วันเสาร์ที่ 5 สิงหาคม พ.ศ. 2560

นิ่งช้าไม่ได้

๑๗๔

อันการขบถจะนิ่งอยู่ช้านั้นไม่ได้
ข้าศึกจะมีกำลังมากขึ้น


สามก๊ก เจ้าพระยาพระคลัง(หน) ตอนที่ 72

          สุมาอี้ได้รับหนังสือรับสั่งพระเจ้าโจยอย ให้สุมาอี้กลับเข้ารับราชการและยกทัพไปสมทบทัพหลวง พอดีซินหงีเจ้าเมืองกิมเสียเข้ามาบอกความลับว่า เบ้งตัดเมืองซงหยงคิดขบถจะไปเข้าด้วยขงเบ้ง สุมาอี้จึงคิดจะไปจับตัวเบ้งตัดเสียก่อน สุมาสูจึงท้วงว่า เบ้งตัดเป็นขุนนางผู้ใหญ่อยู่ ควรจะทำหนังสือไปกราบทูลพระเจ้าโจยอยให้ทราบก่อน สุมาอี้จึงว่า อันการขบถจะนิ่งอยู่ช้านั้นไม่ได้ ข้าศึกจะมีกำลังมากขึ้น จำต้องยกกองทัพไปจับตัวเบ้งตัดก่อนแล้วกราบทูลต่อภายหลัง

ผู้ขบถ คือ ผู้ทรยศ ผู้ประทุษร้ายต่อบ้านเมือง
การจัดการผู้ขบถ ต้องจัดการทันที ที่รู้ว่าจะขบถ
การจัดการผู้ขบถ ต้องจัดการเด็ดขาดและรุนแรง
การจัดการผู้ขบถ ต้องจัดการก่อนก่อการขบถ

การจัดการผู้ขบถ นิ่งช้าไม่ได้
หากปล่อยให้ ผู้ขบถได้ก่อการ
แม้ก่อการไม่สำเร็จ ก็เสียรังวัด
แม้ก่อการไม่สำเร็จ ก็ต้องเสียกำลังพลแลทรัพย์สินมากมายในการจัดการ
ยิ่งหากก่อการได้สำเร็จ ก็เท่ากับสูญสิ้นอนาคต

ปัญหาในองค์กร
เมื่อจะแก้ปัญหาใด ต้องรีบวิเคราะห์ รีบจัดการ
รอไว้ ปัญหาก็จะลุกลามใหญ่โตขึ้น
รอไว้ ปัญหายิ่งแก้ไขยาก ต้องใช้ทรัพยากร สรรพกำลังมากขึ้น
การจัดการปัญหา จึงต้องจัดการก่อนจะเป็นปัญหา
การจัดการปัญหา จึงต้องจัดการเฉียบพลันทันทีที่รู้ว่าจะเป็นปัญหา

การจัดการปัญหา นิ่งช้าไม่ได้
หากปล่อยไว้จนเป็นปัญหาลุกลาม
หากจัดการไม่ได้ มีแต่เสียหายย่อยยับ
แม้จัดการแก้ไขได้ ก็เพียงเสมอตัว
การจัดการปัญหา จึงต้องเริ่มที่มีระบบเฝ้าระวังที่ดี



สามก๊ก อ่านสามจบ ยังคบได้

          มีคำกล่าวล่ำลือถึงความเป็น สุดยอดตำราทางยุทธศาสตร์ ของ สามก๊ก ว่า อ่านสามจบคบไม่ได้  ฟังดูก็ไม่เชิงว่าจะเป็นการนิยมยกย่องสักเท่าไร เพราะเหตุที่คบไม่ได้ มิใช่ว่าจะเป็นคนเก่งกล้าสามารถ แต่หากจะเป็นคน เจ้าเล่ห์แสนกล ด้วยสามก๊กนั้นเต็มไปด้วยกลอุบาย หรือที่คบไม่ได้อาจเป็นเพราะ ท่าทางจะเป็นคนโง่เหลือกำลัง ที่ทนอ่านอยู่ได้ตั้งสามจบ
          ผู้เขียนเองก็นับว่าอ่านสามก๊กมามากกว่าสามจบ ทั้งฉบับ เจ้าพระยาพระคลัง(หน) ฉบับ วรรณไว พัธโนทัย ฉบับ ยาขอบ และฉบับ มรว.คึกฤทธิ์ ปราโมช อ่านแล้วก็ลืม ลืมแล้วก็อ่าน อ่านทุกครั้งก็สนุกทุกครั้ง ไม่วิเคราะห์ไม่คิดมากให้เสียเวลา อ่านเอาสนุก อ่านเป็นนิยาย
          ก็คนเขียนเขาเขียนเป็นนิยาย จะไปอ่านเอาสาระทำไมกัน หาก หลอกว้านจง ผู้ประพันธ์ รู้เข้าก็คงจะงุนงงเป็นยิ่งนักที่สามก๊กกลายเป็นตำราพิชัยสงคราม ตำราการบริหารเชิงยุทธศาสตร์ ไปได้
          ผู้เขียนฟัง อาปา เล่าเรื่องสามก๊กให้ฟังมาตั้งแต่เด็ก ส่วนใหญ่เป็นเรื่องไหวพริบของตัวละครต่างๆในสามก๊ก ซึ่งก็เป็นเหตุทำให้ผู้เขียนสนใจอ่านสามก๊กเพื่อไปค้นหาข้อความที่อาปาเล่า ฉบับแรกที่อ่านก็เป็นฉบับ เจ้าพระยาพระคลัง(หน) เล่มใหญ่หนาที่บ้านอาโกว 
          มานึกได้วันหนึ่งว่า น่าจะลองอ่านสามก๊กใหม่อีกสักหน คราวนี้จะลองอ่านแบบ อ่านเอาเรื่อง อ่านตรงที่คนอื่นเขาไม่อ่านกัน เพื่อยืนยันว่าอ่านอีกกี่จบก็น่าจะ ยังคบได้


ไม่มีความคิดเห็น: