยู่ในชามเดียวกัน

หมายเหตุ

๑. แก้ไขชื่อ Blog จากเดิม Waiting for C & D เป็น บัวบังใบ เมื่อย้ายไปอยู่ หนองบัวลำภู (๓๑๐๘๕๔)

๒. ความหมายหลากหลายของ บัวบังใบ

     ๒.๑ เห็นรำไร (พจนานุกรม ฉบับ ราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ.๒๕๔๒)

     ๒.๒ breast barely visible on some part(http://dict.longdo.com/)

     ๒.๓ ชื่อ ยันต์ วัตถุมงคลชนิดหนึ่ง

     ๒.๔ ชื่อ ขนม ชนิดหนึ่ง ( http://www.nsru.ac.th/science/)


๓. แก้ไขชื่อ Blog จากเดิม บัวบังใบ เป็น จับฉ่าย เมื่อย้ายมาอยู่ เพชรบูรณ์ (๑๘๑๐๕๔) และ เปลี่ยนชื่อบทความนี้จากเดิม บัวบังใบ แม้เพียงเห็นรำไร แต่ก็มีที่มา เป็น จับฉ่าย ซะด้วย





วันจันทร์ที่ 26 พฤษภาคม พ.ศ. 2551

ตรวจสุขภาพประจำปี มีอะไร



วันนี้เป็นครั้งแรกที่ชาวริมสวน(ชมน่าน) คิดจะพบปะพูดคุยกันแบบ KM
แม้จะประกาศเป็นจังหวัด IT-KM (เอ หรือว่า KM-IT) มาตั้งแต่ 7 ธันวาคม 2550 เราก็ยังงงๆอยู่ดีว่าเราจะไปอย่างไรกัน
วันนี้เรานัดคุยกันเรื่องที่คิดว่าทุกคนมีความรู้ มีประสบการณ์ คือเรื่อง การตรวจสุขภาพประจำปี

มีผู้เข้าร่วมพูดคุยที่อยากจะบันทึกไว้ดังนี้ คุณบุญส่ง , คุณเพทาย , คุณมนัส , คุณเลิศลักษณ์ , คุณวิลาวรรณ , คุณสมพร , คุณอัญชุลี , คุณสันติ , คุณอัญชลี , คุณวรรณรัตน์ , คุณกล้า , คุณราชิน , คุณวาสนา , คุณฉัตรชัยกานต์ , คุณหมอปัญญา , คุณพรพิมล , คุณจตุพร , คุณสายฝน , คุณพงศ์พิษณุ และ ผู้เขียน (ผิดตกยกเว้นนะครับ)
ทุกท่านได้ช่วยกันแสดงความคิดความเห็นในประสบการณ์ด้านการตรวจสุขภาพประจำปีกันอย่างน่าสนใจ
คุณหมอปัญญา เริ่มเปิดประเด็นว่า ความที่เป็นหมอฟัน เดิมจึงไม่ค่อยได้สนใจกับการตรวจสุขภาพมากนัก แต่เมื่อโดนบังคับให้ตรวจ และผลการตรวจพบ Cholesterol สูงประมาณ 200 มก./ดล. ก็เริ่มเปลี่ยนแปลงพฤติกรรม ควบคุมอาหาร ออกกำลังกาย เมื่อตรวจซ้ำพบว่า Chol ลดลงเหลือ 150
คุณหมอปัญญามีเคล็ดลับคุมน้ำหนักโดย ไม่เปลี่ยนรูเข็มขัด (ซึ่งสอดคล้องกับที่ สาธารณสุขนิเทศก์ นพ.สมชาย เชื้อเพชระโสภณ เคยแนะนำให้ซื้อกางเกงเบอร์เดิม)
คุณพรพิมล ก็เช่นกัน ตรวจพบว่า Chol = 230 จึงเริ่มคุมอาหาร และออกกำลังกาย แถมคุยอวดว่ามีคนแซวว่า หุ่นดีอยู่แล้วทำไมต้องออกกำลังกายอีก (ความจริงหมูต้องการบอกให้ที่ประชุมรู้ว่าหมูหุ่นดีนะค่ะ)
คุณเพทาย แปลกกว่าคนอื่นตรงที่ Alkaline Phosphatase สูง ซึ่งเจ้าตัวเชื่อว่าเกิดจาก ตับได้รับปุ๋ยกล้วยไม้มากเกินไป(เพิ่งรู้กันว่าคุณเพทายเลี้ยงกล้วยไม้เป็นหมื่นต้น บอกว่าเอาไว้เป็น sideline ตอนแก่) [กล้วยไม้ ใกล้ม้วย]
คุณสมพร สงสัยว่าทำไมคนอ้วนมัก Chol ไม่สูง ขณะที่คนผอมๆทำไมสูงเอาๆ ยังไม่มีคำตอบที่ชัดเจน แต่คุณพรพิมลเสนอว่า เพราะคนอ้วนมักจะระมัดระวังเรื่องการกินดีอยู่แล้ว
ซึ่งคุณอัญชลี กับคุณเลิศลักษณ์ ยืนยัน เพราะทั้งสองคนนี้กินชีวจิตประจำ คุณอัญชลีโทษ ขนมหวาน ทำให้อ้วน
แต่คุณกล้า ว่าน่าจะเป็นจาก กรรมพันธุ์ เพราะตัวเองเจาะอะไรก็ post (ยกเว้น HIV ไม่กล้าเจาะดู) แต่โทษว่าการที่ตัวเองน้ำหนักมากเกิดจากกินอาหาร ร้าน 25 น. (หลายท่านสนับสนุน เพราะร้านนี้ตักอาหารมาก-ราคาแพง จึงต้องพยายามกินให้หมด)
คุณวาสนา เห็นว่าคนที่อายุไม่ถึงเกณฑ์ก็อาจมี Chol สูงได้ เพราะฉะนั้นใครที่คิดว่าอายุน้อยอย่าชะล่าใจ
คุณมนัส เสนอว่า ควรเก็บข้อมูลผลการตรวจสุขภาพไว้ทุกปีเพื่อเปรียบเทียบกัน อาจเห็นแนวโน้มของความผิดปกติได้ (ก่อนที่จะผิดปกติจริง จะได้ป้องกันได้ทัน)
คุณบุญส่ง คิดว่าตอนนี้จะทดลองยา(ที่หมอสั่ง) สัก 3 เดือน พร้อมเดินออกกำลังกาย และคุมอาหาร (พิเศษ ตรงที่มีคนช่วยคุมอาหาร ซึ่งคุณพรพิมลเห็นว่า เป็น เวรกรรม อีกอย่างหนึ่ง) อ้อ คุณบุญส่งมีเสริม กระเทียม ที่คนคุมคิดว่าน่าจะช่วยลดไขมันในเลือด แต่หลายคนสงสัยว่าแอบแฝง ฤทธิ์ข้างเคียงอื่นหรือเปล่า
ใครไม่ทราบ เลยเสนอเคล็ดลับเรื่อง ให้ระมัดระวังการดื่ม น้ำมะตูม (ช่วยลด) กับ น้ำลำไย (ช่วยเพิ่ม) คุณพรพิมลจึงรีบจดไว้เพราะกลัวจะ จำสลับกัน
คุณฉัตรชัยกานต์ เล่าว่า Chol สูงทั้งบ้าน เป็นข้อดี ทำให้ช่วยกันคุมอาหาร (งงเหมือนกันว่าทำไมเป็นข้อดี)
คุณจตุพร เล่าว่า ตนเองก็ Chol สูง ก็เลยลด แอลกอฮอล์ และ ออกกำลังกายเพิ่มขึ้น
โดยสรุป เราชาวริมสวน เห็นตรงกันว่า การตรวจสุขภาพประจำปี หากพบว่า ผิดปกติ จะมีประโยชน์ที่ทำให้ทุกคนหันกลับมาสนใจสุขภาพตนเอง ควบคุมอาหาร และ ออกกำลังกาย
แต่หากตรวจพบว่า ปกติ ก็อาจทำให้นิ่งนอนใจ ละเลย ทั้งที่ควรจะปฏิบัติตัวเหมือนๆกัน 
(หมายเหตุ นี่เป็นบันทึกที่ยาวที่สุดที่ผู้เขียนเคยเขียน Blog ใน G2K หากจะตกหล่นไปบ้างเชิญสมาชิก comment ได้ครับ)
[โพสต์ครั้งแรก ที่  Rimpark Gotoknow 26 พฤษภาคม 2551 18:17]

เขาทำอะไรกันที่ริมสวน(ชมน่าน)


แม้จะอยู่ที่ริมของจักรวาลหนึ่ง
ก็อาจเป็นศูนย์กลางของจักรวาลหนึ่ง
คนอยู่ริม จึงมิใช่ไร้ความหมาย
คนอยู่กลางใช่โดดเด่นเสมอไป
ริมสวนชมน่าน มี สำนักงานสาธารณสุขจังหวัดพิษณุโลก
คนริมสวน จึงไม่ใช่ คนธรรมดา

Blog นี้ บันทึกเพื่อบอกว่า เขาทำอะไรกันอยู่

[โพสต์ครั้งแรก ที่ Rimpark Gotoknow 26 พฤษภาคม 2551 18:00]

วันจันทร์ที่ 24 มีนาคม พ.ศ. 2551

Check & Do

กระบวนการป้องกันโรค ตามทฤษฎีมีด้วยกัน 3 ระดับ คือ การป้องกันปฐมภูมิ(Primary Prevention) , การป้องกันทุติยภูมิ(Secondary Prevention) , การป้องกันตติยภูมิ(Tertiary Prevention) หรือบางตำราอาจเพิ่ม การป้องกันก่อนปฐมภูมิ(Primordial Prevention) อีกระดับก็เป็นไปได้

งาน Health Education หรือ งานสุขศึกษา เป็นงานป้องกันโรคที่สำคัญที่สุด เพราะเป็นการป้องกันในระดับปฐมภูมิ คือการป้องกันก่อนเกิดโรค ถ้าประชาชนมีความรู้ด้านสุขภาพดี ก็ย่อมลดความเสี่ยงที่จะเกิดโรคได้ดี

ปัญหาคือ งานสุขศึกษา ของหน่วยงานด้านสาธารณสุข มักไม่ค่อยได้รับความสนใจจากผู้บริหาร และแม้กระทั่ง ผู้รับผิดชอบงานเอง ที่มักเกี่ยงกันว่าเป็นหน้าที่ใครในการให้สุขศึกษา ที่อาการหนักไปกว่านั้นคือ เข้าใจว่า งานประชาสัมพันธ์(Public Relation) คือ งานสุขศึกษา ก็เลยมุ่งเน้นไปที่การจัดทำสื่อประชาสัมพันธ์ เพราะมันดังดี

ผู้เขียนจึงพยายามใช้คำว่า Health Education แทนคำว่า สุขศึกษา ที่เมื่อพูดถึงก็มักนึกถึง วิชาสุขศึกษา ที่เป็นยาขมสำหรับเด็กนักเรียนตั้งแต่รุ่นคุณปู่ยังเด็กมาจนสมัยปัจจุบัน ใช้ Health Education จะได้เข้าใจกันชัดๆไปเลยว่าเป็น กระบวนการเรียนรู้ทางสุขภาพ ไม่ใช่วิชาเรียนที่ต้อง ท่อง(แต่ไม่ต้องปฏิบัติ) เพื่อเอาคะแนน

งาน Health Education เป็นงานยาก เพราะเป็นงานที่ต้องปรับเปลี่ยนพฤติกรรมของคน ซึ่งแต่ละคน แต่ละชุมชน แต่ละสังคม แต่ละโรค แต่ละกิจกรรม ย่อมไม่สามารถใช้รูปแบบที่เหมือนๆกัน หรือ เหมือนเดิม ไปสอนไปแนะนำให้ประชาชนปรับเปลี่ยนพฤติกรรม เพื่อนำไปสู่ การป้องกันโรค

ผู้ทำงานด้าน Health Education มักทำไปตาม Routine ที่เคยทำมาแต่ไหนแต่ไร ไม่เคยประเมินว่า สิ่งที่ดำเนินการไปกับประชาชนนั้น มันสามารถเปลี่ยนแปลงพฤติกรรมของคนได้จริงหรือไม่ แค่ไหน

แล้วจะให้ทำอย่างไร

ผมเสนอว่า ให้ทำการ ประเมินหรือตรวจสอบ(Check) เสียก่อนว่า การที่เราจะทำ Health Education กับประชาชนกลุ่มหนึ่งๆที่เรารับผิดชอบ ควรจะใช้รูปแบบใดที่จะสามารถสื่อไปถึงผู้รับได้ Tune ให้ตรงกันก่อน แล้วจึง ทำ(Do)งาน Health Education จึงต้อง C&D (Check & Do) ครับท่าน

First Posted by นพ.บุญชัย ธีระกาญจน์ at Monday, March 24, 2008 at http://plkhealth.blogspot.com/




วันเสาร์ที่ 15 มีนาคม พ.ศ. 2551

ทฤษฎีพังเหย


เมื่อวันที่ 12-14 มีนาคม 2551 ที่ผ่านมา ผู้เขียนได้มีโอกาสไปประชุมวิชาการ สมาคมนักบริหารสาธารณสุข ครั้งที่ 5 มีประเด็นที่น่าสนใจมากมาย เรื่องหนึ่งเป็นที่ประทับใจมาก คือ


การเสวนาเรื่อง 4 เดือนแรกหลังการถ่ายโอน ซึ่งเป็นการนำผู้เกี่ยวข้องมาเสวนากันในประเด็นการถ่ายโอนสถานีอนามัยไปยังองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น
ท่านนายก อบต.ปากพูน อ.เมือง จ.นครศรีธรรมราช คุณ ธนาวุฒิ ถาวรพราหมณ์ พูดในหลายประเด็นที่น่าฟังมาก ท่านทำโน่นทำนี่มากมาย ทั้งเรื่องการเงินและการบุคคล ฟังแล้วดูง่ายไปหมด
(มีคนแอบนินทาให้ผู้เขียนได้ยินว่า คนมีเงินซะอย่าง ทำอะไรก็ไม่น่าเกลียด)
แต่ก็มีคนสงสัยว่าท่านทำไปนั้นมันไม่ผิดกฎหมายหรืออย่างไร ท่านตอบข้อสงสัยว่า
ผมใช้ Phang Hoei Theory ทฤษฎีพังเหย 

ท่านว่า พังเหย เป็นภาษาใต้หมายถึง รูแย้ ที่มีทางออกหลายๆทางไว้หลบหลีกศัตรู

..เขามาช่องนั้น ผมก็หลบออกรูนี้ เขามารูนี้ ผมก็ออกช่องโน้น หารูออกไม่ได้ ผมก็ขุดรูใหม่ ไปจนได้แหละ..
ฟังแล้ว ก็เกิดดวงตาเห็นธรรม ที่อยากฝากไปถึงท่าน เจ้าระเบียบ ทั้งหลายที่ทำให้งานสะดุด งานไม่เดินอยู่ทุกวันนี้ เพราะมัวติดขัดอยู่กับระเบียบ ข้อบังคับ (ไม่รวมเรื่อง มอบอำนาจ อิอิ..) ลอง ทฤษฎีพังเหย ดูบ้างเป็นไร

Note
คุณประยุทธ ดารายิ้มฤทธิ์ สาธารณสุขอำเภอวังทอง บอกว่า แถวคันโช้ง อ.วัดโบสถ์ เรียกรูแย้นี้ว่า รูเปลว

คุณพิพัฒน์ จันทะคุณ สาธารณสุขอำเภอชาติตระการ บอกว่าชาวชาติตระการ เรียก รูผี


คุณวัฒนศักดิ์ ศรรุ่ง ผู้ช่วยสาธารณสุขอำเภอพรหมพิราม มาจากนครสวรรค์ เรียกว่า รูปล่อง



[โพสต์ครั้งแรกที่  Notes on Weblog Gotoknow 15 มีนาคม 2551 22:45]

วันศุกร์ที่ 18 มกราคม พ.ศ. 2551

ข้างหลังภาพ Backside of the photo


หน้าภาพ ล้วนคัดสรรดูดี

หลังภาพ อาจเปื้อนสีสกปรก

หน้าภาพ ล้วนงดงามยอยก

หลังภาพ อาจนรกอเวจี

[โพสต์ครั้งแรกที่ My Idea Gotoknow 18 มกราคม 2551 13:21]