วันพฤหัสบดีที่ 17 ตุลาคม พ.ศ. 2556

กลัวแพ้ กล้าแพ้


อันการสงครามแม้คิดกลัวแพ้อยู่เหมือนท่านว่าฉะนี้แล้ว
จะทำศึกสืบไปกระไรได้

สามก๊ก เจ้าพระยาพระคลัง(หน) ตอนที่ 32

โจหยินไม่ฟังคำเตือนของลิเตียน ยกทัพไปตีเล่าปี่ที่เมืองซินเอี๋ย โดนเล่าปี่ตีทัพ
แตกพ่ายมา ลิเตียนยืนยันให้กลับไปรักษาที่มั่นที่เมืองห้วนเสีย โจหยินยังคงคิด
ยกทัพเข้าปล้นค่ายเล่าปี่ รบพุ่งกันให้สิ้นฝีมือก่อน ลิเตียนไม่เห็นด้วย โจหยินโกรธ
กล่าวหาว่าลิเตียนทำศึกแบบกลัวแพ้จะสู้ได้อย่างไร

เมื่อออกศึก กองทัพต้องฮึกเหิม แม่ทัพต้ององอาจ
แม่ทัพจะองอาจ ต้องมั่นใจในการรบ
จะมั่นใจในการรบ ต้องวางแผนรัดกุม
จะวางแผนได้รัดกุม ข้อมูลต้องสมบูรณ์

ข้อมูลไม่สมบูรณ์ แผนไม่รัดกุม ย่อมไม่อาจมั่นใจ
เมื่อสูญเสียความมั่นใจ ย่อมไร้ความองอาจ กองทัพย่อมอ่อนแอ

การทำงานก็เช่นกัน

ต้องวิเคราะห์ปัจจัยแห่งความสำเร็จ  วางแผน บนข้อมูลที่มีคุณภาพ
เห็นความสำเร็จ ย่อมไม่มีความกังวล
ทั้งยังกล้าเผชิญ หากเกิดภาวะล้มเหลว



สามก๊ก อ่านสามจบ ยังคบได้

มีคำกล่าวล่ำลือถึงความเป็น สุดยอดตำราทางยุทธศาสตร์ ของ สามก๊ก ว่า อ่านสามจบคบไม่ได้  ฟังดูก็ไม่เชิงว่าจะเป็นการนิยมยกย่องสักเท่าไร เพราะเหตุที่คบไม่ได้ มิใช่ว่าจะเป็นคนเก่งกล้าสามารถ แต่หากจะเป็นคน เจ้าเล่ห์แสนกล ด้วยสามก๊กนั้นเต็มไปด้วยกลอุบาย หรือที่คบไม่ได้อาจเป็นเพราะ ท่าทางจะเป็นคนโง่เหลือกำลัง ที่ทนอ่านอยู่ได้ตั้งสามจบ

ผู้เขียนเองก็นับว่าอ่านสามก๊กมามากกว่าสามจบ ทั้งฉบับ เจ้าพระยาพระคลัง(หน) ฉบับ วรรณไว พัธโนทัย ฉบับ ยาขอบ และฉบับ มรว.คึกฤทธิ์ ปราโมช อ่านแล้วก็ลืม ลืมแล้วก็อ่าน อ่านทุกครั้งก็สนุกทุกครั้ง ไม่วิเคราะห์ไม่คิดมากให้เสียเวลา อ่านเอาสนุก อ่านเป็นนิยาย

ก็คนเขียนเขาเขียนเป็นนิยาย จะไปอ่านเอาสาระทำไมกัน หาก หลอกว้านจง ผู้ประพันธ์ รู้เข้าก็คงจะงุนงงเป็นยิ่งนักที่สามก๊กกลายเป็นตำราพิชัยสงคราม ตำราการบริหารเชิงยุทธศาสตร์ ไปได้

ผู้เขียนฟัง อาปา เล่าเรื่องสามก๊กให้ฟังมาตั้งแต่เด็ก ส่วนใหญ่เป็นเรื่องไหวพริบของตัวละครต่างๆในสามก๊ก ซึ่งก็เป็นเหตุทำให้ผู้เขียนสนใจอ่านสามก๊กเพื่อไปค้นหาข้อความที่อาปาเล่า ฉบับแรกที่อ่านก็เป็นฉบับ เจ้าพระยาพระคลัง(หน) เล่มใหญ่หนาที่บ้านอาโกว 

มานึกได้วันหนึ่งว่า น่าจะลองอ่านสามก๊กใหม่อีกสักหน คราวนี้จะลองอ่านแบบ อ่านเอาเรื่อง อ่านตรงที่คนอื่นเขาไม่อ่านกัน เพื่อยืนยันว่าอ่านอีกกี่จบก็น่าจะ ยังคบได้

1 ความคิดเห็น:

สามก๊กวิทยา กล่าวว่า...

เคยได้ยินคำว่า "ความรู้ทำให้องอาจ" ... ก็น่าจะเป็นกรณีเดียวกัน ขอบพระคุณครับ