วันอาทิตย์ที่ 24 กรกฎาคม พ.ศ. 2559

ทองคำ

๑๓๙

อุปมาเหมือนทองคำ

ซึ่งจะล่วงเข้าไปในพวกโจรนั้นไม่ควร

สามก๊ก เจ้าพระยาพระคลัง(หน) ตอนที่ 54



โลซกวางแผนแต่งหนังสือเชิญกวนอูไปกินโต๊ะหวังเจรจา
ให้คืนเมืองเกงจิ๋ว  หากกวนอูไม่ยอมก็จะรุมจับตัวฆ่าเสีย
เมื่อกวนอูได้รับหนังสือก็รับปากบอกผู้ถือหนังสือว่าตนจะ
เดินทางไปตามคำเชิญ กวนเป๋งจึงท้วงว่า เห็นจะเป็นกล
อุบายมิควรไป กวนอูหัวเราะแล้วว่า แม้รู้ว่าเป็นกลอุบายก็
ต้องไปหาไม่ชาวกันตั๋งจะว่ากลัว กวนเป๋งจึงว่า อันตัวกวนอูนี้
อุปมาเหมือนทองคำซึ่งจะล่วงเข้าไปในพวกโจรนั้นไม่ควร


ทองคำ มีคุณสมบัติที่สำคัญ 4 ประการ คือ
1. งดงามเป็นมันวาว
2. คงทนไม่สึกกร่อนง่าย
3. หายาก และ
4. นำกลับมาใช้ใหม่ได้

ทองคำ เดิมเป็นสินแร่อยู่ปะปนกับสินแร่อื่น
ต้องใช้กระบวนการถลุงยุ่งยาก
จึงแยกทองคำบริสุทธิ๋ออกมาได้

ทองคำ เมื่อแยกออกมาแล้ว
ก็เป็นประกายสดใสงดงาม
วางปะปนกับสินแร่อื่นใด
ก็โดดเด่นเห็นได้ชัดเจน

คนทำงาน
ก็ต้องผ่านการเคี่ยวกร่ำ ดุจถลุงสินแร่
จึงจะโดดเด่น เห็นชัดว่าเป็นคนมีฝีมือ

ทองคำ บริสุทธิ์เกินไป ดีเกินไป
บางครั้ง อาจไม่ใช่วัตถุประสงค์
บางครั้ง จึงต้องผสมโลหะอื่น
เกิดเป็นทองเนื้อต่างๆ นำไปใช้ประโยชน์ตามต้องการ

คนทำงาน เก่งเกินไป ดีเกินไป
บางครั้ง อาจใช้ประโยชน์ตามต้องการไม่ได้
บางครั้ง องค์กรต้องการคนหลากหลายฝีมือ

ทองคำ บริสุทธิ์เกินไป โดดเด่นเกินไป
บางครั้ง กลับเป็นอันตราย

คนทำงาน ดีเกินไป โดดเด่นเกินไป
บางครั้ง ก็เป็นอันตราย

อันตรายด้วย ผู้อื่นหมองเกินไป

คนทำงาน จึงไม่จำเป็นต้องดีเกินไป
ร่วมกับคนอื่น เฉลี่ยความดีงามบ้าง
แบ่งความดีให้คนอื่นบ้าง
อย่าเอาดีคนเดียว
เปิดโอกาสคนอื่นบ้าง

สังคมจึงจะมีความสุข



สามก๊ก อ่านสามจบ ยังคบได้

มีคำกล่าวล่ำลือถึงความเป็น สุดยอดตำราทางยุทธศาสตร์ ของ สามก๊ก ว่า อ่านสามจบคบไม่ได้  ฟังดูก็ไม่เชิงว่าจะเป็นการนิยมยกย่องสักเท่าไร เพราะเหตุที่คบไม่ได้ มิใช่ว่าจะเป็นคนเก่งกล้าสามารถ แต่หากจะเป็นคน เจ้าเล่ห์แสนกล ด้วยสามก๊กนั้นเต็มไปด้วยกลอุบาย หรือที่คบไม่ได้อาจเป็นเพราะ ท่าทางจะเป็นคนโง่เหลือกำลัง ที่ทนอ่านอยู่ได้ตั้งสามจบ
ผู้เขียนเองก็นับว่าอ่านสามก๊กมามากกว่าสามจบ ทั้งฉบับ เจ้าพระยาพระคลัง(หน) ฉบับ วรรณไว พัธโนทัย ฉบับ ยาขอบ และฉบับ มรว.คึกฤทธิ์ ปราโมช อ่านแล้วก็ลืม ลืมแล้วก็อ่าน อ่านทุกครั้งก็สนุกทุกครั้ง ไม่วิเคราะห์ไม่คิดมากให้เสียเวลา อ่านเอาสนุก อ่านเป็นนิยาย
ก็คนเขียนเขาเขียนเป็นนิยาย จะไปอ่านเอาสาระทำไมกัน หาก หลอกว้านจง ผู้ประพันธ์ รู้เข้าก็คงจะงุนงงเป็นยิ่งนักที่สามก๊กกลายเป็นตำราพิชัยสงคราม ตำราการบริหารเชิงยุทธศาสตร์ ไปได้

ผู้เขียนฟัง อาปา เล่าเรื่องสามก๊กให้ฟังมาตั้งแต่เด็ก ส่วนใหญ่เป็นเรื่องไหวพริบของตัวละครต่างๆในสามก๊ก ซึ่งก็เป็นเหตุทำให้ผู้เขียนสนใจอ่านสามก๊กเพื่อไปค้นหาข้อความที่อาปาเล่า ฉบับแรกที่อ่านก็เป็นฉบับ เจ้าพระยาพระคลัง(หน) เล่มใหญ่หนาที่บ้านอาโกว 
มานึกได้วันหนึ่งว่า น่าจะลองอ่านสามก๊กใหม่อีกสักหน คราวนี้จะลองอ่านแบบ อ่านเอาเรื่อง อ่านตรงที่คนอื่นเขาไม่อ่านกัน เพื่อยืนยันว่าอ่านอีกกี่จบก็น่าจะ ยังคบได้


ไม่มีความคิดเห็น: