วันอาทิตย์ที่ 18 สิงหาคม พ.ศ. 2562

ทักท้วง (รามเกียรติ์ ๐๓๗)


คิดแล้วประณตบทบงสุ์
ทูลองค์พญายักษี
ซึ่งข้าทานทัดทั้งนี้
ด้วยภักดีต่อองค์ภูวไนย
เห็นผิดจากธรรมทศพิธ
จะแกล้งคิดบิดผันนั้นหาไม่
เมื่อมิฟังแล้วก็จนใจ
จะทำตามในพระบัญชา

นางสำมนักขาเพ็ดทูลยอโฉมนางสีดางดงามควรคู่แก่การนำมาครอบครอง ทศกัณฐ์แค่ได้ฟังก็หลงไหล ใคร่อยากได้นางสีดามาครอบครอง พยายามขอความเห็นชอบจากนางมณโฑก็ไม่เห็นตามด้วย ทศกัณฐ์ทนไม่ได้จึงเรียกมารีศมาสั่งการให้แปลงร่างเป็นกวางทองไปล่อหลอกให้นางสีดาเห็นและอยากได้จะทำให้พระรามพระลักษมณ์ไล่ตามจับกวางทอง แล้วทศกัณฐ์จะแอบไปอุ้มนางสีดาหนี มารีศได้ฟังว่าให้ไปล่อหลอกพระรามก็ตกใจแทบสิ้นชีวิต พยายามทูลทัดทานทศกัณฐ์ ว่าไม่ควรหาเรื่องไปต่อกรกับพระราม อาจทำให้สิ้นเผ่าพงศ์ได้ ทศกัณฐ์ไม่ยอมฟังคำทัดทานใด ๆ กลับขู่มารีศว่าหากไม่ยอมดำเนินการ ก็จะฆ่าเสียทั้งโคตร มารีศคิดแล้วจำใจกราบทูลทศกัณฐ์ว่า เมื่อทัดทานด้วยความภักดีแล้วยังมิฟังก็จำใจทำตามพระบัญชา แม้จะต้องตัวตาย ก็ขอฝากลูกเมียให้ทศกัณฐ์ดูแลด้วย

ผู้ใต้บังคับบัญชาย่อมยินยอมปฏิบัติตามคำสั่งของผู้บังคับบัญชา

เมื่อใดที่ผู้ใต้บังคับบัญชาบังอาจทักท้วงคำสั่ง ย่อมหมายถึงได้ไตร่ตรองอย่างรอบคอบแล้ว

เมื่อใดที่ผู้ใต้บังคับบัญชาบังอาจทักท้วงคำสั่ง ย่อมหมายถึงปัญหารุนแรง ที่อาจเกิดขึ้นจากคำสั่งที่ผิดพลาดของผู้บังคับบัญชา

เมื่อใดที่ผู้ใต้บังคับบัญชาบังอาจทักท้วงคำสั่ง ย่อมหมายถึงได้ใช้ความกล้าอย่างมหาศาล

เป็นผู้บริหาร จึงพึงมีเหตุผล
เป็นผู้บริหาร จึงพึงใช้เหตุผล
เป็นผู้บริหาร พึงฟังคำทักท้วงของผู้ใต้บังคับบัญชา
เป็นผู้บริหาร พึงใคร่ครวญคำทักท้วงของผู้ใต้บังคับบัญชา

หลายครั้ง เหตุผลของผู้ใต้บังคับบัญชาดีกว่าผู้บังคับบัญชา



ไม่มีความคิดเห็น: