วันอังคารที่ 13 มีนาคม พ.ศ. 2555

รากหญ้า



...ซึ่งฆ่าเกนหวนเสียนั้น เหมือนหนึ่งฟันต้นหญ้าจะให้ตาย
ขันทีสิบคนเหมือนหนึ่งรากหญ้า
ตายแต่ต้นนั้นเห็นไม่สิ้นเชิง รากก็จะงอกแทนขึ้นมา...

สามก๊ก เจ้าพระยาพระคลัง(หน) ตอนที่ 2

โฮจิ๋นตั้งใจจะฆ่าขันทีทั้งสิบหลังจากสามารถฆ่าขันทีเกนหวนผู้เป็นหัวโจก
แต่พระนางโฮเฮาผู้เป็นน้องสาวร้องขอไว้ อ้วนเสี้ยวจึงเตือนโฮจิ๋นที่ยินยอมละเว้นชีวิตขันทีทั้งสิบ
ว่าระวังจะเหมือนตัดหญ้าแต่เหลือราก



หญ้าที่เห็นดาดดื่นทั่วไปนั้น ส่วนที่เห็นโผล่พ้นพื้นดินนั้นเป็นส่วนของใบ ส่วนลำต้นที่มีข้อและปล้องเลื้อยขนานอยู่ใต้ดินเรียกว่า เหง้า บางชนิดลำต้นเลื้อยบนดินเรียกว่า ไหล ทั้งเหง้าและไหล สามารถเจริญเติบโตเป็นลำต้นใหม่ได้

เมื่อเราตัดหญ้า ส่วนใหญ่จึงเป็นการตัดใบ ส่วนของลำต้นและรากซึ่งเรามักเรียกรวมๆกันว่า ราก ยังอยู่และสามารถแตกใบขึ้นมาได้อีก
การจะกำจัดหญ้าให้หมดสิ้นจึงไม่สามารถเพียงแค่ตัด ต้องขุดรากทิ้งด้วย ไม่เช่นนั้น แม้แห้งแล้งเพียงใดเมื่อได้รับฝนก็จะแตกใบเขียวขึ้นมาได้อีก

หญ้าเปรียบดัง ปัญหา ในองค์กร หากคิดแก้ปัญหาต้องวิเคราะห์ให้ชัดเจนว่าปัจจัยใดเป็นต้นเหตุของปัญหา กระบวนการ ระบบ หรือ คน 
ต้องแก้ที่สาเหตุหรือต้นเหตุของปัญหาต้อง ขุดรากถอนโคน จึงจะสามารถกำจัดปัญหาได้เด็ดขาด มิฉะนั้นเชื้อร้ายก็จะกลับคืนมาเมื่อมีโอกาส

Note

สำนวน ฉบับภาษาอังกฤษของ C.H. Brewitt-Taylor ว่า
Slay them, root and branch,or they will ruin you! 

สำนวน ฉบับแปลใหม่ของ วรรณไว พัธโนทัย ว่า
อันตัดหญ้ามิขุดรากทิ้งแล้วไซร้ รากนั้นจะเป็นพิษเป็นภัยแก่ตนในภายหลัง

สามก๊ก อ่านสามจบ ยังคบได้

มีคำกล่าวล่ำลือถึงความเป็น สุดยอดตำราทางยุทธศาสตร์ ของ สามก๊ก ว่า อ่านสามจบคบไม่ได้  ฟังดูก็ไม่เชิงว่าจะเป็นการนิยมยกย่องสักเท่าไร เพราะเหตุที่คบไม่ได้ มิใช่ว่าจะเป็นคนเก่งกล้าสามารถ แต่หากจะเป็นคน เจ้าเล่ห์แสนกล ด้วยสามก๊กนั้นเต็มไปด้วยกลอุบาย หรือที่คบไม่ได้อาจเป็นเพราะ ท่าทางจะเป็นคนโง่เหลือกำลัง ที่ทนอ่านอยู่ได้ตั้งสามจบ

ผู้เขียนเองก็นับว่าอ่านสามก๊กมามากกว่าสามจบ ทั้งฉบับ เจ้าพระยาพระคลัง(หน) ฉบับ วรรณไว พัธโนทัย ฉบับ ยาขอบ และฉบับ มรว.คึกฤทธิ์ ปราโมช อ่านแล้วก็ลืม ลืมแล้วก็อ่าน อ่านทุกครั้งก็สนุกทุกครั้ง ไม่วิเคราะห์ไม่คิดมากให้เสียเวลา อ่านเอาสนุก อ่านเป็นนิยาย
ก็คนเขียนเขาเขียนเป็นนิยาย จะไปอ่านเอาสาระทำไมกัน หาก หลอกว้านจง ผู้ประพันธ์ รู้เข้าก็คงจะงุนงงเป็นยิ่งนักที่สามก๊กกลายเป็นตำราพิชัยสงคราม ตำราการบริหารเชิงยุทธศาสตร์ ไปได้

ผู้เขียนฟัง อาปา เล่าเรื่องสามก๊กให้ฟังมาตั้งแต่เด็ก ส่วนใหญ่เป็นเรื่องไหวพริบของตัวละครต่างๆในสามก๊ก ซึ่งก็เป็นเหตุทำให้ผู้เขียนสนใจอ่านสามก๊กเพื่อไปค้นหาข้อความที่อาปาเล่า ฉบับแรกที่อ่านก็เป็นฉบับ เจ้าพระยาพระคลัง(หน) เล่มใหญ่หนาที่บ้านอาโกว 

มานึกได้วันหนึ่งว่า น่าจะลองอ่านสามก๊กใหม่อีกสักหน คราวนี้จะลองอ่านแบบ อ่านเอาเรื่อง อ่านตรงที่คนอื่นเขาไม่อ่านกัน เพื่อยืนยันว่าอ่านอีกกี่จบก็น่าจะ ยังคบได้




1 ความคิดเห็น:

samkok กล่าวว่า...

รากหญ้าอยู่ต่างประเทศ จะตัดยังไงครับ