"หากต้องการพิสูจน์ข้อเท็จจริงประการหนึ่ง
ต้องดูจากแง่มุมที่ผิดแผกแตกต่าง"
ดาบมรกต
โกวเล้ง-น.นพรัตน์
คนย่อมมีความเป็นปัจเจก
การกระทำใด ๆ ของคนย่อมมาจากความคิดที่เป็นปัจเจก
การตีความเรื่องใด ๆ จึงมาจากความเฉพาะตัวของคน
ความคิดเห็นในเรื่องเดียวกัน จึงมีความหลากหลาย
ความคิดเห็นของหมู่คนที่เห็นพร้องต้องกัน แม้มาจากปัจเจกที่หลากหลาย ย่อมเกิดจากเหตุสองประการ
หนึ่ง คือความเป็นจริง อันมิสามารถใช้ปัจเจกความคิดได้
หนึ่ง คือความหลอกลวง อันเกิดจากการครอบงำ
เมื่อต้องการพิสูจน์ จึงต้อง มอง คิด ด้วยแง่มุมที่ผิดแผกแตกต่างจากปัจเจกของตน
ต้นเรื่อง
ชุดอาวุธของโกวเล้ง เป็นนวนิยายรวม 7 เรื่อง ว่ากันว่าโกวเล้งตั้งใจเขียนเพียง 2 เรื่องในชุดเท่านั้น คือ กระบี่อมตะ และ เดชขนนกยูง แล้วหยุดเขียนไป แต่กระแสส่วนใหญ่อ้างอิงจากภาพยนตร์โทรทัศน์และหนังสือจึงจัดชุดอาวุธของโกวเล้งเป็น 7 เรื่องราวประกอบด้วย
กระบี่อมตะ สำนวน ว. ณ เมืองลุง (สำนวน น.นพรัตน์ ใช้ชื่อว่า กระบี่ยั่งยืนยาว) ; เดชขนนกยูง สำนวน ว. ณ เมืองลุง (สำนวน น.นพรัตน์ ใช้ชื่อว่า ขนนกยูง) ; ดาบมรกต ; แค้นสั่งฟ้า ; ยอดมือปราบ ; ตะขอจำพราก และ ทวนทมิฬ
บางท่านบอกว่า สาระของอาวุธทั้งเจ็ดของโกวเล้งมิได้อยู่ที่ตัวอาวุธ หากแต่เป็นการบอกเล่าบุคลิกนิสัยที่แตกต่างของมนุษย์ในยุทธจักร จึงเป็นเรื่องที่น่าติดตาม
ดาบมรกต เป็นเรื่องราวของ ตวนเง็ก พกพาดาบมรกตเจ็ดดาว มุ่งมั่นจะไปปฏิบัติภารกิจสำคัญ แต่ต้องเผชิญกับเหตุการณ์ทำร้ายสตรีต่อหน้า ตวนเง็กมิอาจเย็นชาเมินเฉย แม้จะต้องประสบภัยคุกคามชีวิต ตวนเง็กสามารถเอาชนะศัตรูอันเข้มแข็งได้ มิใช่เพียงจากดาบเจ็ดดาว แต่จากสัตยธรรม แลคุณธรรม
จินตนาการจากการอ่าน ช่างเพริศแพร้วยิ่งกว่าสิ่งใด
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น