วันเสาร์ที่ 20 มกราคม พ.ศ. 2561

ยอมรับผู้อื่น

๑๙๘ 


ธรรมเนียมมีหรือเป็นกษัตริย์จะไปคำนับผู้อื่น 

สามก๊ก เจ้าพระยาพระคลัง(หน) ตอนที่ ๘๖ 

          ฝ่ายพระเจ้าเล่าเสี้ยนแจ้งว่าจูกัดเจี๋ยมพ่อลูกตาย ทหารเตงงายล่วงเข้ามาใกล้เมือง ก็ตกใจพระองค์สั่นตะลึงไป ขุนนางทั้งปวงจึงทูลให้ยกหนีไปทางทิศใต้ ไปคำนับเมืองกันตั๋งขอกำลังมาช่วยจะได้คิดทำการต่อไป เจียวจิ๋วจึงทูลว่า อันธรรมเนียมโบราณซึ่งจะตั้งตัวเป็นเจ้าแผ่นดินนั้น จะได้อาศัยกำลังผู้อื่นหามิได้ ย่อมเพียรพยายามได้เป็นดีด้วยปัญญาความคิดแลกำลังของตัว กันตั๋งเองก็จะเสียแก่วุยก๊กเป็นมั่งคง เมื่อนานไปก็จะต้องไปคำนับวุยก๊กแล้ว ก็สู้ไปเสียครั้งนี้จะได้อายแต่ครั้งเดียว พระเจ้าเล่าเสี้ยนก็เห็นชอบด้วย ขณะนั้นฝ่าย เล่ายอย เล่าเดียว เล่าจ้อง เล่าจ้าน เล่าสุน เล่ากี๋ ผู้บุตรเล่าเสี้ยนทั้งหกคนจะทัดทานประการใดไม่ แต่เล่าขำผู้บุตรที่ห้าจึงว่าแก่เจียวจิ๋วว่า ธรรมเนียมมีหรือเป็นกษัตริย์จะไปคำนับผู้อื่น ถึงมาตรว่าจะตายก็ควรจะสู้เสียชีวิต จะนบนอบแก่ข้าศึกหาควรไม่


คนมีความแตกต่าง คนจึงมีความสามารถที่แตกต่าง
คนไม่ว่าจะเป็นเจ้าหรือเป็นข้า ย่อมมีความสามารถที่แตกต่าง
เมื่อมีความสามารถที่แตกต่าง จึงต้องยอมรับความสามารถที่แตกต่าง

ข้าพึงยอมรับความสามารถของเจ้า
เจ้าพึงยอมรับความสามารถของข้า
ข้ายอมรับความสามารถของเจ้า ย่อมยอมรับได้ง่าย
เจ้ายอมรับความสามารถของข้า จึงยอมรับได้ยาก

การยอมรับความสามารถของผู้อื่น เป็นคุณสมบัติสำคัญของคนเป็นเจ้า

คนทำงาน พึงยอมรับความสามารถของผู้อื่น
อย่าเก่งคนเดียว


สามก๊ก อ่านสามจบ ยังคบได้

          มีคำกล่าวล่ำลือถึงความเป็น สุดยอดตำราทางยุทธศาสตร์ ของ สามก๊ก ว่า อ่านสามจบคบไม่ได้  ฟังดูก็ไม่เชิงว่าจะเป็นการนิยมยกย่องสักเท่าไร เพราะเหตุที่คบไม่ได้ มิใช่ว่าจะเป็นคนเก่งกล้าสามารถ แต่หากจะเป็นคน เจ้าเล่ห์แสนกล ด้วยสามก๊กนั้นเต็มไปด้วยกลอุบาย หรือที่คบไม่ได้อาจเป็นเพราะ ท่าทางจะเป็นคนโง่เหลือกำลัง ที่ทนอ่านอยู่ได้ตั้งสามจบ
          ผู้เขียนเองก็นับว่าอ่านสามก๊กมามากกว่าสามจบ ทั้งฉบับ เจ้าพระยาพระคลัง(หน) ฉบับ วรรณไว พัธโนทัย ฉบับ ยาขอบ และฉบับ มรว.คึกฤทธิ์ ปราโมช อ่านแล้วก็ลืม ลืมแล้วก็อ่าน อ่านทุกครั้งก็สนุกทุกครั้ง ไม่วิเคราะห์ไม่คิดมากให้เสียเวลา อ่านเอาสนุก อ่านเป็นนิยาย
          ก็คนเขียนเขาเขียนเป็นนิยาย จะไปอ่านเอาสาระทำไมกัน หาก หลอกว้านจง ผู้ประพันธ์ รู้เข้าก็คงจะงุนงงเป็นยิ่งนักที่สามก๊กกลายเป็นตำราพิชัยสงคราม ตำราการบริหารเชิงยุทธศาสตร์ ไปได้

          ผู้เขียนฟัง อาปา เล่าเรื่องสามก๊กให้ฟังมาตั้งแต่เด็ก ส่วนใหญ่เป็นเรื่องไหวพริบของตัวละครต่างๆในสามก๊ก ซึ่งก็เป็นเหตุทำให้ผู้เขียนสนใจอ่านสามก๊กเพื่อไปค้นหาข้อความที่อาปาเล่า ฉบับแรกที่อ่านก็เป็นฉบับ เจ้าพระยาพระคลัง(หน) เล่มใหญ่หนาที่บ้านอาโกว 
          มานึกได้วันหนึ่งว่า น่าจะลองอ่านสามก๊กใหม่อีกสักหน คราวนี้จะลองอ่านแบบ อ่านเอาเรื่อง อ่านตรงที่คนอื่นเขาไม่อ่านกัน เพื่อยืนยันว่าอ่านอีกกี่จบก็น่าจะ ยังคบได้


ไม่มีความคิดเห็น: