วันศุกร์ที่ 9 พฤศจิกายน พ.ศ. 2555

ภรรยาเหมือนเสื้อผ้า



๒๖

ธรรมดาภรรยาอุปมาเหมือนอย่างเสื้อผ้า
ขาดแลหายแล้วก็จะหาได้
พี่น้องเหมือนแขนซ้ายขวา ขาดแล้วยากที่จะต่อได้

สามก๊ก เจ้าพระยาพระคลัง(หน) ตอนที่ 12

เตียวหุยเสพย์สุราเมาจนเสียเมืองให้กับลิโป้ ทิ้งครอบครัวเล่าปี่
หนีเอาตัวรอดไปจนพบเล่าปี่ กวนอูโกรธต่อว่าเตียวหุยที่ไม่รักษาสัญญา
เตียวหุยคิดอัปยศแก่ทหารทั้งปวง ชักกระบี่จะเชือดคอตาย
เล่าปี่ชิงกระบี่ไว้แล้วบอกว่า 
ความเป็นพี่น้องกันของเล่าปี่กวนอูเตียวหุยนั้นสำคัญกว่าภรรยา

พี่น้อง คือคนที่มีพ่อแม่เดียวกัน มีสายเลือดเดียวกัน

ไม่ต้องจดทะเบียน ก็เป็นพี่น้องกัน
จะชั่วจะดี จะยากจะจน จะร่ำจะรวย ก็เป็นพี่น้องกัน
จะรักจะโกรธ จะอยู่ไกลอยู่ใกล้ ก็เป็นพี่น้องกัน
เป็นวงศ์ตระกูลเดียวกัน ตัดกันไม่ขาด ตัดพี่ตัดน้องไม่ได้

สามีภรรยา คือคนสองคนที่ตกลงปลงใจแต่งงานใช้ชีวิตร่วมกัน
จะชั่วจะดี จะยากจะจน จะร่ำจะรวย
จะรักจะโกรธ จะอยู่ไกลอยู่ใกล้
ตราบใดที่ยังปลงใจเป็นคู่กัน ก็ยังคงเป็นสามีภรรยา

จะรักกันเพียงใด จะสัมพันธ์กันเพียงใด เมื่อตัดสินใจแยกทางกัน
หย่าขาดจากกัน ความเป็นสามีภรรยาก็เป็นอันสิ้นสุดลง

ความเป็นสามีภรรยา เป็นแล้ว เลิกได้ หย่าได้ 
ความเป็นพี่น้อง เป็นแล้ว เลิกไม่ได้ หย่าไม่ได้ 

การทำงาน 
ผู้ร่วมงานไม่ใช่คนแต่งงานกัน ไม่ใช่สามีภรรยา
หากคือพี่น้อง หย่าขาดจากกันไม่ได้
จะดีจะเลว ก็พี่น้อง
จะสำเร็จจะล้มเหลว ก็พี่น้อง
มีสุขร่วมเสพย์ มีทุกข์ร่วมต้าน


Note
สำนวน ฉบับภาษาอังกฤษของ C.H. Brewitt-Taylor ว่า
Brothers are as hands and feet; wives and children are as clothing. You may mend your torn dress, but who can reattach a lost limb?

สำนวน ฉบับแปลใหม่ของ วรรณไว พัธโนทัย ว่า
โบราณว่าธรรมดาพี่กับน้องเสมือนมือกับเท้า ลูกเมียเสมือนเสื้อผ้า เสื้อผ้าขาดย่อมปะชุนได้ มือกับเท้าขาดจะเอาที่ไหนมาต่อ


สามก๊ก อ่านสามจบ ยังคบได้

มีคำกล่าวล่ำลือถึงความเป็น สุดยอดตำราทางยุทธศาสตร์ ของ สามก๊ก ว่า อ่านสามจบคบไม่ได้  ฟังดูก็ไม่เชิงว่าจะเป็นการนิยมยกย่องสักเท่าไร เพราะเหตุที่คบไม่ได้ มิใช่ว่าจะเป็นคนเก่งกล้าสามารถ แต่หากจะเป็นคน เจ้าเล่ห์แสนกล ด้วยสามก๊กนั้นเต็มไปด้วยกลอุบาย หรือที่คบไม่ได้อาจเป็นเพราะ ท่าทางจะเป็นคนโง่เหลือกำลัง ที่ทนอ่านอยู่ได้ตั้งสามจบ

ผู้เขียนเองก็นับว่าอ่านสามก๊กมามากกว่าสามจบ ทั้งฉบับ เจ้าพระยาพระคลัง(หน) ฉบับ วรรณไว พัธโนทัย ฉบับ ยาขอบ และฉบับ มรว.คึกฤทธิ์ ปราโมช อ่านแล้วก็ลืม ลืมแล้วก็อ่าน อ่านทุกครั้งก็สนุกทุกครั้ง ไม่วิเคราะห์ไม่คิดมากให้เสียเวลา อ่านเอาสนุก อ่านเป็นนิยาย
ก็คนเขียนเขาเขียนเป็นนิยาย จะไปอ่านเอาสาระทำไมกัน หาก หลอกว้านจง ผู้ประพันธ์ รู้เข้าก็คงจะงุนงงเป็นยิ่งนักที่สามก๊กกลายเป็นตำราพิชัยสงคราม ตำราการบริหารเชิงยุทธศาสตร์ ไปได้

ผู้เขียนฟัง อาปา เล่าเรื่องสามก๊กให้ฟังมาตั้งแต่เด็ก ส่วนใหญ่เป็นเรื่องไหวพริบของตัวละครต่างๆในสามก๊ก ซึ่งก็เป็นเหตุทำให้ผู้เขียนสนใจอ่านสามก๊กเพื่อไปค้นหาข้อความที่อาปาเล่า ฉบับแรกที่อ่านก็เป็นฉบับ เจ้าพระยาพระคลัง(หน) เล่มใหญ่หนาที่บ้านอาโกว 

มานึกได้วันหนึ่งว่า น่าจะลองอ่านสามก๊กใหม่อีกสักหน คราวนี้จะลองอ่านแบบ อ่านเอาเรื่อง อ่านตรงที่คนอื่นเขาไม่อ่านกัน เพื่อยืนยันว่าอ่านอีกกี่จบก็น่าจะ ยังคบได้


ไม่มีความคิดเห็น: