วันจันทร์ที่ 27 กรกฎาคม พ.ศ. 2558

เรือนไม่มีพื้น

๑๐๗

อันธรรมดาเกิดมาเป็นชาย ครั้นมิได้มีแม่เรือน
จะทำการสิ่งใดก็มักจะขัดขวางไม่ใคร่จะสำเร็จ
เสมือนเรือนไม่มีพื้น


สามก๊ก เจ้าพระยาพระคลัง(หน) ตอนที่ 45


ซุนกวนให้ลิห้อมมาลวงเล่าปี่ว่าจะยกนางซุนฮูหยินน้องสาวซุนกวนให้ตบแต่งด้วย
ลิห้อมว่าแก่เล่าปี่ว่า เมื่อเล่าปี่สูญเสียนางกำฮูหยินไปแล้วนั้น ก็ขาดแม่เรือน จะทำ
การสิ่งใดก็มักจะขัดขวางไม่ใคร่จะสำเร็จ เสมือนเรือนไม่มีพื้น


เรือน ต้องมีเสา มีรอด มีตง
เสา รอด ตง เป็นองค์ประกอบสำคัญของโครงสร้าง
โครงสร้างที่แข็งแรง เรือนจึงตั้งตรง ยืนหยัดอยู่ได้

เรือนต้องมีหลังคา หลังคาใช้กันแดดกันฝน
เรือนต้องมีพื้น พื้นใช้อยู่อาศัย

เรือนมีเสา มีรอด มีตง มีหลังคา
หากไม่มีพื้น ก็เป็นเรือนที่ไม่สามารถใช้อยู่อาศัย
เรือนไม่มีพื้น จึงไม่มีประโยชน์อันใดในความเป็นเรือน

องค์กร ต้องมีระบบ มีสายงานบังคับบัญชา มีผู้บริหาร เป็นโครงสร้าง
โครงสร้างที่แข็งแรง องค์กรจึงยืนหยัดอยู่ได้

องค์กร ต้องมีผู้ปฏิบัติงาน ผู้ปฏิบัติงานประดุจพื้นเรือน
มีโครงสร้าง มีสายงานบังคับบัญชา มีผู้บริหาร แต่ไม่มีผู้ปฏิบัติงาน
ก็เป็นเช่น เรือนไม่มีพื้น

องค์กรไม่มีผู้ปฏิบัติงาน จึงไม่มีประโยชน์อันใดในความเป็นองค์กร

เรือนมีพื้น ไม่ดูแลรักษา ปล่อยให้ปลวกขึ้น พื้นผุพังไป
ก็ไม่ต่างอะไรกับเรือนไม่มีพื้น

องค์กรที่ปล่อยปละละเลยให้ผู้ปฏิบัติผุพัง ไม่ทำหน้าที่ในบทบาทของตน
ก็ไม่ต่างอะไรกับพื้นเรือนที่ถูกปลวกขึ้น

บางองค์กร ปลวกขึ้นทั้งสายงาน ทั้งพื้น ทั้งเสา ทั้งรอด ทั้งตง



สามก๊ก อ่านสามจบ ยังคบได้

มีคำกล่าวล่ำลือถึงความเป็น สุดยอดตำราทางยุทธศาสตร์ ของ สามก๊ก ว่า อ่านสามจบคบไม่ได้  ฟังดูก็ไม่เชิงว่าจะเป็นการนิยมยกย่องสักเท่าไร เพราะเหตุที่คบไม่ได้ มิใช่ว่าจะเป็นคนเก่งกล้าสามารถ แต่หากจะเป็นคน เจ้าเล่ห์แสนกล ด้วยสามก๊กนั้นเต็มไปด้วยกลอุบาย หรือที่คบไม่ได้อาจเป็นเพราะ ท่าทางจะเป็นคนโง่เหลือกำลัง ที่ทนอ่านอยู่ได้ตั้งสามจบ


ผู้เขียนเองก็นับว่าอ่านสามก๊กมามากกว่าสามจบ ทั้งฉบับ เจ้าพระยาพระคลัง(หน) ฉบับ วรรณไว พัธโนทัย ฉบับ ยาขอบ และฉบับ มรว.คึกฤทธิ์ ปราโมช อ่านแล้วก็ลืม ลืมแล้วก็อ่าน อ่านทุกครั้งก็สนุกทุกครั้ง ไม่วิเคราะห์ไม่คิดมากให้เสียเวลา อ่านเอาสนุก อ่านเป็นนิยาย

ก็คนเขียนเขาเขียนเป็นนิยาย จะไปอ่านเอาสาระทำไมกัน หาก หลอกว้านจง ผู้ประพันธ์ รู้เข้าก็คงจะงุนงงเป็นยิ่งนักที่สามก๊กกลายเป็นตำราพิชัยสงคราม ตำราการบริหารเชิงยุทธศาสตร์ ไปได้

ผู้เขียนฟัง อาปา เล่าเรื่องสามก๊กให้ฟังมาตั้งแต่เด็ก ส่วนใหญ่เป็นเรื่องไหวพริบของตัวละครต่างๆในสามก๊ก ซึ่งก็เป็นเหตุทำให้ผู้เขียนสนใจอ่านสามก๊กเพื่อไปค้นหาข้อความที่อาปาเล่า ฉบับแรกที่อ่านก็เป็นฉบับ เจ้าพระยาพระคลัง(หน) เล่มใหญ่หนาที่บ้านอาโกว 

มานึกได้วันหนึ่งว่า น่าจะลองอ่านสามก๊กใหม่อีกสักหน คราวนี้จะลองอ่านแบบ อ่านเอาเรื่อง อ่านตรงที่คนอื่นเขาไม่อ่านกัน เพื่อยืนยันว่าอ่านอีกกี่จบก็น่าจะ ยังคบได้

ไม่มีความคิดเห็น: