วันเสาร์ที่ 16 ธันวาคม พ.ศ. 2560

หญ้าสู้ดาบ

๑๙๓

เหมือนเอาหญ้ามาสู้ดาบอันคม

สามก๊ก เจ้าพระยาพระคลัง(หน) ตอนที่ ๘๓

          เตงงายถูกล้อมอยู่ในกระบวนศึกปักกัวติ๋นของเกียงอุย สุมาปองคุมทหารฟันฝ่าเข้าช่วย เตงงายก็ดีใจ คุมทหารออกจากที่ล้อมได้ พาสุมาปองคุมทหารไปตั้งค่ายอยู่ริมแม่น้ำอุยโห เตงงายถามสุมาปองว่าเหตุไฉนจึงเข้าใจกระบวนศึกของเกียงอุย สุมาปองบอกว่าตนเคยเรียนมาจากกองง่วนเพื่อนของขงเบ้ง แล้วว่ากระบวนศึกซึ่งกลายออกของเกียงอุยนั้นเรียกว่าเตียงจั๋วติ๋น หรือกระบวนศึกงูเลื้อย ต้องเข้าโจมตีที่ส่วนศรีษะก่อน เตงงายดีใจที่รู้เท่าทันเกียงอุย จึงให้สุมาปองถือหนังสือไปท้าเกียงอุยออกตั้งกระบวนศึกกันอีก ส่วนตนจะนำทหารไปหลังเขาลอบเข้าชิงค่ายเกียงอุย ฝ่ายเกียงอุยได้รับคำท้า แล้วว่าแก่ทหารทั้งปวงว่า ตนชำนาญในกระบวนศึกมาก เตงงายฝีมือก็เท่าที่เห็น ที่คิดจะออกมาตั้งกระบวนศึกรบนั้น เหมือนเอาหญ้ามาสู้ดาบอันคม

หญ้า หากจะสู้กับคมดาบ ต้องไม่แข็งกล้าท้าทาย
หญ้า หากจะสู้กับคมดาบ ต้องโอนอ่อนลู่ตาม
หญ้า หากจะสู้กับคมดาบ ต้องรวมตัวกันเป็นหญ้ามัดใหญ่

ดาบ แม้คมเพียงใด หากฟันไม่ถูกจังหวะ อาจฟันหญ้าไม่ขาด
ดาบ แม้คมเพียงใด อาศัยเพียงกำลังแรง อาจฟันหญ้าไม่ขาด
ดาบ หากไร้ความคม แม้มีกำลังเพียงใด อาจฟันหญ้าไม่ขาด

ทั้งหญ้าและดาบ ต้องสู้กันด้วยจังหวะแลไหวพริบ
ทั้งหญ้าและดาบ ต้องสู้กันด้วยสติแลปัญญา

การทำงานระหว่างผู้ใต้บังคับบัญชากับผู้บังคับบัญชาก็เช่นกัน
มิอาจใช้เพียงอำนาจหรือกำลัง
ต้องอาศัยจังหวะไหวพริบ แล สติปัญญา


สามก๊ก อ่านสามจบ ยังคบได้

          มีคำกล่าวล่ำลือถึงความเป็น สุดยอดตำราทางยุทธศาสตร์ ของ สามก๊ก ว่า อ่านสามจบคบไม่ได้  ฟังดูก็ไม่เชิงว่าจะเป็นการนิยมยกย่องสักเท่าไร เพราะเหตุที่คบไม่ได้ มิใช่ว่าจะเป็นคนเก่งกล้าสามารถ แต่หากจะเป็นคน เจ้าเล่ห์แสนกล ด้วยสามก๊กนั้นเต็มไปด้วยกลอุบาย หรือที่คบไม่ได้อาจเป็นเพราะ ท่าทางจะเป็นคนโง่เหลือกำลัง ที่ทนอ่านอยู่ได้ตั้งสามจบ
          ผู้เขียนเองก็นับว่าอ่านสามก๊กมามากกว่าสามจบ ทั้งฉบับ เจ้าพระยาพระคลัง(หน) ฉบับ วรรณไว พัธโนทัย ฉบับ ยาขอบ และฉบับ มรว.คึกฤทธิ์ ปราโมช อ่านแล้วก็ลืม ลืมแล้วก็อ่าน อ่านทุกครั้งก็สนุกทุกครั้ง ไม่วิเคราะห์ไม่คิดมากให้เสียเวลา อ่านเอาสนุก อ่านเป็นนิยาย
          ก็คนเขียนเขาเขียนเป็นนิยาย จะไปอ่านเอาสาระทำไมกัน หาก หลอกว้านจง ผู้ประพันธ์ รู้เข้าก็คงจะงุนงงเป็นยิ่งนักที่สามก๊กกลายเป็นตำราพิชัยสงคราม ตำราการบริหารเชิงยุทธศาสตร์ ไปได้
          ผู้เขียนฟัง อาปา เล่าเรื่องสามก๊กให้ฟังมาตั้งแต่เด็ก ส่วนใหญ่เป็นเรื่องไหวพริบของตัวละครต่างๆในสามก๊ก ซึ่งก็เป็นเหตุทำให้ผู้เขียนสนใจอ่านสามก๊กเพื่อไปค้นหาข้อความที่อาปาเล่า ฉบับแรกที่อ่านก็เป็นฉบับ เจ้าพระยาพระคลัง(หน) เล่มใหญ่หนาที่บ้านอาโกว 
          มานึกได้วันหนึ่งว่า น่าจะลองอ่านสามก๊กใหม่อีกสักหน คราวนี้จะลองอ่านแบบ อ่านเอาเรื่อง อ่านตรงที่คนอื่นเขาไม่อ่านกัน เพื่อยืนยันว่าอ่านอีกกี่จบก็น่าจะ ยังคบได้


ไม่มีความคิดเห็น: