วันเสาร์ที่ 27 กรกฎาคม พ.ศ. 2556

ชนะกับแพ้



อันธรรมดาเป็นชาติทหาร จะคิดทำการสงครามนั้นก็ย่อมชนะแลแพ้ทุกตัวคน


สามก๊ก เจ้าพระยาพระคลัง(หน) ตอนที่ 28

เล่าปี่เห็นโจโฉทำศึกติดพันกับอ้วนเสี้ยว จึงยกทัพหวังตลบหลังตีเมืองฮูโต๋ กลับโดนโจโฉไล่ล่า
หัวซุกหัวซุนจนหมดกำลังใจ เล่าปี่ว่าแก่เหล่าทหารทั้งปวงให้แยกย้ายไปขวนขวายหาอยู่กับ
มูลนายที่มีวาสนา ซุนเขียนจึงให้กำลังใจเล่าปี่ว่า เป็นธรรมดาของการสงครามย่อมมีแพ้มีชนะ

การสงคราม ย่อมมี ชนะและแพ้พ่าย
ไม่มีทัพใดที่ชนะทุกครั้ง ไม่มีทัพใดที่พ่ายทุกครา

การทำงาน ก็เช่นกัน ย่อมมี สำเร็จและผิดพลาด
ไม่มีใครที่สำเร็จทุกงาน ไม่มีใครที่ผิดพลาดทุกครั้ง

เมื่อผิดพลาดต้องไม่หมดกำลังใจ
เมื่อยังมีกำลังใจ ก็จะยังมีพลังในการสร้างความหวัง

คนไม่ผิดคือ คนที่ไม่ทำอะไรเลย
กล้าผิด กล้าล้มเหลว จึงพบความสำเร็จ

หมายเหตุ
หากสำเร็จแต่เรื่องเดิมๆ ก็ไม่น่าภาคภูมิใจ
ผิดซ้ำซากในเรื่องเดิมๆ ยิ่งน่าอับอาย



สามก๊ก อ่านสามจบ ยังคบได้

มีคำกล่าวล่ำลือถึงความเป็น สุดยอดตำราทางยุทธศาสตร์ ของ สามก๊ก ว่า อ่านสามจบคบไม่ได้  ฟังดูก็ไม่เชิงว่าจะเป็นการนิยมยกย่องสักเท่าไร เพราะเหตุที่คบไม่ได้ มิใช่ว่าจะเป็นคนเก่งกล้าสามารถ แต่หากจะเป็นคน เจ้าเล่ห์แสนกล ด้วยสามก๊กนั้นเต็มไปด้วยกลอุบาย หรือที่คบไม่ได้อาจเป็นเพราะ ท่าทางจะเป็นคนโง่เหลือกำลัง ที่ทนอ่านอยู่ได้ตั้งสามจบ

ผู้เขียนเองก็นับว่าอ่านสามก๊กมามากกว่าสามจบ ทั้งฉบับ เจ้าพระยาพระคลัง(หน)
 ฉบับ วรรณไว พัธโนทัย ฉบับ ยาขอบ และฉบับ มรว.คึกฤทธิ์ ปราโมช อ่านแล้วก็ลืม ลืมแล้วก็อ่าน อ่านทุกครั้งก็สนุกทุกครั้ง ไม่วิเคราะห์ไม่คิดมากให้เสียเวลา อ่านเอาสนุก อ่านเป็นนิยาย

ก็คนเขียนเขาเขียนเป็นนิยาย จะไปอ่านเอาสาระทำไมกัน หาก หลอกว้านจง ผู้ประพันธ์ รู้เข้าก็คงจะงุนงงเป็นยิ่งนักที่สามก๊กกลายเป็นตำราพิชัยสงคราม ตำราการบริหารเชิงยุทธศาสตร์ ไปได้

ผู้เขียนฟัง อาปา เล่าเรื่องสามก๊กให้ฟังมาตั้งแต่เด็ก ส่วนใหญ่เป็นเรื่องไหวพริบของตัวละครต่างๆในสามก๊ก ซึ่งก็เป็นเหตุทำให้ผู้เขียนสนใจอ่านสามก๊กเพื่อไปค้นหาข้อความที่อาปาเล่า ฉบับแรกที่อ่านก็เป็นฉบับ เจ้าพระยาพระคลัง(หน) เล่มใหญ่หนาที่บ้านอาโกว 

มานึกได้วันหนึ่งว่า น่าจะลองอ่านสามก๊กใหม่อีกสักหน คราวนี้จะลองอ่านแบบ อ่านเอาเรื่อง อ่านตรงที่คนอื่นเขาไม่อ่านกัน เพื่อยืนยันว่าอ่านอีกกี่จบก็น่าจะ ยังคบได้

ไม่มีความคิดเห็น: