วันอังคารที่ 7 มิถุนายน พ.ศ. 2559

อย่ากลัวตาย

๑๓๔

จะทำสงครามอย่ากลัวแก่ความตาย


สามก๊ก เจ้าพระยาพระคลัง(หน) ตอนที่ 53


เอียวหูคัดค้านอุยของมิให้ยอมแก่ม้าเฉียว อุยของไม่ฟัง
เปิดประตูเมืองรับและคำนับต่อม้าเฉียว ม้าเฉียวเห็นว่า
อุยของมิได้จริงใจจึงให้ประหารเสีย แต่ตั้งให้เอียวหูเป็น
ขุนนางผู้ใหญ่ช่วยรักษาเมือง ด้วยเห็นว่าเป็นคนสัตย์ซื่อ
เอียวหูขอลาราชการไปจัดการศพภรรยา แต่ลอบไปพบ
เกียงขิมและมารดา ขอให้ช่วยยกทัพไปปราบม้าเฉียว
มารดาเกียงขิมจึงว่า ถ้าคิดจะจัดการม้าเฉียวก็ต้องรีบ
ดำเนินการ แม้ละไว้นานไป ศึกแก่ความคิดแล้วก็จะทำ
ยาก อันเกิดเป็นคนไหนๆ ก็จะตายหนหนึ่งเหมือนกัน
เจ้าจะทำสงครามอย่ากลัวแก่ความตาย


ในราชการสงคราม ไม่ว่าชนะหรือแพ้พ่าย
ผู้เข้าสู่สงคราม มีเพียงสองทางเลือก
ตายหรือรอดชีวิต


เมื่อเข้าสู่สงคราม จึงย่อมมีโอกาสตาย
คนไหนๆ ก็ตายหนหนึ่งเหมือนกัน
จะทำสงครามอย่ากลัวแก่ความตาย

ในการทำงาน ก็มีสองทางเลือก
สำเร็จหรือล้มเหลว

แต่การทำงานล้มเหลวยังมีโอกาสให้แก้มือ
เหตุใดจึงต้องวิตก กังวล หวาดกลัว

ออกรบสงคราม อย่ามั่นใจว่าจะต้องรอดชีวิตแน่นอน
จะมีชีวิตรอดแน่นอน คือต้องไม่ออกรบ
ไม่ยอมออกรบ เรียกว่า ขี้ขลาด

ทำงาน อย่าหวังว่าจะต้องประสบผลสำเร็จแน่นอน
หวังแต่ความสำเร็จแน่นอน คือต้องเลือกงาน

เลือกงาน ที่ต้องสำเร็จแน่นอนเท่านั้น

เรียกว่า ทั้งขี้ขลาด และ เห็นแก่ตัว


สามก๊ก อ่านสามจบ ยังคบได้

มีคำกล่าวล่ำลือถึงความเป็น สุดยอดตำราทางยุทธศาสตร์ ของ สามก๊ก ว่า อ่านสามจบคบไม่ได้  ฟังดูก็ไม่เชิงว่าจะเป็นการนิยมยกย่องสักเท่าไร เพราะเหตุที่คบไม่ได้ มิใช่ว่าจะเป็นคนเก่งกล้าสามารถ แต่หากจะเป็นคน เจ้าเล่ห์แสนกล ด้วยสามก๊กนั้นเต็มไปด้วยกลอุบาย หรือที่คบไม่ได้อาจเป็นเพราะ ท่าทางจะเป็นคนโง่เหลือกำลัง ที่ทนอ่านอยู่ได้ตั้งสามจบ
ผู้เขียนเองก็นับว่าอ่านสามก๊กมามากกว่าสามจบ ทั้งฉบับ เจ้าพระยาพระคลัง(หน) ฉบับ วรรณไว พัธโนทัย ฉบับ ยาขอบ และฉบับ มรว.คึกฤทธิ์ ปราโมช อ่านแล้วก็ลืม ลืมแล้วก็อ่าน อ่านทุกครั้งก็สนุกทุกครั้ง ไม่วิเคราะห์ไม่คิดมากให้เสียเวลา อ่านเอาสนุก อ่านเป็นนิยาย
ก็คนเขียนเขาเขียนเป็นนิยาย จะไปอ่านเอาสาระทำไมกัน หาก หลอกว้านจง ผู้ประพันธ์ รู้เข้าก็คงจะงุนงงเป็นยิ่งนักที่สามก๊กกลายเป็นตำราพิชัยสงคราม ตำราการบริหารเชิงยุทธศาสตร์ ไปได้

ผู้เขียนฟัง อาปา เล่าเรื่องสามก๊กให้ฟังมาตั้งแต่เด็ก ส่วนใหญ่เป็นเรื่องไหวพริบของตัวละครต่างๆในสามก๊ก ซึ่งก็เป็นเหตุทำให้ผู้เขียนสนใจอ่านสามก๊กเพื่อไปค้นหาข้อความที่อาปาเล่า ฉบับแรกที่อ่านก็เป็นฉบับ เจ้าพระยาพระคลัง(หน) เล่มใหญ่หนาที่บ้านอาโกว 
มานึกได้วันหนึ่งว่า น่าจะลองอ่านสามก๊กใหม่อีกสักหน คราวนี้จะลองอ่านแบบ อ่านเอาเรื่อง อ่านตรงที่คนอื่นเขาไม่อ่านกัน เพื่อยืนยันว่าอ่านอีกกี่จบก็น่าจะ ยังคบได้

ไม่มีความคิดเห็น: