วันพฤหัสบดีที่ 15 พฤศจิกายน พ.ศ. 2555

เสือกับเหยี่ยว



๒๗

อุปมาเหมือนเลี้ยงเสือ ถ้าได้กินอิ่มก็จะเป็นปรกติ
ถ้ามิอิ่มก็จะเบียดเบียนสัตว์ทั้งปวงเป็นอาหาร
อุปมาเหมือนเหยี่ยวซึ่งอยากอาหาร
คอยแสวงหาลูกไก่อันพลัดแม่ ได้ทีแล้วก็ฉาบลงเอา
ถ้าเห็นยังมิได้ทีก็ค่อยทำความเพียรคอยอยู่กว่าจะได้ลูกไก่


สามก๊ก เจ้าพระยาพระคลัง(หน) ตอนที่ 15


ลิโป้แต่งหนังสือให้ตันเต๋งไปพบโจโฉ ขอให้โจโฉทูลพระเจ้าเหี้ยนเต้ตั้งลิโป้เป็นเจ้าเมืองชีจิ๋ว
ตันเต๋งกลับไปเสนอตัวเป็นไส้ศึกให้กับโจโฉ แล้วมาอ้างกับลิโป้ว่าได้ไปเกลี้ยกล่อมโจโฉ
โดยตนได้ยกย่องลิโป้ว่าเปรียบประดุจดังเสือ ที่โจโฉควรเลี้ยงไว้
แต่โจโฉกลับเห็นว่าลิโป้เปรียบดังเหยี่ยวต่างหาก

เสือเป็นสัตว์ผู้ล่า ต้องล่าเหยื่อเป็นอาหาร และจะล่าเหยื่อเมื่อเฉพาะเวลาหิวเท่านั้น

ความหิวจะเป็นตัวขับเคลื่อนให้เสือมีพลังในการไล่ล่า
ยามอิ่ม เสือจะนอนพักผ่อนและหมดพลัง เสือกลับกลายเป็นแมว
คนเลี้ยงเสือจึงต้องให้กินอิ่มเสมอ เมื่อเสืออิ่ม คนเลี้ยงก็ปลอดภัย

เหยี่ยวก็เป็นสัตว์ผู้ล่า แต่เหยื่อที่เหยี่ยวล่าเป็นเหยื่อขนาดเล็ก

กินเท่าไรก็ไม่อิ่ม เหยี่ยวจึงหิวอยู่ตลอดเวลา เมื่อหิวก็ต้องล่า
เหยี่ยวจะยอมหยุดล่าเมื่อไม่มีเหยื่อเหลือแล้วเท่านั้น
คนเลี้ยงเหยี่ยวจึงไม่ต้องให้กินอิ่ม เหยี่ยวหิวเพียงใด ก็ไม่กินคนเลี้ยง 

คนทำงานนิสัยเสือ 
เมื่อทำงานสำเร็จก็หมดความอยากที่จะจับงานชิ้นถัดไป
เมื่อหมดงานก็จะทอดหุ่ย ไม่แสวงหางานทำ ทำตัวเป็นคนว่างงาน
เอาเปรียบเพื่อนฝูงอยู่ร่ำไป เมื่อว่างงานก็จะจ้องแว้งจับผิดผู้อื่น
จึงต้องหมั่นสังเกต และคอยมอบหมายงานทำ มิให้ว่าง

คนทำงานนิสัยเหยี่ยว ขยันทำงาน หมดงานหนึ่งก็จับงานใหม่มาทำต่อไป
แสวงหางานทำ ไม่ทำตนเป็นคนว่างงาน
แม้ได้งานเล็ก แต่ก็ขยัน พอใจกับงานเล็กๆที่จบไป แล้วก็ยังต้องการสร้างผลงานต่อ
ตราบใดที่งานยังไม่หมด คนนิสัยเหยี่ยวจะไม่ยอมหยุดงาน

ทั้งเสือและเหยี่ยว ไม่ใช่คนทำงานที่ผู้บริหาร พึงปรารถนา


แต่คนทำงานทุกวันนี้ หากไม่ใช่เสือ ก็เป็นเหยี่ยว

อยู่ที่ผู้บริหารจะเลือกใช้งานอย่างไร


Note

สำนวน ฉบับภาษาอังกฤษของ C.H. Brewitt-Taylor ว่า
(I said that to keep you going was) like feeding a tiger. The tiger must be kept fully fed or he would eat humans.
One must treat the Commander like a falcon. Not feed it till the foxes and hares are done. Hungry, the bird is of use; full fed it flies away.

สำนวน ฉบับแปลใหม่ของ วรรณไว พัธโนทัย ว่า
จงเลี้ยงอย่างเสือ ธรรมดาเสือถ้าได้กินเนื้อกินอิ่ม ก็เป็นปกติอยู่ ถ้าไม่อิ่มก็จะกัดกินคน
ต้องเลี้ยงอย่างเหยี่ยว ตราบใดที่หมาจิ้งจอกกับกระต่ายยังไม่หมดป่า ตราบนั้นเหยี่ยวจะไม่ยอมอิ่ม เหยี่ยวหิวจึงใช้การได้ดี ถ้าอิ่มแล้วก็จะบินหนีไป



สามก๊ก อ่านสามจบ ยังคบได้

มีคำกล่าวล่ำลือถึงความเป็น สุดยอดตำราทางยุทธศาสตร์ ของ สามก๊ก ว่า อ่านสามจบคบไม่ได้  ฟังดูก็ไม่เชิงว่าจะเป็นการนิยมยกย่องสักเท่าไร เพราะเหตุที่คบไม่ได้ มิใช่ว่าจะเป็นคนเก่งกล้าสามารถ แต่หากจะเป็นคน เจ้าเล่ห์แสนกล ด้วยสามก๊กนั้นเต็มไปด้วยกลอุบาย หรือที่คบไม่ได้อาจเป็นเพราะ ท่าทางจะเป็นคนโง่เหลือกำลัง ที่ทนอ่านอยู่ได้ตั้งสามจบ

ผู้เขียนเองก็นับว่าอ่านสามก๊กมามากกว่าสามจบ ทั้งฉบับ เจ้าพระยาพระคลัง(หน) ฉบับ วรรณไว พัธโนทัย ฉบับ ยาขอบ และฉบับ มรว.คึกฤทธิ์ ปราโมช อ่านแล้วก็ลืม ลืมแล้วก็อ่าน อ่านทุกครั้งก็สนุกทุกครั้ง ไม่วิเคราะห์ไม่คิดมากให้เสียเวลา อ่านเอาสนุก อ่านเป็นนิยาย
ก็คนเขียนเขาเขียนเป็นนิยาย จะไปอ่านเอาสาระทำไมกัน หาก หลอกว้านจง ผู้ประพันธ์ รู้เข้าก็คงจะงุนงงเป็นยิ่งนักที่สามก๊กกลายเป็นตำราพิชัยสงคราม ตำราการบริหารเชิงยุทธศาสตร์ ไปได้

ผู้เขียนฟัง อาปา เล่าเรื่องสามก๊กให้ฟังมาตั้งแต่เด็ก ส่วนใหญ่เป็นเรื่องไหวพริบของตัวละครต่างๆในสามก๊ก ซึ่งก็เป็นเหตุทำให้ผู้เขียนสนใจอ่านสามก๊กเพื่อไปค้นหาข้อความที่อาปาเล่า ฉบับแรกที่อ่านก็เป็นฉบับ เจ้าพระยาพระคลัง(หน) เล่มใหญ่หนาที่บ้านอาโกว 

มานึกได้วันหนึ่งว่า น่าจะลองอ่านสามก๊กใหม่อีกสักหน คราวนี้จะลองอ่านแบบ อ่านเอาเรื่อง อ่านตรงที่คนอื่นเขาไม่อ่านกัน เพื่อยืนยันว่าอ่านอีกกี่จบก็น่าจะ ยังคบได้




1 ความคิดเห็น:

ไม่ระบุชื่อ กล่าวว่า...

เข้าใจความรู้สึกของท่านครับ แต่ลูกน้องหลายคนก็อยากให้ท่านใช้ โดยไม่มีข้อแม้ครับ และมีความสุขที่เห็นท่านสบายใจครับ ขอบคุณท่านแม้ได้มีโอกาสรับใช้เพียงไม่นานครับ