วันเสาร์ที่ 28 กันยายน พ.ศ. 2562

เกินหน้าที่ (รามเกียรติ์ ๐๔๓)



กระทืบบาทมีราชบรรหาร
ดูดู๋หนุมานชาญสมร
กูใช้ให้ขุนวานร
ไปสืบข่าวบังอรแต่เท่านี้
เหตุใดจึ่งทำอหังการ์
ฆ่าโคตรวงศายักษี
ทั้งหมู่อสุรโยธี
แลเผาบุรีกุมภัณฑ์


หนุมานรับบัญชาพระรามไปส่งสารให้นางสีดารับรู้ว่าพระรามกำลังยกทัพไปช่วย หลังจากเสร็จภารกิจหนุมานคิดทดลองกำลังกองทัพของทศกัณฑ์ วางแผนทำลายอุทยานของทศกัณฑ์ สังหารสหัสกุมารโอรสทั้งพันตนของทศกัณฑ์ และทำทีเป็นพ่ายแพ้ต่อศรนาคบาศของอินทรชิต ยอมให้อินทรชิตจับมัดตัวมาถวายทศกัณฑ์ ทศกัณฑ์สั่งให้นำเอาหนุมานไปประหาร แต่ไม่ว่าจะใช้วิธีอย่างไรก็ไม่สามารถสังหารหนุมานได้ ทศกัณฑ์จึงเกลี้ยกล่อมให้หนุมานอยู่เป็นข้ารับใช้ แต่หนุมานหลอกว่าตนถูกเหล่าเสนาของทศกัณฑ์ทำร้ายจนทนไม่ไหวแล้ว สู้ฆ่าให้ตายเสียดีกว่า ทศกัณฑ์หลงเชื่อถามวิธีว่าจะให้ทำอย่างไร หนุมานหลอกให้นำผ้าสำลีชุบน้ำมันยางพันตัวแล้วเผาไฟ จากนั้นหนุมานจึงหลอกเผากรุงลงกา เมื่อเผาลงกาสำเร็จเหลือไฟติดอยู่ที่ปลายหางไม่สามารถดับได้จึงไปถามพระนารทฤาษี แนะนำให้ใช้น้ำบ่อน้อยจึงสามารถดับไฟได้ แล้วกลับไปพบองคตชมภูพาน พากันกับไปเฝ้าพระรามทูลความทั้งสิ้นให้พระรามทรงทราบ เมื่อพระรามได้ยินก็ทรงกริ้วต่อว่าหนุมานว่า ใช้ให้หนุมานไปแค่สืบข่าวนางสีดาและแจ้งให้นางสีดาทราบว่ากำลังจะยกทัพไปช่วยเหตุไฉนหนุมานจึงไปทำเกินหน้าที่ ไปเข่นฆ่าลูกทศกัณฑ์ แถมเผากรุงลงกาเสียสิ้น หากทศกัณฑ์เกิดความแค้นขึ้นมา แล้วทำร้ายนางสีดาที่อยู่ในมือทศกัณฑ์ขึ้นมาหนุมานจะรับผิดชอบได้อย่างไร


การทำงานในองค์กร
บุคคลย่อมมีบทบาทแลหน้าที่แตกต่างกัน
บางคนมีบทบาทเป็นหัวหน้า บางคนมีบทบาทเป็นลูกน้อง
หัวหน้าแลลูกน้องจึงมีหน้าที่แตกต่างกัน
หัวหน้าแลลูกน้องจึงมีความรับผิดชอบที่แตกต่างกัน

บุคคลจึงควรทำในบทบาทหน้าที่ในความรับผิดชอบของตน
บุคคลจึง มิพึงกระทำเกินบทบาทหน้าที่
หลายครั้งลูกน้องทำเกินหน้าที่ บังอาจไปทำหน้าที่หัวหน้า
หลายคราหัวหน้าทำเกินหน้าที่ ดันไปทำหน้าที่ลูกน้อง

เป็นองค์กรที่สับสนวุ่นวาย

หมายเหตุ คำว่า ดัน ตามพจนานุกรม ฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ.๒๕๕๔ แปลว่า  ทำสิ่งที่ไม่น่าจะทำ




ไม่มีความคิดเห็น: