วันเสาร์ที่ 3 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2561

แยกก๊กรวมก๊ก

๒๐๐

แยกออกเป็นสามก๊ก แล้วก็รวมเข้าเป็นก๊กเดียวกัน

สามก๊ก เจ้าพระยาพระคลัง(หน) ตอนที่ ๘๗

          สุมาเจียวถึงแก่ความตาย ขุนนางทั้งปวงตั้งให้สุมาเอี๋ยนเจ้าชีจู้เป็นที่จีนอ๋องแทนบิดา สุมาเอี๋ยนชิงเอาราชสมบัติจากพระเจ้าโจฮวน ฝ่ายพระเจ้าซุนฮิวแจ้งกิตติศัพท์ดังนั้นก็ทุกข์พระทัยเกรงสุมาเอี๋ยนจะยกมาตีเมืองกังตั๋ง จนพระประชวรหนักลงถึงแก่ความตาย ขุนนางเห็นพร้อมกันยกซุนโฮหลานพระเจ้าซุนกวนขึ้นครองราชย์สมบัติ ต่อมาพระเจ้าซุนโฮคิดยกไปตีเมืองวุยก๊ก แต่พ่ายแพ้แต่พระเจ้าสุมาเอี๋ยน พระเจ้าซุนโฮจึงยอมคำนับต่อพระเจ้าสุมาเอี๋ยน แลเรื่องราวสามก๊กนี้เป็นธรรมดาแผ่นดินมีความสุขก็นานแล้ว ก็ได้ความเดือดร้อนแล้วก็ได้ความสุขเล่า แลกระจายกันออกเป็นแว่นแคว้นแดนประเทศของตัวแล้วก็กลับรวมเข้า แยกออกเป็นสามก๊ก แล้วก็รวมเข้าเป็นก๊กเดียวกัน ชื่อว่าเมืองไต้จิ๋น พระเจ้าสุมาเอี๋ยนเสวยราชย์ได้สองปี พระเจ้าโจฮวนก็ถึงแก่ความตาย ครั้งถ้วนสี่ปีพระเจ้าซุนโฮถึงแก่ความตาย ครั้งเสวยราชย์ได้เจ็ดปีพระเจ้าเล่าเสี้ยนถึงแก่ความตาย โดยบรรยายเรื่องราวสามก๊กนี้ก็บริบูรณ์

ตลอดเรื่องสามก๊ก มีแต่รบราฆ่าฟัน
ตลอดเรื่องสามก๊ก มีแต่แก่งแย่งชิงดี
ตลอดเรื่องสามก๊ก มีแต่ชิงไหวชิงพริบ
ตลอดเรื่องสามก๊ก มีแต่แย่งชิงกันเป็นใหญ่

แผ่นดินได้ความเดือดร้อนแล้วก็มีความสุข มีความสุขแล้วก็เดือดร้อน
ยามรบแผ่นดินย่อมเดือดร้อน ไร้ศึกประชาชนจึงมีความสุข
เดือดร้อนหรือมีความสุข มิได้ขึ้นกับสามก๊กหรือก๊กเดียว
เดือดร้อนหรือมีความสุข จึงอยู่ที่มีศึกหรือไร้ศึก

จึงประชาชนมิได้อะไรกับการแยกเป็นสามก๊ก
จึงประชาชนมิได้อะไรกับการรวมเป็นก๊กเดียว

หลายองค์กรปรับโครงสร้าง
บ้างแยกหน่วยงาน บ้างรวมหน่วยงาน
แยกงานแยกหน่วยงาน แยกเพื่ออะไร
รวมงานรวมหน่วยงาน รวมเพื่ออะไร

แยกเพื่องานรวมเพื่องาน หรือแยกเพื่อตำแหน่งรวมเพื่อตำแหน่ง
แยกเพื่องานรวมเพื่องาน หรือแยกเพื่อผลประโยชน์รวมเพื่อผลประโยชน์

ประชาชนได้อะไรกับการแยกงานรวมงาน
ประชาชนได้อะไรกับการแยกหน่วยงานรวมหน่วยงาน
อย่าอ้างประชาชนเพื่อประโยชน์ของตนเอง




สามก๊ก อ่านสามจบ ยังคบได้

          มีคำกล่าวล่ำลือถึงความเป็น สุดยอดตำราทางยุทธศาสตร์ ของ สามก๊ก ว่า อ่านสามจบคบไม่ได้  ฟังดูก็ไม่เชิงว่าจะเป็นการนิยมยกย่องสักเท่าไร เพราะเหตุที่คบไม่ได้ มิใช่ว่าจะเป็นคนเก่งกล้าสามารถ แต่หากจะเป็นคน เจ้าเล่ห์แสนกล ด้วยสามก๊กนั้นเต็มไปด้วยกลอุบาย หรือที่คบไม่ได้อาจเป็นเพราะ ท่าทางจะเป็นคนโง่เหลือกำลัง ที่ทนอ่านอยู่ได้ตั้งสามจบ
          ผู้เขียนเองก็นับว่าอ่านสามก๊กมามากกว่าสามจบ ทั้งฉบับ เจ้าพระยาพระคลัง(หน) ฉบับ วรรณไว พัธโนทัย ฉบับ ยาขอบ และฉบับ มรว.คึกฤทธิ์ ปราโมช อ่านแล้วก็ลืม ลืมแล้วก็อ่าน อ่านทุกครั้งก็สนุกทุกครั้ง ไม่วิเคราะห์ไม่คิดมากให้เสียเวลา อ่านเอาสนุก อ่านเป็นนิยาย
          ก็คนเขียนเขาเขียนเป็นนิยาย จะไปอ่านเอาสาระทำไมกัน หาก หลอกว้านจง ผู้ประพันธ์ รู้เข้าก็คงจะงุนงงเป็นยิ่งนักที่สามก๊กกลายเป็นตำราพิชัยสงคราม ตำราการบริหารเชิงยุทธศาสตร์ ไปได้

          ผู้เขียนฟัง อาปา เล่าเรื่องสามก๊กให้ฟังมาตั้งแต่เด็ก ส่วนใหญ่เป็นเรื่องไหวพริบของตัวละครต่างๆในสามก๊ก ซึ่งก็เป็นเหตุทำให้ผู้เขียนสนใจอ่านสามก๊กเพื่อไปค้นหาข้อความที่อาปาเล่า ฉบับแรกที่อ่านก็เป็นฉบับ เจ้าพระยาพระคลัง(หน) เล่มใหญ่หนาที่บ้านอาโกว 
          มานึกได้วันหนึ่งว่า น่าจะลองอ่านสามก๊กใหม่อีกสักหน คราวนี้จะลองอ่านแบบ อ่านเอาเรื่อง อ่านตรงที่คนอื่นเขาไม่อ่านกัน เพื่อยืนยันว่าอ่านอีกกี่จบก็น่าจะ ยังคบได้


3 ความคิดเห็น:

Boonchai65 กล่าวว่า...

ความตั้งใจที่จะอ่าน สามก๊ก แบบ อ่านเอาเรื่อง อ่านตรงที่คนอื่นเขาไม่อ่านกัน เพื่อยืนยันว่าอ่านอีกกี่จบก็น่าจะยังคบได้ เริ่มเมื่อ 29 กุมภาพันธ์ 2555 และได้บันทึกการอ่านตั้งแต่ตอนที่ 1 สุขแล้วศึก ศึกแล้วสุข เมื่อวันที่ 5 มีนาคม 2555 ด้วยประโยคเริ่มต้นของนิยายสามก๊ก... เดิมแผ่นดินเมืองจีนทั้งปวงนั้น เป็นสุขมาช้านานแล้วก็เป็นศึก ครั้นศึกสงบแล้วก็เป็นสุข...ใช้เวลารวมทั้งสิ้น 5 ปี 11 เดือน 5 วัน เป็นอันจบลงในวันนี้ 3 กุมภาพันธ์ 2561 เป็นตอนที่ 200 แยกก๊กรวมก๊ก ด้วยข้อความในวรรคสุดท้ายของนิยายสามก๊ก...แลเรื่องราวสามก๊กนี้เป็นธรรมดาแผ่นดินมีความสุขก็นานแล้ว ก็ได้ความเดือดร้อนแล้วก็ได้ความสุขเล่า แลกระจายกันออกเป็นแว่นแคว้นแดนประเทศของตัวแล้วก็กลับรวมเข้า แยกออกเป็นสามก๊ก แล้วก็รวมเข้าเป็นก๊กเดียวกัน...

Boonchai65 กล่าวว่า...

ผู้เขียนใช้วิธีอ่านสามก๊กรอบท้ายสุด ด้วยการหาข้อความสะดุดใจแบบ อ่านเอาเรื่อง แล้วบันทึกไว้จำนวน 200 ตอนตั้งแต่แรก หลายตอนได้บันทึกร่างแนวคิดที่จะเขียนไว้ล่วงหน้า หลายตอนเมื่อจะเขียนค่อยคิดตีความ เป็นที่อัศจรรย์ที่แต่ละตอนจะบังเอิญให้สอดคล้องกับสถานการณ์ขณะเขียน ที่ช่วงแรกเขียนเมื่ออยากเขียน ภายหลังจึงบังคับตนเองให้เขียนสัปดาห์ละตอน ผู้ติดตามอ่านหลายท่านจึงคาดเดาว่าผู้เขียนผูกประเด็นตามเหตุการณ์

Boonchai65 กล่าวว่า...

ความจริงก็คงเป็นเพราะเขียนตามเวลา สถานการณ์ในขณะนั้นจึงชักจูงแนวคิดให้เขียนไปตามสถานการณ์