วันอาทิตย์ที่ 3 มิถุนายน พ.ศ. 2555

รูปนกยูง


อุปมาเหมือนท่านเขียนรูปนกยูงแล้วเอาหมึกมาทาให้ดำเสียสีไป


สามก๊ก เจ้าพระยาพระคลัง(หน) ตอนที่ 7

ตั๋งโต๊ะคิดฆ่าลิโป้ที่บังอาจมาเกาะแกะนางเตียวเสียน
ลิยูเกลี้ยกล่อมตั๋งโต๊ะว่าควรตัดใจยกนางเตียวเสียนให้ลิโป้ จึงจะได้ใจจากลิโป้
เมื่อนางเตียวเสียนได้ฟัง จึงทำมารยากับตั๋งโต๊ะว่าพึงใจในตั๋งโต๊ะเหลือเกิน มิอาจยอมไปเป็นของลิโป้ได้
ตัดพ้อตั๋งโต๊ะว่าทำเหมือนเขียนรูปสวยงามแล้วเอาหมึกดำมาป้ายทิ้งเสีย

นกยูง เป็นนกที่มีสีสันสวยงาม โดยเฉพาะอย่างยิ่งนกยูงตัวผู้เมื่อยามรำแพนหางเพื่ออวดตัวเมีย
นักเขียนที่สามารถเขียนรูปนกยูงรำแพนจึงต้องอาศัยทั้งฝีมือและอารมณ์อันสุนทรีย์

ภาพเขียนสวยงามใดๆจึงต้องเป็นภาพที่มาจากหัวใจของนักเขียน
ใครก็ตามที่หาญกล้าเอาสีดำไปป้ายทับภาพอันสวยสด ย่อมแสดงถึง
ความมีจิตใจอันโหดร้าย อารมณ์อันขุ่นมัว
หากตัวผู้เขียนรูปนั้นเองเป็นผู้กระทำเองด้วยแล้ว
ย่อมหมายถึงจิตใจที่อยู่ในภาวะ ผิดปกติว้าวุ่น

กว่าจะสร้างสรรภาพเขียนขึ้นมาได้สักชิ้น ต้องใช้ทั้งพลังกายและพลังใจ
กว่าจะสร้างสรรงานขึ้นมาได้สักชิ้น ต้องใช้ทั้งพลังกายและพลังใจ
อย่าเอาอารมณ์ชั่ววูบไปทำลายล้าง
ยิ่งเป็นงานสร้างสรรของตนเอง จึงดังเขียนด้วยมือ แล้วลบเสียด้วยเท้า

คุณค่าของความเป็นคน ยิ่งมิได้สร้างขึ้นมาอย่างง่ายดาย
จึงอย่าเอาหมึกมาทาให้ดำเสียสีไป



สามก๊ก อ่านสามจบ ยังคบได้

มีคำกล่าวล่ำลือถึงความเป็น สุดยอดตำราทางยุทธศาสตร์ ของ สามก๊ก ว่า อ่านสามจบคบไม่ได้  ฟังดูก็ไม่เชิงว่าจะเป็นการนิยมยกย่องสักเท่าไร เพราะเหตุที่คบไม่ได้ มิใช่ว่าจะเป็นคนเก่งกล้าสามารถ แต่หากจะเป็นคน เจ้าเล่ห์แสนกล ด้วยสามก๊กนั้นเต็มไปด้วยกลอุบาย หรือที่คบไม่ได้อาจเป็นเพราะ ท่าทางจะเป็นคนโง่เหลือกำลัง ที่ทนอ่านอยู่ได้ตั้งสามจบ

ผู้เขียนเองก็นับว่าอ่านสามก๊กมามากกว่าสามจบ ทั้งฉบับ เจ้าพระยาพระคลัง(หน) ฉบับ วรรณไว พัธโนทัย ฉบับ ยาขอบ และฉบับ มรว.คึกฤทธิ์ ปราโมช อ่านแล้วก็ลืม ลืมแล้วก็อ่าน อ่านทุกครั้งก็สนุกทุกครั้ง ไม่วิเคราะห์ไม่คิดมากให้เสียเวลา อ่านเอาสนุก อ่านเป็นนิยาย
ก็คนเขียนเขาเขียนเป็นนิยาย จะไปอ่านเอาสาระทำไมกัน หาก หลอกว้านจง ผู้ประพันธ์ รู้เข้าก็คงจะงุนงงเป็นยิ่งนักที่สามก๊กกลายเป็นตำราพิชัยสงคราม ตำราการบริหารเชิงยุทธศาสตร์ ไปได้

ผู้เขียนฟัง อาปา เล่าเรื่องสามก๊กให้ฟังมาตั้งแต่เด็ก ส่วนใหญ่เป็นเรื่องไหวพริบของตัวละครต่างๆในสามก๊ก ซึ่งก็เป็นเหตุทำให้ผู้เขียนสนใจอ่านสามก๊กเพื่อไปค้นหาข้อความที่อาปาเล่า ฉบับแรกที่อ่านก็เป็นฉบับ เจ้าพระยาพระคลัง(หน) เล่มใหญ่หนาที่บ้านอาโกว 

มานึกได้วันหนึ่งว่า น่าจะลองอ่านสามก๊กใหม่อีกสักหน คราวนี้จะลองอ่านแบบ อ่านเอาเรื่อง อ่านตรงที่คนอื่นเขาไม่อ่านกัน เพื่อยืนยันว่าอ่านอีกกี่จบก็น่าจะ ยังคบได้





ไม่มีความคิดเห็น: