วันจันทร์ที่ 11 พฤศจิกายน พ.ศ. 2556

เลือกมืด เลือกสว่าง


๖๕

ก็เหมือนออกจากที่สว่างมาเข้าที่มืดหาควรไม่

สามก๊ก เจ้าพระยาพระคลัง(หน) ตอนที่ 33

โจโฉไปรับเอามารดาชีซีมาเลี้ยงดู หวังจะให้ชีซีทิ้งเล่าปี่มาอยู่ด้วย เกลี้ยกล่อมมารดาชีซีให้เขียน
จดหมายเรียกลูกมาสวามิภักดิ์กับโจโฉ มารดาชีซีตวาดเอาโจโฉว่า โจโฉเป็นคนชั่ว การจะให้ชีซี
หนีจากเล่าปี่มาอยู่ทำราชการด้วยโจโฉนั้น ก็เหมือนออกจากที่สว่างมาเข้าที่มืดหาควรไม่

องค์กรใดก็ตามมี ธรรมาภิบาล องค์กรนั้นประดุจอยู่ในที่สว่าง ผู้ร่วมงานมีความมั่นใจในหลัก นิติธรรม คุณธรรม องค์กรย่อมเดินรุดหน้า พัฒนาก้าวไกล

องค์กรใดก็ตามมีแต่ อธรรมาภิบาล องค์กรนั้นประดุจอยู่ในถ้ำที่มืดมิด ย่อมมีแต่ความวุ่นวาย ต่างคนต่างมองไม่เห็น ยิ่งเดินก็ยิ่งสับสน องค์กรไม่ก้าวหน้า ซ้ำถอยหลังล่มจม

เมื่อตกอยู่ในถ้ำที่มืดมิด หากพบแสงสว่างแม้เพียงน้อยนิด ย่อมมีความหวังถึงหนทางออก
ถ้าทุกคนเร่งรัดจัดระเบียบ มุ่งหน้าไปสู่แสงสว่าง ความสับสนก็จะพลันหายไป
เมื่อช่วยกันขยับขยายปากทาง แสงก็จะลอดส่องสว่างทั่วถึงทุกคน

หากมีใครไม่ยอมเดินหน้า ทั้งยังกลับหลังชักชวนกันสู่ทิศตรงข้าม หรือกระทั่งหยุดเฉยไม่ยอมเดิน ย่อมพากันหมดโอกาสออกจากถ้ำแน่นอน

ต้องการพ้นจาก อธรรมาภิบาล ทุกคนในองค์กรต้องร่วมมือกันอย่างจริงจัง

หมายเหตุ
เมื่อออกมาพบแสงสว่างแล้ว ไม่บังควรย้อนหลังกลับไปในถ้ำอีก อาจมีใครบางคนคิดปิดปากถ้ำอยู่ เพราะ
หลายคน มีความสุขกับการอยู่ในที่มืด


สามก๊ก อ่านสามจบ ยังคบได้

มีคำกล่าวล่ำลือถึงความเป็น สุดยอดตำราทางยุทธศาสตร์ ของ สามก๊ก ว่า อ่านสามจบคบไม่ได้  ฟังดูก็ไม่เชิงว่าจะเป็นการนิยมยกย่องสักเท่าไร เพราะเหตุที่คบไม่ได้ มิใช่ว่าจะเป็นคนเก่งกล้าสามารถ แต่หากจะเป็นคน เจ้าเล่ห์แสนกล ด้วยสามก๊กนั้นเต็มไปด้วยกลอุบาย หรือที่คบไม่ได้อาจเป็นเพราะ ท่าทางจะเป็นคนโง่เหลือกำลัง ที่ทนอ่านอยู่ได้ตั้งสามจบ

ผู้เขียนเองก็นับว่าอ่านสามก๊กมามากกว่าสามจบ ทั้งฉบับ เจ้าพระยาพระคลัง(หน) ฉบับ วรรณไว พัธโนทัย ฉบับ ยาขอบ และฉบับ มรว.คึกฤทธิ์ ปราโมช อ่านแล้วก็ลืม ลืมแล้วก็อ่าน อ่านทุกครั้งก็สนุกทุกครั้ง ไม่วิเคราะห์ไม่คิดมากให้เสียเวลา อ่านเอาสนุก อ่านเป็นนิยาย

ก็คนเขียนเขาเขียนเป็นนิยาย จะไปอ่านเอาสาระทำไมกัน หาก หลอกว้านจง ผู้ประพันธ์ รู้เข้าก็คงจะงุนงงเป็นยิ่งนักที่สามก๊กกลายเป็นตำราพิชัยสงคราม ตำราการบริหารเชิงยุทธศาสตร์ ไปได้

ผู้เขียนฟัง อาปา เล่าเรื่องสามก๊กให้ฟังมาตั้งแต่เด็ก ส่วนใหญ่เป็นเรื่องไหวพริบของตัวละครต่างๆในสามก๊ก ซึ่งก็เป็นเหตุทำให้ผู้เขียนสนใจอ่านสามก๊กเพื่อไปค้นหาข้อความที่อาปาเล่า ฉบับแรกที่อ่านก็เป็นฉบับ เจ้าพระยาพระคลัง(หน) เล่มใหญ่หนาที่บ้านอาโกว 

มานึกได้วันหนึ่งว่า น่าจะลองอ่านสามก๊กใหม่อีกสักหน คราวนี้จะลองอ่านแบบ อ่านเอาเรื่อง อ่านตรงที่คนอื่นเขาไม่อ่านกัน เพื่อยืนยันว่าอ่านอีกกี่จบก็น่าจะ ยังคบได้


ไม่มีความคิดเห็น: