วันอาทิตย์ที่ 17 มกราคม พ.ศ. 2559

แตกฉาน

๑๒๑



อันธรรมดาผู้มีสติปัญญานั้น
ถ้าจะคิดอ่านทำการสิ่งใด
ถึงจะเต็มใจก็ดี มิเต็มใจก็ดี
ก็ย่อมว่ากล่าวให้แตกฉานปรากฏออก
แลจะนิ่งรำพึงรวนเรอยู่ ก็เหมือนคนหาปัญญามิได้


สามก๊ก เจ้าพระยาพระคลัง(หน) ตอนที่ 49



เมื่อเล่าเจี้ยงหลงกลเตียวสง ให้หวดเจ้งถือหนังสือไปหาเล่าปี่ 
ที่เมืองเกงจิ๋ว เชื้อเชิญเล่าปี่เข้าเมืองเสฉวน หวดเจ้งยืนยันกับ 
เล่าปี่ว่าบัดนี้เล่าเจี้ยงให้มี หนังสือมาก็เหมือนเอาเมืองมายกให้ 
เป็นวาสนาของเล่าปี่แล้ว หลังการเจรจา เล่าปี่ยังนั่งรำพึงสอง 
จิตสองใจอยู่ บังทองจึงเตือนสติเล่าปี่ว่า อันธรรมดาผู้มีสติ 
ปัญญานั้น ถ้าจะคิดอ่านทำการสิ่งใด ถึงจะเต็มใจก็ดี มิเต็มใจก็ดี 
ก็ย่อมว่ากล่าวให้แตกฉานปรากฎออก แลจะนิ่งรำพึงรวนเรอยู่
ก็เหมือนคนหาปัญญามิได้ 

ในองค์กรย่อมมี ผู้บริหาร
ในองค์กรย่อมมี นักวิชาการ

นักวิชาการ ทำหน้าที่สนับสนุนการบริหาร
ผู้บริหาร ทำหน้าที่บริหารองค์กร

บทบาทนักวิชาการ คือ เสนอทางเลือก
บทบาทผู้บริหาร คือ ตัดสินใจ

การเสนอทางเลือก ต้องเสนอประเด็นที่ชัดเจน
ต้องไม่เสนอเพียงข้อมูลดิบ
ต้องเสนอข้อมูล ที่ผ่านการวิเคราะห์
ต้องเสนอข้อมูล ที่ผ่านการสังเคราะห์
ทั้งต้องไม่ให้ผู้บริหาร ควานหาข้อมูลเอง

การตัดสินใจ ต้องชัดเจน
การตัดสินใจ ต้องไม่รวนเร
เมื่อตัดสินใจ ต้องสนับสนุนผลักดัน 
เมื่อตัดสินใจ ต้องรับผิดชอบ

ทั้งนักวิชาการ ทั้งผู้บริหาร
ต้อง แตกฉาน ในบทบาทหน้าที่แห่งตน

หน้าที่นักวิชาการ คือ เสนอทางเลือก
หน้าที่ผู้บริหาร คือ ตัดสินใจ

อย่าสลับบทบาทหน้าที่กัน
คนมีหน้าที่ตัดสินใจ กลับไปเสนอรายละเอียด
คนมีหน้าที่เสนอทางเลือก กลับไปตัดสินใจว่าจะทำหรือไม่ทำ

องค์กรที่คนในองค์กร ไม่แตกฉาน
องค์กรที่คนในองค์กร ไม่รู้บทบาทตนเอง
เรียกว่า องค์กรลูกครึ่ง
ครึ่งผีครึ่งคน



สามก๊ก อ่านสามจบ ยังคบได้

มีคำกล่าวล่ำลือถึงความเป็น สุดยอดตำราทางยุทธศาสตร์ ของ สามก๊ก ว่า อ่านสามจบคบไม่ได้  ฟังดูก็ไม่เชิงว่าจะเป็นการนิยมยกย่องสักเท่าไร เพราะเหตุที่คบไม่ได้ มิใช่ว่าจะเป็นคนเก่งกล้าสามารถ แต่หากจะเป็นคน เจ้าเล่ห์แสนกล ด้วยสามก๊กนั้นเต็มไปด้วยกลอุบาย หรือที่คบไม่ได้อาจเป็นเพราะ ท่าทางจะเป็นคนโง่เหลือกำลัง ที่ทนอ่านอยู่ได้ตั้งสามจบ

ผู้เขียนเองก็นับว่าอ่านสามก๊กมามากกว่าสามจบ ทั้งฉบับ เจ้าพระยาพระคลัง(หน) ฉบับ วรรณไว พัธโนทัย ฉบับ ยาขอบ และฉบับ มรว.คึกฤทธิ์ ปราโมช อ่านแล้วก็ลืม ลืมแล้วก็อ่าน อ่านทุกครั้งก็สนุกทุกครั้ง ไม่วิเคราะห์ไม่คิดมากให้เสียเวลา อ่านเอาสนุก อ่านเป็นนิยาย
ก็คนเขียนเขาเขียนเป็นนิยาย จะไปอ่านเอาสาระทำไมกัน หาก หลอกว้านจง ผู้ประพันธ์ รู้เข้าก็คงจะงุนงงเป็นยิ่งนักที่สามก๊กกลายเป็นตำราพิชัยสงคราม ตำราการบริหารเชิงยุทธศาสตร์ ไปได้
ผู้เขียนฟัง อาปา เล่าเรื่องสามก๊กให้ฟังมาตั้งแต่เด็ก ส่วนใหญ่เป็นเรื่องไหวพริบของตัวละครต่างๆในสามก๊ก ซึ่งก็เป็นเหตุทำให้ผู้เขียนสนใจอ่านสามก๊กเพื่อไปค้นหาข้อความที่อาปาเล่า ฉบับแรกที่อ่านก็เป็นฉบับ เจ้าพระยาพระคลัง(หน) เล่มใหญ่หนาที่บ้านอาโกว 
มานึกได้วันหนึ่งว่า น่าจะลองอ่านสามก๊กใหม่อีกสักหน คราวนี้จะลองอ่านแบบ อ่านเอาเรื่อง อ่านตรงที่คนอื่นเขาไม่อ่านกัน เพื่อยืนยันว่าอ่านอีกกี่จบก็น่าจะ ยังคบได้



ไม่มีความคิดเห็น: