วันเสาร์ที่ 9 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2562

รับผิด (รามเกียรติ์ ๐๑๐)


เมื่อนั้น
พระโคบุตรผู้มีอัชฌาสัย
ได้ฟังก็ปลอบตอบไป
พระองค์จงได้เมตตา
อันทศพักตร์นี้ทำผิด
ชีวิตถึงสิ้นสังขาร์
มันเป็นศิษย์รูปแต่เยาว์มา
ขอประทานชีวาอสุรี

นนทกโดนพระนารายณ์สังหาร ไปเกิดเป็นบุตรท้าวลัสเตียนมีสิบเศียรยี่สิบกร นามว่าทศกัณฐ์ เมื่อทศกัณฐ์อายุได้สิบสี่ปี ได้ขอพระบิดามารดาไปศึกษาวิชากับพระโคบุตรดาบส เมื่อศึกษาจบทุกกระบวนวิชาแล้วก็กราบนมัสการลาไปท่องเที่ยวพบสวนผลไม้หลากหลายนานาชนิด ทศกัณฐ์ก็เที่ยวเก็บหักกิ่งจนสวนพังไปทั่ว พระอรชุนผู้เป็นเจ้าของมาพบเข้าก็โกรธร้องด่าทศกัณฐ์ หากทศกัณฐ์ปากกล้าด่ากลับ และเกิดการต่อสู้กัน พระอรชุนชักศรแผลงยิง ศรกลายเป็นนาครัดตัวทศกัณฐ์ไว้ ฝ่ายพระโคบุตรดาบสเข้าฌานสมาธิอยู่ได้ยินเสียงก็ตกใจ เอะใจว่าทศกัณฐ์น่าจะเกิดเรื่องจึงรีบตามไปพบทศกัณฐ์ถูกพระอรชุนจับไว้ จึงเอ่ยขอกับพระอรชุนว่า ทศกัณฐ์ผิดสมควรตาย และร้องขอชีวิต พระอรชุนเห็นแก่พระโคบุตรดาบส จึงยอมปล่อยตัวทศกัณฐ์ไป

ผู้ปฏิบัติอาจทำผิดได้
ผู้บริหารก็อาจทำผิดได้
อย่าพึงคิดว่าตนเองเป็นผู้บริหาร ทำผิดไม่ได้
อย่าพึงคิดว่าตนเองเป็นใหญ่ ไม่อาจทำผิด
ทุกผู้คนล้วนอาจทำผิด

การทำผิดอาจเกิดจากความไม่ตั้งใจ
การทำผิดอาจเกิดจากความตั้งใจ
เมื่อรู้ตัวว่าทำผิด พึงยอมรับผิด
ทำผิดยอมรับผิด รู้จักขอโทษ ผู้คนก็ยกโทษให้ได้

ทำผิดแล้วดันทุรัง ทำผิดแล้วไม่ยอมรับผิด จึงเป็นความผิดซ้ำซ้อน
ทำผิดรู้ตัวว่าผิด รู้จักขอโทษ จึงอภัยให้ได้
ทำผิดไม่รู้ตัวว่าผิด ไม่ยอมรับผิด ไม่รู้จักขอโทษ สมควรถูกลงโทษ

ผู้บริหารไม่รู้ตัวว่าผิด ไม่ยอมรับผิด ไม่รู้จักขอโทษ
แม้ยังคงสภาพผู้บริหาร แต่ก็หมดราคา


ไม่มีความคิดเห็น: