วันเสาร์ที่ 18 พฤศจิกายน พ.ศ. 2560

สถานการณ์

๑๘๙

เป็นธรรมดาชาติทหารหารักชีวิตผู้อื่นไม่
คิดแต่จะรักษาชีวิตตัวไว้ให้ได้

สามก๊ก เจ้าพระยาพระคลัง(หน) ตอนที่ 79

          พระเจ้าโจยอยประชวรหนัก ฝากฝังสุมาอี้ให้ช่วยดูแลโจฮองผู้เอามาเลี้ยงเป็นบุตรขึ้นครองราชย์สมบัติ และให้โจชองบุตรโจจิ๋นช่วยว่าราชการ แล้วก็สิ้นใจ สุมาอี้กับโจชองแลขุนนางทั้งปวงก็แต่งการตั้งโจฮองให้เสวยราชสมบัติ อยู่มาโฮอั๋นคนสนิทโจชองว่าแก่โจชองว่า เพราะสุมาอี้ โจจิ๋นบิดาโจชองจึงได้ความเจ็บแค้นถึงแก่ความตาย โจชองจึงทูลพระเจ้าโจฮองให้เลื่อนสุมาอี้เป็นอาจารย์ แลให้โจชองเป็นที่อุปราชแทน จะได้ไม่วุ่นวายสั่งการโจชองอีก สุมาอี้จึงแกล้งทำป่วยมิได้เข้าเฝ้า โจชองก็มีใจกำเริบทำการหยาบช้าต่าง ๆ แต่ยังคงระแวงสุมาอี้ส่งหลีซินไปดูอาการว่าป่วยจริงหรือไม่ เมื่อโจชวนทูลเชิญพระเจ้าโจฮองเสด็จออกไล่เนื้อ สุมาอี้ก็พาทหารล้อมจวนโจชวนไว้แล้วให้คนถือหนังสือไปถวายพระเจ้าโจฮองว่า โจชองแลทหารพรรคพวกคุมเหงขุนนางผู้ใหญ่ผู้น้อย แลราษฎรทั้งปวงได้ความเดือดร้อนเป็นอันมาก โจชวนแจ้งดังนั้นก็ตกใจนัก พอฮวนห้อมควบม้าไปถึง โจชองถามถึงการเมือง ฮวนห้อมจึงว่าสุมาอี้คิดขบถแล้วให้โจชวนเร่งเชิญเสด็จพระเจ้าโจฮองไปเมืองฮูโต๋เถิด โจชองยังเป็นห่วงถามหาบุตรภรรยา ฮวนห้อมจึงว่า อย่ามัวแต่ห่วงบุตรภรรยา เป็นธรรมดาชาติทหารหารักชีวิตผู้อื่นไม่ คิดแต่จะรักษาชีวิตตัวไว้ให้ได้

ในการศึก 
แม่ทัพหากเสียชีวิต กองทัพย่อมพ่ายแพ้
เป็นแม่ทัพ เพื่อรักษาสถานะในการศึก พึงรักษาชีวิตตัว
เป็นแม่ทัพ ต้องรักษาชีวิตตัว มากกว่าชีวิตทหาร
นอกการศึก แม่ทัพพึงรักษาชีวิตแลน้ำใจทหาร

รู้จักแยกแยะบทบาท ภาระหน้าที่ เวลา แลสถานการณ์

การทำงาน
ยามทำงาน พึงยึดมั่นอยู่กับงาน
ยามพักผ่อน พึงพักผ่อนตามสภาวะ

หลายคน เวลางาน ชมชอบพักผ่อน หาความรื่นเริง
หลายคน เวลาพัก ชมชอบเอางานมาทำ
หลายคน เวลาพัก ชมชอบสั่งงานผู้ใต้บังคับบัญชา

รู้จักแยกแยะบทบาท ภาระหน้าที่ เวลา แลสถานการณ์


สามก๊ก อ่านสามจบ ยังคบได้

          มีคำกล่าวล่ำลือถึงความเป็น สุดยอดตำราทางยุทธศาสตร์ ของ สามก๊ก ว่า อ่านสามจบคบไม่ได้  ฟังดูก็ไม่เชิงว่าจะเป็นการนิยมยกย่องสักเท่าไร เพราะเหตุที่คบไม่ได้ มิใช่ว่าจะเป็นคนเก่งกล้าสามารถ แต่หากจะเป็นคน เจ้าเล่ห์แสนกล ด้วยสามก๊กนั้นเต็มไปด้วยกลอุบาย หรือที่คบไม่ได้อาจเป็นเพราะ ท่าทางจะเป็นคนโง่เหลือกำลัง ที่ทนอ่านอยู่ได้ตั้งสามจบ
          ผู้เขียนเองก็นับว่าอ่านสามก๊กมามากกว่าสามจบ ทั้งฉบับ เจ้าพระยาพระคลัง(หน) ฉบับ วรรณไว พัธโนทัย ฉบับ ยาขอบ และฉบับ มรว.คึกฤทธิ์ ปราโมช อ่านแล้วก็ลืม ลืมแล้วก็อ่าน อ่านทุกครั้งก็สนุกทุกครั้ง ไม่วิเคราะห์ไม่คิดมากให้เสียเวลา อ่านเอาสนุก อ่านเป็นนิยาย
          ก็คนเขียนเขาเขียนเป็นนิยาย จะไปอ่านเอาสาระทำไมกัน หาก หลอกว้านจง ผู้ประพันธ์ รู้เข้าก็คงจะงุนงงเป็นยิ่งนักที่สามก๊กกลายเป็นตำราพิชัยสงคราม ตำราการบริหารเชิงยุทธศาสตร์ ไปได้

          ผู้เขียนฟัง อาปา เล่าเรื่องสามก๊กให้ฟังมาตั้งแต่เด็ก ส่วนใหญ่เป็นเรื่องไหวพริบของตัวละครต่างๆในสามก๊ก ซึ่งก็เป็นเหตุทำให้ผู้เขียนสนใจอ่านสามก๊กเพื่อไปค้นหาข้อความที่อาปาเล่า ฉบับแรกที่อ่านก็เป็นฉบับ เจ้าพระยาพระคลัง(หน) เล่มใหญ่หนาที่บ้านอาโกว 
          มานึกได้วันหนึ่งว่า น่าจะลองอ่านสามก๊กใหม่อีกสักหน คราวนี้จะลองอ่านแบบ อ่านเอาเรื่อง อ่านตรงที่คนอื่นเขาไม่อ่านกัน เพื่อยืนยันว่าอ่านอีกกี่จบก็น่าจะ ยังคบได้


ไม่มีความคิดเห็น: