วันจันทร์ที่ 30 พฤษภาคม พ.ศ. 2554

เยี่ยมๆมองๆ รพ.สต.เฉลิมพระเกียรติสมเด็จย่า

วันอังคารที่ ๒๔ พฤษภาคม ๒๕๕๔




ตั้งใจจะไปเยี่ยมเยียน สถานีอนามัยหรือโรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบล ให้ได้มากที่สุด แต่ในทุกจังหวัดที่ผ่านมา ก็ไม่สามารถไปได้ครบถ้วน เมื่อมาอยู่เพชรบูรณ์ ก็ยังตั้งใจเช่นเดิม และเพิ่งจะมีโอกาสเป็นเรื่องเป็นราวเอาในวันนี้
เดิมตั้งใจจะไปอำเภอไกลๆ เช่น น้ำหนาว ก่อน แต่ด้วยมีภารกิจอื่นที่ ชนแดน จึงกลายเป็นการต้องไป เยี่ยมๆมองๆ ที่ รพ.สต.ที่(น่าจะ) ชื่อยาวที่สุดในประเทศไทย แห่งนี้ก่อน

โรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบลเฉลิมพระเกียรติสมเด็จพระศรีนครินทราบรมราชชนนี ๒๕๓๘ (เอิบจิตต์ ยศสุนทร อุทิศ)



รพ.สต.แห่งนี้ตั้งอยู่ที่ ต.พุทธบาท อ.ชนแดน (ต.พุทธบาท มีรพ.สต. ๓ แห่ง) รับผิดชอบ ๖ หมู่บ้าน มีเนื้อที่กว้างขวางถึง ๑๐ ไร่ ได้รับบริจาคที่ดินจาก นายสุรพล อนุสรณ์เสวีย์ และได้รับบริจาคงบประมาณก่อสร้างตัวอาคารจาก นายสมจิตร ยศสุนทร และ นางสาวเอิบจิตต์ ยศสุนทร ได้ขอพระราชทานพระนามสมเด็จพระศรีนครินทรา พระบรมราชชนนี จึงได้ชื่อว่า รพ.สต.เฉลิมพระเกียรติสมเด็จพระศรีนครินทราบรมราชชนนี ๒๕๓๘ (เอิบ ยศสุนทร อุทิศ)
รพ.สต.เฉลิมพระเกียรติสมเด็จย่า (ชื่อที่เจ้าหน้าที่บอกว่าเป็นชื่อที่ใช้เรียกอย่างย่อ) มีเจ้าหน้าที่อยู่ ๒ คน กับลูกจ้างอีก ๒ คน คือ



คุณกาญจนา อัครภัทเมธาสกุล พยาบาลเทคนิคชำนาญการ
คุณวิยะดา เศรษฐี นักวิชาการสาธารณสุขชำนาญการ
คุณวีรยา สีเขียวสด ลูกจ้างพนักงานบันทึกข้อมูล
คุณพรทิพย์ ปู่สุวรรณ ลูกจ้างทำความสะอาด

ปัญหาของรพ.สต.นี้คือ

๑.ที่ดินที่กว้างใหญ่ เกินกว่าจะดูแลไหว ทำให้สภาพสิ่งแวดล้อมดูไม่ค่อยงดงามนัก ทั้งๆที่อยู่ติดถนนสายหลัก จึงแนะนำว่า ควรค่อยๆพัฒนาเฉพาะบริเวณแคบๆก่อน แล้วจึงค่อยขยาย
๒.ไม่มีเจ้าหน้าที่ผู้ชาย ทำให้การทำงานไม่สะดวกนัก ก็เป็นปัญหาที่ดูจะแก้ยากพอควร ด้วยเดี๋ยวนี้หันไปทางไหนก็มีแต่ผู้หญิง
๓.พื้นที่รับผิดชอบมีอาณาเขตกว้าง มีแต่รถจักรยานยนต์ หากต้องไปดูแลหมู่บ้านที่ห่างไกลออกไปต้องใช้รถยนต์ส่วนตัว
๔.Internet ใช้ IP Star ความเร็วสูงสุดได้ที่ 700 kbps ไม่สามารถใช้ Webcam ได้ (อ้าวแล้วที่รายงานไปล่ะ)
๕.เคยมี Unit ทำฟัน แต่ไม่มีทันตาภิบาล โรงพยาบาลเลยยืมไปใช้ก่อน
๖.ไม่ค่อยได้รับการสนับสนุนจาก กองทุนสุขภาพตำบล แนะนำให้ใช้กระบวนการการมีส่วนร่วมของชุมชน ให้มากขึ้น

งานเด่นที่ภาคภูมิใจ

๑.เตียงตรวจมะเร็งปากมดลูกสัญจร เป็นนวัตกรรมที่ คุณกาญจนา คิดประดิษฐ์ขึ้น เพื่อช่วยให้ไปทำ Pap smear ในพื้นที่ได้สะดวก



๒.วงล้อ BMI + ใบเซียมซี เพื่อใช้ประเมินค่าดัชนีมวลกาย และให้คำแนะนำ แต่ไม่มีแสดงให้ดู เพราะเก่าจึงยกไปเก็บ แนะนำว่าน่าจะนำมาปรับปรุงใช้ต่อ
นวัตกรรมทั้งสองชิ้น น่าจะได้นำมาเผยแพร่ เพื่อประโยชน์และการต่อยอดต่อไป

หมายเหตุ ขอขอบคุณที่อยู่ทางภูมิศาสตร์จาก web สำนักงานสาธารณสุขอำเภอชนแดน http://www.chdhealth.org 


โพสต์ครั้งแรกเมื่อเมื่อ 

ไม่มีความคิดเห็น: