วันศุกร์ที่ 29 สิงหาคม พ.ศ. 2557

เรียกลมให้เรือเสีย



๙๒

ดีแต่จะเรียกลมให้เรือเสีย


สามก๊ก เจ้าพระยาพระคลัง(หน) ตอนที่ 38

ขงเบ้งเกลี้ยกล่อมจนซุนกวนคิดรบกับโจโฉ เตียวเจียวกับที่ปรึกษาทั้งปวง
พยายามเกลี้ยกล่อมให้ซุนกวนไม่หลงเชื่อขงเบ้ง ซุนกวนได้ฟังก็นิ่งอยู่
เตียวเจียวกับที่ปรึกษาก็อำลาพากันออกมา โลซกจึงเข้าไปว่าแก่ซุนกวนว่า
เตียวเจียวกับพวกห้ามซุนกวนมิให้ต่อสู้ หวังให้ไปอ่อนน้อมกับโจโฉ
ก็เพื่อจะรักษาครอบครัวของตัวเอาความสุข หาเจ็บร้อนด้วยซุนกวนไม่
ดีแต่จะเรียกลมให้เรือเสีย ขออย่าให้ซุนกวนเชื่อถ้อยคำคนทั้งปวงเลย

เรือใบ ต้องอาศัยแรงลม จึงจะแล่นไปได้
ไต้ก๋ง ย่อมเป็นผู้สั่งการชักใบเรือให้สัมพันธ์กับทิศทางลม

การสั่งการของไต้ก๋งต้องอาศัยทั้ง ความรู้และประสบการณ์

หากชักใบเรือไม่สัมพันธ์กับลม เรือไม่เพียงไม่เดินหน้า แต่อาจล่มอับปางลง

ไต้ก๋งที่ไม่รู้จริง ไม่มีประสบการณ์จริง สั่งชักใบเรือผิด

แม้มีลูกเรือที่มีความสามารถสูง ก็มิอาจนำเรือแล่นฝ่าคลื่นลมไปได้
ผู้บริหารที่ไม่รู้จริง ไม่มีประสบการณ์จริง จึงมิอาจนำองค์กรไปได้

ลูกเรือที่ดื้อรั้น ไม่ฟังคำสั่งไต้ก๋ง ชักใบให้เรือเสีย

ผู้ปฏิบัติที่ไม่ทำตามนโยบาย ไม่ทำตามแผนงาน ไม่ทำตามคำมอบหมายของผู้บริหาร
จึงอาจทำให้งานไม่ประสบผลสำเร็จ ปะเหมาะเคราะห์ร้าย งานผิดพลาดเสียหายใหญ่โต

บางคนอุตริ เรียกลมได้

เรียกลมมา ไม่สัมพันธ์กับใบเรือ เรียกลมให้เรือเสีย
ผู้ปฏิบัติที่รู้มาก รู้ดี ชอบทำเกินบทบาท เกินหน้าที่ ตีรวน แทนที่งานจะได้ดี อาจกลับพังพินาศ

ชักใบให้เรือเสีย เรียกลมให้เรือเสีย ล้วนเป็นตัวถ่วงองค์กร




สามก๊ก อ่านสามจบ ยังคบได้

มีคำกล่าวล่ำลือถึงความเป็น สุดยอดตำราทางยุทธศาสตร์ ของ สามก๊ก ว่า อ่านสามจบคบไม่ได้  ฟังดูก็ไม่เชิงว่าจะเป็นการนิยมยกย่องสักเท่าไร เพราะเหตุที่คบไม่ได้ มิใช่ว่าจะเป็นคนเก่งกล้าสามารถ แต่หากจะเป็นคน เจ้าเล่ห์แสนกล ด้วยสามก๊กนั้นเต็มไปด้วยกลอุบาย หรือที่คบไม่ได้อาจเป็นเพราะ ท่าทางจะเป็นคนโง่เหลือกำลัง ที่ทนอ่านอยู่ได้ตั้งสามจบ


ผู้เขียนเองก็นับว่าอ่านสามก๊กมามากกว่าสามจบ ทั้งฉบับ เจ้าพระยาพระคลัง(หน) ฉบับ วรรณไว พัธโนทัย ฉบับ ยาขอบ และฉบับ มรว.คึกฤทธิ์ ปราโมช อ่านแล้วก็ลืม ลืมแล้วก็อ่าน อ่านทุกครั้งก็สนุกทุกครั้ง ไม่วิเคราะห์ไม่คิดมากให้เสียเวลา อ่านเอาสนุก อ่านเป็นนิยาย

ก็คนเขียนเขาเขียนเป็นนิยาย จะไปอ่านเอาสาระทำไมกัน หาก หลอกว้านจง ผู้ประพันธ์ รู้เข้าก็คงจะงุนงงเป็นยิ่งนักที่สามก๊กกลายเป็นตำราพิชัยสงคราม ตำราการบริหารเชิงยุทธศาสตร์ ไปได้

ผู้เขียนฟัง อาปา เล่าเรื่องสามก๊กให้ฟังมาตั้งแต่เด็ก ส่วนใหญ่เป็นเรื่องไหวพริบของตัวละครต่างๆในสามก๊ก ซึ่งก็เป็นเหตุทำให้ผู้เขียนสนใจอ่านสามก๊กเพื่อไปค้นหาข้อความที่อาปาเล่า ฉบับแรกที่อ่านก็เป็นฉบับ เจ้าพระยาพระคลัง(หน) เล่มใหญ่หนาที่บ้านอาโกว 

มานึกได้วันหนึ่งว่า น่าจะลองอ่านสามก๊กใหม่อีกสักหน คราวนี้จะลองอ่านแบบ อ่านเอาเรื่อง อ่านตรงที่คนอื่นเขาไม่อ่านกัน เพื่อยืนยันว่าอ่านอีกกี่จบก็น่าจะ ยังคบได้

ไม่มีความคิดเห็น: