วันเสาร์ที่ 11 มีนาคม พ.ศ. 2560

4 ต้อง 2 ไม่ คลินิกหมอครอบครัว เอาไงดีแว้…

จากนโยบาย คลินิกหมอครอบครัว (PCC : Primary care Cluster) ของรัฐบาล โดยกระทรวงสาธารณสุข จะจัดแพทย์เวชศาสตร์ครอบครัวลงสู่ตำบล เพื่อให้บริการประชาชน ทุกคน ทุกอย่าง ทุกที่ ทุกเวลาด้วยเทคโนโลยี หลายท่านเป็นกังวล ว่าจะเอาอย่างไรดี ดูเหมือนมีปัญหาหลากหลาย

ด้วยคนกระทรวงสาธารณสุขเป็นคนเก่งคิด เก่งทำ ดังนั้นแม้จะเข้าใจหลักการ ก็ยังมักจะมีคำว่า แต่.....(ท่านรัฐมนตรีกระทรวงสาธารณสุขบอกว่า คนกระทรวงสาธารณสุขชอบบอกว่า Yes, But…)และชอบคิดแตกยอดไปจนสุดกู่ในมุมมองของแต่ละคน แล้วก็ต่างแสดงความคิดเห็นจนสับสนไปตาม ๆ กัน ซึ่งก็เป็นสิ่งที่ไม่เสียหาย หากไม่ Drama ตีความสิ่งที่ตนคิดว่าเป็นสิ่งที่หน่วยนโยบายแอบแฝงไว้

สิ่งที่สำคัญคือ ต้องทำให้ประชาชนมั่นใจ เชื่อใจ ไว้วางใจ ในคลินิกหมอครอบครัวว่าสามารถเป็นที่พึ่งของประชาชนได้จริง ประชาชนจะมีหมอประจำตัวที่สามารถปรึกษาได้ มีหมอเป็นญาติ ได้จริง

ดังนั้น ผู้บริหารทุกระดับ ตั้งแต่ระดับรัฐบาลจนถึงระดับพื้นที่ จึงควรทบทวนใน 4 ต้อง 2 ไม่ ต่อไปนี้

  สี่ต้อง  

1. ต้องคิดว่าเป็นการลงทุน ในหลวงรัชกาลที่ 9 เคยมีพระราชดำรัสเมื่อวันที่ 4 ธันวาคม 2534 ความตอนหนึ่งว่า ...Our loss is our gain ขาดทุนของเราเป็นกำไรของเรา...ในการกระทำใด ๆ ถ้าเรายอมลงทุนลงแรงไปก็เหมือนเสียเปล่า แต่ในที่สุดเรากลับจะได้รับผลดี ทั้งทางตรง ทางอ้อม...

เมื่อเราจะทำธุรกิจอะไรสักอย่าง เห็นอยู่ว่าผลตอบแทนในอนาคตมีแน่นอน ถึงแม้วันนี้ไม่มีเงิน กู้มาลงทุนก็ต้องยอม เมื่อบทพิสูจน์จากหลายประเทศ จากหลายการศึกษาชัดเจนว่า การทำระบบสุขภาพปฐมภูมิให้ดี เป็นการเสริมสร้างสุขภาพ ประชาชนมีความรู้ทางสุขภาพ ลดป่วย ลดตาย ลดค่าใช้จ่าย ทั้งของภาครัฐและของประชาชน ถึงวันนี้ต้องทุ่มเทคน ทุ่มเทงบประมาณ ทุ่มเทสรรพกำลัง ก็ต้องลงมือทำ ไม่ทำวันนี้ก็มีแต่จมอยู่กับการพยายามแก้ปัญหาปลายทางอยู่ร่ำไป


ต้องมองในมุมที่เป็นประโยชน์ที่จะเกิดกับประชาชน และผลกระทบที่จะได้ต่อรัฐ ไม่ใช่เอาความกลัวขาดทุน กลัวสูญเสียอำนาจและกลัวสูญเสียบทบาทของตนมา เป็นตัวตัดสินใจในการดำเนินงาน

2.ต้องรวมองค์ เดิมเราต่างแยกทีมตาม ศสม./รพสต.ดูแลประชาชนในแต่ละศสม./รพสต. คนกระทรวงสาธารณสุขมักมีดีแบบแยกส่วน เรียกว่าแต่ละคนมี องค์ลง เมื่อร่วมกันเป็น ทีมหมอครอบครัว จะดูแลแบบองค์รวม ต้องรวมองค์ให้ได้ คือการรวมทีมเดิมของทุกคนใน ศสม./รพสต.มาเป็นทีมเดียวกัน คิดร่วมกันว่าจะดูแลคน 10,000 คนของเราทั้งหมดอย่างไร
3.ต้องตัดใจ การจัดบริการสุขภาพระบบเดิม เราพยายามจัดบริการให้ครอบคลุมผู้รับบริการทุกคน เราจึงทำได้แบบ มอง ๆ แล้วเขียนใบสั่งยา รอ 5 ชั่วโมง ได้พบหมอ 1 นาที แล้วออกไปรอรับยาต่ออีก 2 ชั่วโมง ทำไมรถไฟยังสามารถมีตู้ชั้นหนึ่งชั้นสองชั้นสามอยู่บนขบวนเดียวกันได้ ไม่มีเงิน จองตั๋วไม่ทัน อยากเดินทางก็ไปตีตั๋วยืนแออัดยัดเยียดแบบที่นั่งไม่มีเต็มชั้นสามโน่น ก็ไม่เห็นใครบ่นว่าอะไร แล้วทำไมเราต้องเป็นกังวลใจ จะดูแลประชาชนทุกคนให้ครบถ้วน ทั้งที่ ที่ผ่านมาก็ทำไม่ได้ดีอยู่แล้ว มีแต่รถไฟชั้นสามอยู่แล้ว ครั้งนี้จึง ต้องตัดใจ ตัดตอนมาทำทีละ 10,000 คน จัดคนดูแลประชาชนในพื้นที่รับผิดชอบ 10,000 คนให้ดี คนนอก catchment ให้อยู่กับระบบเดิมไปก่อน ไม่ต้องไปห่วง ทำดีเป็นทีม ๆ ไป ครบ 10 ปีก็มีคนไปดูแลครบถ้วนเองแหละ

4.ต้องคิดกลับหัว คือจะทำ PCC แต่ยังเอางานเดิมที่โดนสั่งมา เอากิจกรรมเดิม ๆ มาทำให้รกรุงรัง กังวลว่าจะขาดเนื้องานไปรายงาน ในที่สุดก็ ทำงานเดิมในชื่อใหม่ โยนเสื้อโหลที่ส่วนกลางตัดให้ ออกแบบตัดเสื้อให้เหมาะสมกับตัวเสียที คิดระบบบริการตามบริบทของพื้นที่ เอา Outcome เป็นตัวตั้ง ว่าต้องการให้ประชาชนใน catchment 10,000 คนของของเรามีสุขภาพดีอย่างไร มีความรู้ทางสุขภาพ (Health Literacy) อะไรบ้าง เอางานเดิมที่มีอยู่มากมายมาคัดสรรแต่ที่จำเป็น ร่วมกับกิจกรรมที่ควรดำเนินการใหม่ เป็น Input แล้วกำหนด Process ใหม่ ว่าจะทำอะไรบ้างดีกับประชาชน 10,000 คน ของเรา


  สองไม่  

1.ไม่คิดแยกส่วน เมื่อบอกจะเป็นหมอครอบครัว จะทำแบบ Holistic Care ทำแบบ Comprehensive Care แล้วทำไมยังไปแยกงานที่ทำเป็นส่วน ๆ เหมือนเดิม ไปสำรวจเด็กที ไปสำรวจวัยรุ่นที ไปตรวจเบาหวานที ตรวจความดันที แล้วกลับมาบอกว่ามีกลุ่มเสี่ยงเบาหวานกี่คน กลุ่มป่วยกี่คน ทำไมไม่ดูทั้งครอบครัว มีกี่คนก็ดูทุกคน มีกี่โรคก็ดูทุกโรค ทุกอวัยวะ แล้วสรุปให้ได้ว่า ดูไปกี่ครอบครัวแล้วในประชาชน 10,000 คน ที่เรารับผิดชอบ มีกี่ครอบครัวที่ปกติดี กี่ครอบครัวที่ป่วย ที่เสี่ยง ด้วยโรคต่าง ๆ จัดการให้ครอบครัวมีสุขภาวะที่ดีไปเท่าไร

2.ไม่ทำเอาใจนาย ปลัดกระทรวงมีนโยบายชัดเจนว่า เน้นคุณภาพ ไม่เน้นปริมาณ แปลว่าหากเราทำเยอะ ๆ แต่ไม่ได้คุณภาพ ประชาชนก็ไม่ได้รับในสิ่งที่แตกต่างที่ดีขึ้น ประชาชนก็ไม่ประทับใจ ไม่ใช้บริการ ก็เหมือนร้านอาหารเปิดสาขาเยอะแยะ แต่คุมคุณภาพไม่ได้ในที่สุดก็เจ๊งทุกสาขา ไม่ต้องแข่งกันรายงานปริมาณ แต่ควรแข่งกันรายงานคุณภาพ ใจเย็น ๆ มีเวลาตั้ง 10 ปี

ถึงเวลาแล้วที่เราจะต้องร่วมกันปฏิรูประบบบริการสุขภาพของประเทศ ทำสิ่งที่พวกเราชาวสาธารณสุขคิดและอยากทำมานานให้สำเร็จ เราเป็นสาธารณสุข 4.0 ต้องคิด ทำน้อยได้มาก เปลี่ยนปัญหาและความท้าทายให้เป็นศักยภาพและโอกาส สร้างความมั่นคงทางสุขภาพ นำไปสู่ความมั่นคงทางเศรษฐกิจ



2 ความคิดเห็น:

Unknown กล่าวว่า...

ขออนุญาตนำไปเผยแพร่ต่อใน www.hfocus.org นะคะ ขอบคุณมากค่ะ

Boonchai65 กล่าวว่า...

ขอบคุณครับ