วันอังคารที่ 20 มีนาคม พ.ศ. 2555

พญาหงษ์



ตัวท่านเหมือนพญาหงษ์
คิดการใหญ่แล้วจะมาเคร่าท่าฝูงกาอยู่นั้นไม่ควร


สามก๊ก เจ้าพระยาพระคลัง(หน) ตอนที่ 2

คำแนะนำของตันหลิมที่มีต่อโฮจิ๋น
เพื่อให้โฮจิ๋นกล้าตัดสินใจจัดการกับขันทีทั้งสิบ
เปรียบเปรยขันทีทั้งสิบเป็นแค่แมลงเม่า โฮจิ๋นเปรียบดังกองเพลิง
หากจะจัดการก็ต้องรีบลงมือ

เคร่า ตามพจนานุกรมเป็นคำที่ใช้ในบทร้อยกรอง แปลว่า คอย หรือ รอ ในที่นี้ เคร่าท่า จึงหมายถึง คอยท่า หรือ รอท่า

ผู้บริหารกับผู้ปฏิบัตินั้นอยู่ในคนละบริบท ย่อมมองในมุมที่แตกต่างกันอยู่ ผู้บริหารที่ดีต้องมองในมุมที่ กว้างกว่า ลึกกว่า และ ยาวกว่า ผู้ปฏิบัติ

ดังนั้น เมื่อเป็นผู้นำอยู่แล้ว คิดจะดำเนินการอันใด ที่เป็นประโยชน์ต่อองค์กรหรือสังคม อย่ามัวฟังเสียงนกเสียงกา รอไปรอมา งานเล็กก็ไม่ได้ งานใหญ่ก็ไม่เกิด

ฟังไปฟังมา รีรอไปมา เดินตามผู้ปฏิบัติไปเสียอีก


สามก๊ก อ่านสามจบ ยังคบได้

มีคำกล่าวล่ำลือถึงความเป็น สุดยอดตำราทางยุทธศาสตร์ ของ สามก๊ก ว่า อ่านสามจบคบไม่ได้  ฟังดูก็ไม่เชิงว่าจะเป็นการนิยมยกย่องสักเท่าไร เพราะเหตุที่คบไม่ได้ มิใช่ว่าจะเป็นคนเก่งกล้าสามารถ แต่หากจะเป็นคน เจ้าเล่ห์แสนกล ด้วยสามก๊กนั้นเต็มไปด้วยกลอุบาย หรือที่คบไม่ได้อาจเป็นเพราะ ท่าทางจะเป็นคนโง่เหลือกำลัง ที่ทนอ่านอยู่ได้ตั้งสามจบ

ผู้เขียนเองก็นับว่าอ่านสามก๊กมามากกว่าสามจบ ทั้งฉบับ เจ้าพระยาพระคลัง(หน) ฉบับ วรรณไว พัธโนทัย ฉบับ ยาขอบ และฉบับ มรว.คึกฤทธิ์ ปราโมช อ่านแล้วก็ลืม ลืมแล้วก็อ่าน อ่านทุกครั้งก็สนุกทุกครั้ง ไม่วิเคราะห์ไม่คิดมากให้เสียเวลา อ่านเอาสนุก อ่านเป็นนิยาย
ก็คนเขียนเขาเขียนเป็นนิยาย จะไปอ่านเอาสาระทำไมกัน หาก หลอกว้านจง ผู้ประพันธ์ รู้เข้าก็คงจะงุนงงเป็นยิ่งนักที่สามก๊กกลายเป็นตำราพิชัยสงคราม ตำราการบริหารเชิงยุทธศาสตร์ ไปได้

ผู้เขียนฟัง อาปา เล่าเรื่องสามก๊กให้ฟังมาตั้งแต่เด็ก ส่วนใหญ่เป็นเรื่องไหวพริบของตัวละครต่างๆในสามก๊ก ซึ่งก็เป็นเหตุทำให้ผู้เขียนสนใจอ่านสามก๊กเพื่อไปค้นหาข้อความที่อาปาเล่า ฉบับแรกที่อ่านก็เป็นฉบับ เจ้าพระยาพระคลัง(หน) เล่มใหญ่หนาที่บ้านอาโกว 

มานึกได้วันหนึ่งว่า น่าจะลองอ่านสามก๊กใหม่อีกสักหน คราวนี้จะลองอ่านแบบ อ่านเอาเรื่อง อ่านตรงที่คนอื่นเขาไม่อ่านกัน เพื่อยืนยันว่าอ่านอีกกี่จบก็น่าจะ ยังคบได้




ไม่มีความคิดเห็น: