วันพฤหัสบดีที่ 7 พฤศจิกายน พ.ศ. 2556

แก้วในตม


๖๔

ประดุจหนึ่งเอาแก้วไปทิ้งไว้ที่ตม สำหรับแต่จะอับไป

สามก๊ก เจ้าพระยาพระคลัง(หน) ตอนที่ 33

โจโฉไม่ติดใจที่โจหยินกับลิเตียนไปแพ้้ศึกเล่าปี่ แต่สงสัยว่าใครเป็นผู้คิดอ่านให้เล่าปี่
โจหยินรายงานว่าเป็นตันฮก เทียหยกจึงแจ้งกับโจโฉว่า แท้จริงตันฮกก็คือชีซี เป็นผู้ที่
มีความรู้ความสามารถ เทียหยกออกอุบายให้โจโฉไปรับเอามารดาชีซีมาเลี้ยงดูหวังจะ
ให้ชีซีทิ้งเล่าปี่มาอยู่ด้วยโจโฉ เมื่อพบมารดาชีซี โจโฉปลอบโยนว่า ชีซีเป็นคนดีมีสติ
ปัญญาไปอยู่กับเล่าปี่หาควรไม่ ประดุจหนึ่งเอาแก้วไปทิ้งไว้ที่ตม สำหรับแต่จะอับไป

แก้ว ตามพจนานุกรมหมายถึง หินแข็งใส แลลอดเข้าไปข้างในได้ ได้แก่จำพวก เพชรพลอย

เพชรพลอย ย่อมมีประกายรัศมีสดสวยงดงาม เมื่อยามต้องแสง
เพชรพลอย ย่อมไม่อาจเป็นประกายวาววับ เมื่อไร้ซึ่งแสงส่อง
เพชรพลอย ยิ่งเมื่อนำไปไว้ในที่ตม แม้มีแสงแรงกล้า ก็มีแต่จะอับเฉาไป

คนเก่ง คนดีมีฝีมือ หากถูกแขวนไว้ในที่ไม่มีงานทำ ย่อมไม่อาจแสดงความสามารถ
คนเก่ง ไม่พยายามแสดงความเก่ง ก็ดุจเพชรพลอยที่ฝุ่นละอองปกคลุม
คนเก่ง จึงต้องพยายามแสดงความเก่ง เพื่อได้รับการมอบหมายภารกิจสำคัญ

มีแต่แสงเท่านั้น ที่จะพิสูจน์เพชรแท้พลอยแท้

มีแต่ผลงานเท่านั้น ที่จะพิสูจน์ คนทำงาน



สามก๊ก อ่านสามจบ ยังคบได้

มีคำกล่าวล่ำลือถึงความเป็น สุดยอดตำราทางยุทธศาสตร์ ของ สามก๊ก ว่า อ่านสามจบคบไม่ได้  ฟังดูก็ไม่เชิงว่าจะเป็นการนิยมยกย่องสักเท่าไร เพราะเหตุที่คบไม่ได้ มิใช่ว่าจะเป็นคนเก่งกล้าสามารถ แต่หากจะเป็นคน เจ้าเล่ห์แสนกล ด้วยสามก๊กนั้นเต็มไปด้วยกลอุบาย หรือที่คบไม่ได้อาจเป็นเพราะ ท่าทางจะเป็นคนโง่เหลือกำลัง ที่ทนอ่านอยู่ได้ตั้งสามจบ

ผู้เขียนเองก็นับว่าอ่านสามก๊กมามากกว่าสามจบ ทั้งฉบับ เจ้าพระยาพระคลัง(หน) ฉบับ วรรณไว พัธโนทัย ฉบับ ยาขอบ และฉบับ มรว.คึกฤทธิ์ ปราโมช อ่านแล้วก็ลืม ลืมแล้วก็อ่าน อ่านทุกครั้งก็สนุกทุกครั้ง ไม่วิเคราะห์ไม่คิดมากให้เสียเวลา อ่านเอาสนุก อ่านเป็นนิยาย

ก็คนเขียนเขาเขียนเป็นนิยาย จะไปอ่านเอาสาระทำไมกัน หาก หลอกว้านจง ผู้ประพันธ์ รู้เข้าก็คงจะงุนงงเป็นยิ่งนักที่สามก๊กกลายเป็นตำราพิชัยสงคราม ตำราการบริหารเชิงยุทธศาสตร์ ไปได้

ผู้เขียนฟัง อาปา เล่าเรื่องสามก๊กให้ฟังมาตั้งแต่เด็ก ส่วนใหญ่เป็นเรื่องไหวพริบของตัวละครต่างๆในสามก๊ก ซึ่งก็เป็นเหตุทำให้ผู้เขียนสนใจอ่านสามก๊กเพื่อไปค้นหาข้อความที่อาปาเล่า ฉบับแรกที่อ่านก็เป็นฉบับ เจ้าพระยาพระคลัง(หน) เล่มใหญ่หนาที่บ้านอาโกว 

มานึกได้วันหนึ่งว่า น่าจะลองอ่านสามก๊กใหม่อีกสักหน คราวนี้จะลองอ่านแบบ อ่านเอาเรื่อง อ่านตรงที่คนอื่นเขาไม่อ่านกัน เพื่อยืนยันว่าอ่านอีกกี่จบก็น่าจะ ยังคบได้

ไม่มีความคิดเห็น: