วันเสาร์ที่ 9 มิถุนายน พ.ศ. 2555

ศพในหลุม



อุปมาดังศพอยู่ในหลุม นับวันก็จะเปื่อยโทรมไป


สามก๊ก เจ้าพระยาพระคลัง(หน) ตอนที่ 9

เล่าปี่ยกทัพไปช่วยโตเกี๋ยมเจ้าเมืองชีจิ๋วรบกับโจโฉ และทำหนังสือขอให้โจโฉระงับการตีชีจิ๋ว
โตเกี๋ยมเห็นว่าเล่าปี่เป็นเชื้อพระวงศ์ มีสติปัญญาโอบอ้อมอารี
จึงคิดจะยกเมืองชีจิ๋วให้เล่าปี่ครอบครอง เล่าปี่บ่ายเบี่ยงเกรงจะมีคนครหานินทาว่าเป็นคนโลภ
ทั้งแนะนำว่าหากต้องการคนมีฝีมือมารักษาเมืองก็ควรจะยกเมืองให้อ้วนเสี้ยว
ขงหยงเจ้าเมืองปักไฮ ผู้ชวนเล่าปี่มาช่วยโตเกี๋ยมจึงวิจารณ์อ้วนเสี้ยวว่า
ไร้สติปัญญานับวันจะเปื่อยโทรมไปดังศพในหลุม

ศพที่อยู่ในโลง ตั้งพิธีกรรมสวดอยู่ ยังอาจฟื้นคืนกลับมาถ้าชะตายังไม่ถึงคาด
ศพที่อยู่ในหลุม ย่อมผ่านพิธีกรรมมายาวนานกว่าจะบรรจุลงหลุม
ศพในหลุมจึงตายยิ่งกว่าตาย ไม่มีทางที่จะฟื้นคืนกลับมาแน่นอน
ไม่เพียงไม่ฟื้น แต่นับวันศพในหลุมก็จะเน่าเปื่อยผุพังไป

บางครั้งบางครา เราอาจหมดแรงกายหมดกำลังใจในการงาน
บางครั้งทรุดหนัก ชีวิตเหมือนตายไปจากโลกแห่งความจริง
แค่เป็นเพียงศพในโลง ยังมีโอกาสฟื้นกลับมาเป็นคนดีของสังคม
เมื่อศพที่อยู่ในโลงฟื้นกลับมา ญาติพี่น้องเพื่อนฝูงย่อมดีอกดีใจ
อย่าปล่อยตัวปล่อยใจ ตายสนิทเป็นศพในหลุม หมดโอกาสฟื้นคืนกลับ
ทำตัวเป็น Dead wood ในองค์กร ไร้ทั้งประโยชน์ไร้ทั้งคุณค่าต่อสังคม

อย่าทำตัวเป็นศพในหลุม



สามก๊ก อ่านสามจบ ยังคบได้

มีคำกล่าวล่ำลือถึงความเป็น สุดยอดตำราทางยุทธศาสตร์ ของ สามก๊ก ว่า อ่านสามจบคบไม่ได้  ฟังดูก็ไม่เชิงว่าจะเป็นการนิยมยกย่องสักเท่าไร เพราะเหตุที่คบไม่ได้ มิใช่ว่าจะเป็นคนเก่งกล้าสามารถ แต่หากจะเป็นคน เจ้าเล่ห์แสนกล ด้วยสามก๊กนั้นเต็มไปด้วยกลอุบาย หรือที่คบไม่ได้อาจเป็นเพราะ ท่าทางจะเป็นคนโง่เหลือกำลัง ที่ทนอ่านอยู่ได้ตั้งสามจบ

ผู้เขียนเองก็นับว่าอ่านสามก๊กมามากกว่าสามจบ ทั้งฉบับ เจ้าพระยาพระคลัง(หน) ฉบับ วรรณไว พัธโนทัย ฉบับ ยาขอบ และฉบับ มรว.คึกฤทธิ์ ปราโมช อ่านแล้วก็ลืม ลืมแล้วก็อ่าน อ่านทุกครั้งก็สนุกทุกครั้ง ไม่วิเคราะห์ไม่คิดมากให้เสียเวลา อ่านเอาสนุก อ่านเป็นนิยาย
ก็คนเขียนเขาเขียนเป็นนิยาย จะไปอ่านเอาสาระทำไมกัน หาก หลอกว้านจง ผู้ประพันธ์ รู้เข้าก็คงจะงุนงงเป็นยิ่งนักที่สามก๊กกลายเป็นตำราพิชัยสงคราม ตำราการบริหารเชิงยุทธศาสตร์ ไปได้

ผู้เขียนฟัง อาปา เล่าเรื่องสามก๊กให้ฟังมาตั้งแต่เด็ก ส่วนใหญ่เป็นเรื่องไหวพริบของตัวละครต่างๆในสามก๊ก ซึ่งก็เป็นเหตุทำให้ผู้เขียนสนใจอ่านสามก๊กเพื่อไปค้นหาข้อความที่อาปาเล่า ฉบับแรกที่อ่านก็เป็นฉบับ เจ้าพระยาพระคลัง(หน) เล่มใหญ่หนาที่บ้านอาโกว 

มานึกได้วันหนึ่งว่า น่าจะลองอ่านสามก๊กใหม่อีกสักหน คราวนี้จะลองอ่านแบบ อ่านเอาเรื่อง อ่านตรงที่คนอื่นเขาไม่อ่านกัน เพื่อยืนยันว่าอ่านอีกกี่จบก็น่าจะ ยังคบได้







ไม่มีความคิดเห็น: