วันพุธที่ 24 กรกฎาคม พ.ศ. 2556

เล่ห์กล มนต์คาถา



อันการสงครามจำอาศัยเล่ห์กล จึงจะได้ชัยชนะแก่ข้าศึก

สามก๊ก เจ้าพระยาพระคลัง(หน) ตอนที่ 27

เขาฮิวน้อยใจอ้วนเสี้ยวเชื่อฟังสิมโพยให้ร้าย คิดฆ่าตัวตาย แต่ทหารคนสนิทเตือนให้คิดหา
เอาตัวรอดไว้ก่อน ที่สุดเขาฮิวจึงลอบไปสวามิภักดิ์กับโจโฉ โจโฉพูดจาอำพลางไม่บอกข้อมูล
จริงทั้งหมดด้วยยังไม่วางใจ เขาฮิวโกรธจึงผลุนผันจะลาจาก ต่อว่าโจโฉเจ้าเล่ห์ โจโฉไม่ปฏิเสธ
หัวเราะแล้วย้อนเขาฮิวว่า การสงครามก็ต้องอาศัยเล่ห์กล จึงจะได้ชัยชนะ


การบริหารงานในองค์กร พึงมุ่งเน้น ผลลัพธ์

มุ่งเน้น ผลลัพธ์ มิใช่ มุ่งเน้น ผลรับ
เพราะ ผลรับ เป็นเพียง ผลที่ได้รับมา
หาก ผลลัพธ์ คือ ผลที่ได้จากการประมวลผลรับ

การสงคราม ผลลัพธ์ คือ ชนะสงคราม มิใช่ จบสงคราม
การทำงาน ผลลัพธ์ คือ งานสำเร็จ มิใช่ งานเสร็จ

เพื่อมุ่งเน้นผลลัพธ์ ไม่ได้ด้วยเล่ห์ก็เอาด้วยกล
เพื่อมุ่งเน้นผลลัพธ์ ไม่ได้ด้วยมนต์ก็เอาด้วยคาถา

เพื่อมุ่งเน้นผลลัพธ์ จึงต้องไม่พะวงกับ การทำตามแผน การทำตามขั้นตอน
เพื่อมุ่งเน้นผลลัพธ์ จึงต้องไม่พะวงกับ กระบวนการ





สามก๊ก อ่านสามจบ ยังคบได้

มีคำกล่าวล่ำลือถึงความเป็น สุดยอดตำราทางยุทธศาสตร์ ของ สามก๊ก ว่า อ่านสามจบคบไม่ได้  ฟังดูก็ไม่เชิงว่าจะเป็นการนิยมยกย่องสักเท่าไร เพราะเหตุที่คบไม่ได้ มิใช่ว่าจะเป็นคนเก่งกล้าสามารถ แต่หากจะเป็นคน เจ้าเล่ห์แสนกล ด้วยสามก๊กนั้นเต็มไปด้วยกลอุบาย หรือที่คบไม่ได้อาจเป็นเพราะ ท่าทางจะเป็นคนโง่เหลือกำลัง ที่ทนอ่านอยู่ได้ตั้งสามจบ

ผู้เขียนเองก็นับว่าอ่านสามก๊กมามากกว่าสามจบ ทั้งฉบับ เจ้าพระยาพระคลัง(หน)
 ฉบับ วรรณไว พัธโนทัย ฉบับ ยาขอบ และฉบับ มรว.คึกฤทธิ์ ปราโมช อ่านแล้วก็ลืม ลืมแล้วก็อ่าน อ่านทุกครั้งก็สนุกทุกครั้ง ไม่วิเคราะห์ไม่คิดมากให้เสียเวลา อ่านเอาสนุก อ่านเป็นนิยาย
ก็คนเขียนเขาเขียนเป็นนิยาย จะไปอ่านเอาสาระทำไมกัน หาก หลอกว้านจง ผู้ประพันธ์ รู้เข้าก็คงจะงุนงงเป็นยิ่งนักที่สามก๊กกลายเป็นตำราพิชัยสงคราม ตำราการบริหารเชิงยุทธศาสตร์ ไปได้

ผู้เขียนฟัง อาปา เล่าเรื่องสามก๊กให้ฟังมาตั้งแต่เด็ก ส่วนใหญ่เป็นเรื่องไหวพริบของตัวละครต่างๆในสามก๊ก ซึ่งก็เป็นเหตุทำให้ผู้เขียนสนใจอ่านสามก๊กเพื่อไปค้นหาข้อความที่อาปาเล่า ฉบับแรกที่อ่านก็เป็นฉบับ เจ้าพระยาพระคลัง(หน) เล่มใหญ่หนาที่บ้านอาโกว 

มานึกได้วันหนึ่งว่า น่าจะลองอ่านสามก๊กใหม่อีกสักหน คราวนี้จะลองอ่านแบบ อ่านเอาเรื่อง อ่านตรงที่คนอื่นเขาไม่อ่านกัน เพื่อยืนยันว่าอ่านอีกกี่จบก็น่าจะ ยังคบได้


8 ความคิดเห็น:

สามก๊กวิทยา กล่าวว่า...

น่ากลัวตรงประโยคจบที่ว่า "เพื่อมุ่งเน้นผลลัพธ์ จึงต้องไม่พะวงกับ กระบวนการ"
คนเราวัดกันที่ผลลัพท์ โดยไม่สนที่มาที่ไป สังคมจึงถูกบั่นทอนเข้าทุกวัน ๆ
แต่ก็ต้องทำใจครับ เพราะมันคือเรื่องจริงที่ไม่อาจแก้

พิราบ กล่าวว่า...

ต่อให้ได้ผลลัพธ์ ที่ดีแค่ไหน หากไม่คำนึงถึงกระบวนการ คงยากที่จะรบได้นาน
บางทีอาจเสียไพร่พล เพื่อนพ้อง เพื่อผลลัพธ์ ที่ไม่คุ้มค่า กับเพียงเพื่อคำว่า "ชนะ"

Boonchai65 กล่าวว่า...

เห็นด้วยนะครับ ว่าการมุ่งแต่ผลลัพธ์อย่างเดียว
โดยไม่คำนึงถึงวิธีการที่เลวร้าย
แม้สำเร็จก็อาจไม่ใช่เรื่องน่าภาคภูมิใจ

Boonchai65 กล่าวว่า...

ครับ เห็นด้วยครับ
อาจเป็นการมองเพียงมุมเดียวว่าต้องชนะ
ชีวิตจริง มีหลายมุมมอง ที่ไม่อาจละเลยได้จริงๆ

Unknown กล่าวว่า...

ผลลัพธ์ Outcome หรือมุมมองลูกค้า(ลูกค้าได้ประโยชน์)และ ผลรับ Income หรือมุมมองการเงิน(องค์กรได้ประโยขน์) ไม่คำนึงกระบวนการได้ เพราะกระบวนการ Process แปรเปลี่ยนได้เสมอ(มุมมองการเรียนรู้-Learning & Growth) แต่เพื่อให้มั่นใจว่าจะได้ผลลัพธ์ที่ดี ไม่อาจลืมว่าผลผลิตที่ดีเท่านั้นที่จะสร้างผลลัพธ์ที่ดีได้ ผลผลิต Output เป็นจุดตัดสินที่เป็นธรรมว่ากระบวนการภายในที่เป็นกระบวนการหลักนั้นดีเพียงใด(มุมมองกระบวนการภายใน-Internal Process) การรบให้ชนะ ไม่คำนึงกระบวนการได้ แต่หากไม่รู้/ไม่มีผลผลิตที่สำคัญ ผลลัพธ์ไม่อาจเกิดขึ้นเอง หรืออีกนัยหนึ่งต้องกำหนดยุทธศาสตร์ให้ได้ก่อน ผลการรบจึงจะหวังได้ว่าจะรบชนะ ส่วนยุทธวิธี เห็นด้วยครับว่าต้องตามมาทีหลังครับ

Boonchai65 กล่าวว่า...

โอ้โฮ ตัวจริงมาละ.....
ตอนเขียน เลือกใช้คำว่า ผลรับ แทน ผลผลิต(Output) เพื่อ ให้พ้องเสียง ผลรับ-ผลลัพธ์
ไม่ได้มองในมุมที่อาจทำให้คิดถึง รายรับ
จึงไม่ใช่ความเห็นที่แตกต่าง
แต่บางครั้ง แค่ได้ Process ก็เป็น "ความสำเร็จ" มังครับ
นักการเมือง แค่ใส่ Input ก็สำเร็จแล้วนี่นา

Unknown กล่าวว่า...

ตอนแรกเหมือนจะไม่ต่างครับ แต่ถ้าอาจารย์บอกว่า ผลรับ แทน ผลผลิต(Output) น่าจะต่างแล้วครับเพราะมุมมองของผม ผลรับที่อาจารย์กล่าวในบทความ น่าจะเป็นแค่การทำ Process ให้เสร็จ(งานเสร็จ) แต่ผลผลิตน่าจะมีความหมายมากกว่า "ผลรับ" ครับ โดยเฉพาะถ้าเป็นงานบริการ เช่นงานบริการสาธารณสุข "ผลรับ" ต้องส่งมอบให้ประชาชนก่อนครับจึงจะเป็น "ผลผลิต" มีหลายงานที่เราทำแค่ "ผลรับ" แต่ไม่เกิด "ผลผลิต" ถึงประชาชน ทำให้เสียแรงเปล่าไม่เกิดคุณค่าเท่าที่ได้ลงแรงไปครับ

Boonchai65 กล่าวว่า...

ครับ
ยิ่งหลากหลายมุมมอง ยิ่งจะเกิดประโยชน์