วันจันทร์ที่ 15 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2553

โรงพยาบาลลานสัก


วันพุธที่ 3 กุมภาพันธ์ 2553 โรงพยาบาลลานสัก เป็นเป้าหมายที่ 3 ในการเดินทาง One Day Tour ทั่วอุทัย

เมื่อเดินทางถึง โรงพยาบาลลานสัก ซึ่งเป็นโรงพยาบาลขนาด 60 เตียง


พบว่าผู้อำนวยการ นพ.โชคราชัน ชัยฤกษ์สุขสันต์ เป็นคนไฟแรงอีกคน ในการพัฒนาโรงพยาบาล แต่ก็ยังทำงานหนัก ยังต้องช่วยตรวจคนไข้ จึงแวะไปทักทายที่ OPD แค่ให้รู้ว่ามา แล้วขอตัวไปเดินชมโรงพยาบาล ปล่อยท่านผอ.จัดการคนไข้ต่อไปให้หมด ไม่งั้นจะกลายเป็นปัญหาทำให้คนไข้รอนาน
หัวหน้าฝ่ายบริหารฯ และ หัวหน้าฝ่ายการพยาบาล พาเดินชมโรงพยาบาล ตั้งแต่ผู้ป่วยนอก ห้องจ่ายยา แพทย์แผนไทย ฝ่ายสุขาภิบาล ฝ่ายส่งเสริมสุขภาพ ห้องชันสูตร ห้องงานข้อมูล จบที่ฝ่ายบริหาร พบสิ่งหนึ่งที่น่าสนใจมากเข้าให้ที่ OPD นั่นคือ



จอคิวผู้ป่วย ที่หน่วยบริการอื่นอาจให้ผู้ป่วยถือบัตรคิวไว้ คอยดูว่าเมื่อไรจะถึงเลขตนเอง แต่ที่โรงพยาบาลลานสัก หน้าจอขึ้นทั้งเลข ทั้งชื่อ แถม รูปถ่ายขนาดใหญ่ ไม่ผิดตัวแน่นอน หากบังเอิญไม่ได้ยินหมอเรียกตรวจ คนไข้ด้วยกันยังช่วยหาตัวได้ด้วย ผู้เขียนจึงตามไปดูที่ห้องเวชระเบียน พบผู้ป่วยกำลังยิ้มให้กล้องเพื่อทำบัตรอยู่พอดี โรงพยาบาลอื่นๆจะเอาไปเป็นเลียนแบบ โรงพยาบาลลานสักคงไม่ว่าอะไร
เรื่องจอแสดงคิวผู้ป่วยนี่ ผู้เขียนเห็นว่าเป็นนวัตกรรม ที่เป็นการประยุกต์เอาสิ่งที่มีใช้อยู่แล้วในปัจจุบันให้เป็นประโยชน์สูงสุด ซึ่งคงมีหลายๆเรื่องที่เราสามารถ ดัดแปลง ได้เช่นนี้ เพียงแต่เราจะพยายามคิด ออกนอกกรอบ บ้างหรือไม่(แต่ก็ระวังจะไปหลงอยู่ใน กรอบใหม่ เข้าล่ะ)

ห้องจ่ายยา ห้องยาที่โรงพยาบาลลานสัก คล้ายกับ โรงพยาบาลทัพทัน และ โรงพยาบาลสว่างอารมณ์ แต่ใช้รูปแบบ เปิดกระจกกว้าง ซึ่งก็ได้ประสิทธิภาพเช่นกัน ซึ่งเมื่อสังเกตุที่ ห้องทำบัตร ก็เปิดกระจกกว้างเช่นกัน เจ้าหน้าที่ที่โรงพยาบาลลานสักก็คงไม่ต้อง ตะเบ็งเสียง คุยกับคนไข้

เนื่องจากเวลาที่เร่งรัด ทำให้ผู้เขียนไม่สามารถเก็บรายละเอียดได้หมด จึงตั้งใจว่าจะมาแวะเยี่ยมใหม่อีกสักครั้ง
โพสครั้งแรกเมื่อ 15 ก.พ.2010

วันอาทิตย์ที่ 14 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2553

โรงพยาบาลสว่างอารมณ์


ออกจากโรงพยาบาลทัพทัน ถึงโรงพยาบาลสว่างอารมณ์ เหมือนสับสวิตช์ ผู้อำนวยการ นพ.สุชิน คันศร ดูจะเป็นคนพูดน้อย (แต่มีคนกระซิบว่า ต่อยหนัก)

โรงพยาบาลสว่างอารมณ์ ชื่อดีเหมือนอำเภอ น่าจะนำมาเป็นชื่อโครงการด้านสุขภาพจิตเด่นๆได้ เป็นโรงพยาบาลขนาด 30 เตียง



วิสัยทัศน์โรงพยาบาล เป็นสถานบริการสาธารณสุขที่มีคุณภาพ ให้บริการด้วยความเสมอภาค โดยการมีส่วนร่วมของประชาชนและชุมชน เป็นวิสัยทัศน์ที่ผู้เขียนรู้สึกได้ถึงโอกาสของความสำเร็จในการแก้ไขปัญหาสุขภาพของประชาชน เพราะโดยส่วนตัวผู้เขียนมีความเชื่อว่า ปัญหาสุขภาพหลายอย่างของประเทศเราเป็นปัญหาเรื้อรัง ก็เพราะข้าราชการประเภท พี่มีแต่ให้ เหมือนเนื้อเพลง พี่มีแต่ให้...
...พี่คนนี้ นั้นมีแต่ให้ เจ้าใช่ไหม ไม่เคยให้พี่ อยากได้อะไรหาให้ทันที ให้เจ้ามากขนาดนี้ ไม่ดีอีกหรือแม่คุณ…
ผู้เขียนยืนยันว่าการแก้ไขปัญหาสุขภาพประชาชนต้องอาศัยแนวทาง 6 ประการคือ

การมีส่วนร่วมของผู้มีส่วนเกี่ยวข้อง (Participatory) ที่มีค่านิยมร่วมในการมุ่งผลสัมฤทธิ์ (Result Based Management Value) และการบูรณาการ (Integration) กระบวนการบริหาร วิชาการ ตลอดจนเทคโนโลยีสารสนเทศ บนพื้นฐานของการจัดการระบบที่ดี (Systematic Management) และสอดคล้องกับวิถีชีวิตของชุมชน (Style of Life) บนความต่อเนื่องของเวลา(Continuity)[PRISS+C] (อ่าน PRISS และ ใจเย็นไว้โยม)
เพราะไม่เช่นนั้นก็ต้องร้องท่อนจบของเพลงด้วยความรู้สึกช้ำใจเหมือนทุกวันนี้ว่า
...พี่วันนี้ พี่ก็ยังให้ เจ้าวันไหน เจ้าจะให้พี่ ให้ความจริงใจ ให้ความรักพี่บ้างซิ ให้เจ้ามากอย่างนี้ ให้พี่ไม่ได้เชียวหรือ...

สภาพโดยทั่วไปโรงพยาบาลสว่างอารมณ์ เป็นโรงพยาบาลที่สะอาด ดูดี เรียบง่าย มีจุดที่ผู้เขียน ประทับใจ แม้เดินดูด้วยความเร่งรีบ (เนื่องจากใช้เวลาส่วนใหญ่นั่งคุยกันในห้องประชุมร่วมกับท่านสาธารณสุขอำเภอ วิมล แสงอุทัย และทีมจากสถานีอนามัยบางส่วน) ได้แก่
ห้องจ่ายยา ลักษณะคล้ายกับที่โรงพยาบาลทัพทัน คือตั้งเคาน์เตอร์ออกมาหน้าห้องยา เพื่อการจ่ายยาผู้ป่วยที่มีคุณภาพ

มุมเรียนรู้ต่างๆ เป็นมุมการเรียนรู้ที่ไม่ค่อยได้เห็น เช่น มุมเรียนรู้ธรรมะ มุมเรียนรู้ มุมพัฒนาการเด็ก มุมห้องสมุด น่าจะพัฒนาให้เข้ากับนโยบายปลัดกระทรวง นายแพทย์ไพจิตร์ วราชิต ( 3S + SLE Smile Smell Surrounding Sympathy Library Exercise) ได้แบบไม่ต้องปรับตัวมากนัก

โพสต์ครั้งแรกเมื่อ 14 ก.พ. 2010

วันเสาร์ที่ 13 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2553

โรงพยาบาลทัพทัน


โรงพยาบาลทัพทัน เป็นสถานบริการของจังหวัดอุทัยธานีแห่งแรก ที่ผู้เขียนได้ไปเยือน

รู้สึกประทับใจกับการนำเสนอของท่านผู้อำนวยการ นพ.ปรารถนา ประสงค์ดี ที่ดูจะมีไฟในการพัฒนาอยู่ตลอดเวลา


โรงพยาบาลทัพทัน เป็นโรงพยาบาลชุมชนขนาด 90 เตียง ทุกอย่างดูน่าภาคภูมิใจไปหมดสำหรับ ผอ.ป๋อง (ชื่อเล่นนพ.ปรารถนา) ซึ่งถ้าเป็นผู้เขียนก็คงจะรู้สึกเช่นเดียวกัน ทำให้นึกถึงเมื่อตอนที่ทำหน้าที่ผู้อำนวยการโรงพยาบาลชุมชน ที่คิดก็ได้คิด ทำก็ได้ทำ(อย่างที่คิด) ไม่เหมือนเมื่อมาทำงานระดับจังหวัด ที่เริ่มจะไม่ได้คิด แม้ได้คิดก็ไม่มีโอกาสทำตามความคิดของตน (หลายครั้งถูกห้ามคิดซะอีกแน่ะ)

โรงพยาบาลทัพทัน มีนวัตกรรมหลายอย่างที่ผู้เขียนรู้สึกประทับใจ เชื่อว่า หลายโรงพยาบาลหลายท่านผู้อำนวยการ ก็คงมีการพัฒนาคล้ายคลึงกัน ดังที่ผู้เขียนเคยบอกเล่าไว้ใน บัวบังใบ แม้เพียงเห็นรำไร แต่ก็มีที่มา ว่า สิ่งที่เราคิดว่าเราเป็นคนแรกที่คิด อาจมีคนอื่นคิดออกมาก่อน สิ่งที่เราคิดไม่ออก อาจมีคนอื่นคิดออก ความรู้และประสบการณ์ ย่อมปะปนจนปนเป ไม่รู้ใครคิดก่อนใคร หากจะนำมาใช้เพื่อประโยชน์แก่สังคม จะห่วงไปใย ว่าไม่ได้คิดเป็นคนแรก


เริ่มที่ห้องจ่ายยา หากไม่สังเกตุ อาจจะไปเห็นความแตกต่างกับห้องจ่ายยาโรงพยาบาลทั่วๆไป ที่มักปิดกระจกมิดชิด เจาะรูกระจกแบบไม่ให้พูดคุยกันรู้เรื่อง แต่ห้องยาที่นี่จัดเป็นเคาน์เตอร์จ่ายยานั่งหน้าห้อง พูดคุยกับคนไข้รู้เรื่อง หากใครกลัวเรื่องติดเชื้อก็ผูก mask ซะ เป็น presenter ป้องกันโรคทางเดินหายใจไปในตัว

ห้องชันสูตร โรงพยาบาลทัพทัน สามารถทำ lab สนองความต้องการของแพทย์ เอ้ย ตามความจำเป็นของผู้ป่วย ได้เต็มที่ เป็นเรื่องดี ที่ไม่ห่วงเรื่องค่าใช้จ่ายจนมากเกินไป เพราะแพทย์ยุคปัจจุบันอาศัย lab ค่อนข้างมาก แม้จะเป็นที่ถกเถียงกันอยู่ว่าอาจ over investigation หรือไม่ แต่หากเรากำหนดมาตรฐานให้ชัดเจน ประโยชน์ก็จะเกิดแก่ คนไข้ นั่นเอง X-ray ที่ใช้ระบบ Digital ตลอดจน การแสดง Film ที่หน้าจอห้องตรวจและห้องทันตกรรม ก็เป็นความทันสมัยที่มุ่งให้เกิดความสะดวกรวดเร็ว เป็นประโยชน์ต่อคนไข้เช่นกัน

ห้องตรวจผู้ป่วยนอกแยกประเภท เป็นอีกจุดที่ผู้เขียนประทับใจ แต่ดู ผอ.ป๋อง จะเป็นกังวลนิดๆว่า จะเป็น double standard หรือไม่ เนื่องจากใช้ตรวจผู้ป่วยนอกแยกคิวเฉพาะผู้ป่วยสิทธิต่างๆที่สามารถเบิกได้ แต่แพทย์ ชันสูตร และยา ใช้มาตรฐานเดียวกัน ผู้เขียนกลับเห็นว่า ดีแล้ว หากเราสามารถอธิบายได้ โดยเฉพาะการที่แยก ข้าราชการออกมาตรวจจากคิวปกติ เพื่อให้ข้าราชการจะได้รีบกลับไปบริการประชาชนในหน่วยงานของตน ผู้เขียนได้มาตรฐาน 2 แบบ นี้มาจากอาจารย์แพทย์ (อ้างอาจารย์ไว้ก่อน ไม่เสียหลาย) อาจารย์ท่านหนึ่งบอกว่า นศพ.(นักศึกษาแพทย์) ที่พาญาติมาต้อง รอคิว เหมือนผู้ป่วยทั่วไป เพื่อเป็นตัวอย่างที่ดี แต่อาจารย์อีกท่านบอกว่า รีบๆลัดคิว ให้นศพ. จะได้รีบส่งญาติกลับ แล้วรีบกลับไปเรียนหนังสือ (ดู มุมมอง และ มุมมอง(อีกครั้ง) )

ห้องสุขา ห้องสุขาทุกห้องของโรงพยาบาลทัพทันสะอาด ผอ.ป๋องคุยอวดแบบภูมิใจ(จริงๆ) พาผู้เขียนชมอยู่หลายห้อง โดยเฉพาะ ห้องส้วมหน้าบ้าน จะทดลองใช้ก็ไม่ได้ ผอ.ป๋องท่านเดินคุมไปด้วยทุกที่ จนในที่สุดผู้เขียนต้องอดทน ไปใช้ห้องน้ำที่โรงพยาบาลถัดไป

ทั้งหมดอาจบันทึกความประทับใจได้ไม่ครบ แต่ก็หวังว่าจะได้มาเยี่ยมชม และเพิ่มเติมส่วนอื่นๆได้ในภายหลังครับ

อ้อ ขอขอบคุณท่านสาธารณสุขอำเภอ วิภา คำแหงพล ที่มาร่วมต้อนรับ โอกาสหน้าคงมีโอกาสแวะไปเยี่ยมสสอ.นะครับ

post ครั้งแรกที่ Gotoknow
13 ก.พ. 2010

วันศุกร์ที่ 12 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2553

One Day Tour ทั่วอุทัย




ประสบการณ์จาก หนองบัวลำภู ทำให้วิธีคิดที่ อุทัยธานี เปลี่ยนไป


ความตั้งใจที่ไม่สำเร็จต้องปรับเปลี่ยน ความละเอียดอาจต้องยอมหยาบ หากหยาบแล้ว สามารถครอบคลุมในเวลาที่จำกัด


บวกกับความจำเป็นบังคับ ไม่มี Honeymoon period ต้องเร่งเดินทางดูพื้นที่ทุกอำเภอ คุณวนิดา กีรติกรณ์สุภัค นักวิชาการสาธารณสุขเชี่ยวชาญ(ด้านส่งเสริมพัฒนา) หญิงเหล็กแห่งอุทัยธานี อาสาพา One Day Tour ทั่วอุทัย ในวันพุธที่ 3 กุมภาพันธ์ 2553
โดยจัดการวางแผนเดินทางเยี่ยม โรงพยาบาลทัพทัน โรงพยาบาลสว่างอารมณ์ โรงพยาบาลลานสัก โรงพยาบาลห้วยคต(แถมสำนักงานสาธารณสุขอำเภอห้วยคต) ในภาคเช้า พักกินข้าวกลางวันแล้วตะลุยต่อไปเยี่ยม โรงพยาบาลบ้านไร่(บวกสำนักงานสาธารณสุขอำเภอบ้านไร่) โรงพยาบาลหนองฉาง และ โรงพยาบาลหนองขาหย่าง กลับถึงสำนักงานสาธารณสุขจังหวัด สี่โมงครึ่งพอดี



เมื่อกลับมาถึง ความคิดเรื่องการบันทึกเรื่องราวก็ย้อนกลับมา
แม้จะเคยคิด เคยทำ ไม่สำเร็จ แต่ถ้าใช้ความพยายามสักหน่อยก็น่าจะพอไหว
บวกแรงจูงใจที่มี คุณบุญมี(โตโต้) ตามไปบันทึกภาพไว้แทบทุกอิริยาบท ก็น่าจะลองดู
จะเริ่มที่ โรงพยาบาลทัพทันนี่แหละ รอติดตามตอนต่อไปนะครับ


[โพสต์ครั้งแรกที่ Uthaihealth Gotoknow 12 กุมภาพันธ์ 2553 22:08]


วันพฤหัสบดีที่ 11 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2553

ถึงอุทัยไม่ต้องอุทธรณ์


ผู้เขียนได้รับคำสั่งให้มาปฏิบัติราชการที่จังหวัดอุทัยธานี เดินทางมาเมื่อวันศุกร์ที่ ๒๙ มกราคม ๒๕๕๓ ได้รับการต้อนรับจาก คนอุทัย ด้วยความอบอุ่น(จนถึงอุ่นมาก เพราะวันที่เดินทางมาถึง อากาศร้อนมากจริงๆ) 


หลังจากนั้นไม่นาน ได้รับข้อความจากเจ้าหน้าที่ฝากมาถึงว่า

มาอยู่อุทัยไม่ต้องอุทธรณ์ ค่ำแล้วก็นอนที่เมืองอุทัย

ฟังแล้วก็ให้สงสัยใน ความหมาย ถาม อากู๋ แล้ว ก็ยืนยันในหลายที่หลายทางว่าเป็น คำกล่าวของคนอุทัยธานีจริง เปิด พจนานุกรมแล้วยิ่งสับสนไปกันใหญ่ เข้าใจว่าน่าจะมาจากคำว่า มาอยู่อุทัยไม่ต้อง อนาทร คือ ไม่ต้องเป็นทุกข์เป็นร้อน


ด้วยความรู้สึกเช่นนี้ คือ เมื่ออยู่อุทัยก็ไม่รู้สึกเดือดเนื้อร้อนใจ รู้สึกเหมือนเป็นบ้านหลังหนึ่ง แม้จะยังไม่เข้าใจความหมายก็ยินดีที่จะ อยู่อุทัยไม่ต้องอุทธรณ์ ค่ำแล้วก็นอนที่เมืองอุทัย (แต่ก็แอบกลับไปนอนที่ พิษณุโลก บ้างนะ)

เมื่อตัดสินใจจะเขียนบล็อกเล่าเรื่องราวที่พบพา ระหว่างการทำงาน จึงขอยืนยันความ ไม่อนาทร

หมายเหตุ

ได้รับชี้แนะจาก คุณหมอปรารถนา ประสงค์ดี ข้างล่างนี้ ว่า สำนวนนี้มาจากเพลงชื่อ อุทัยวิไล (แต่ผู้เขียน search ได้ว่าชื่อ เที่ยวอุทัย ) มีเนื้อเพลงดังนี้

เที่ยวอุทัย (มา ศรีสุวรรณ เรียบเรียง)

          อุทัยเป็นเมืองวิไล แม้ว่าได้ไปจะต้องมนต์ขลัง
          มีมณฑปอยู่บนเขาสะแกกรัง เขาพญาพายเรือมีชื่อดัง
          แถมยังมีถ้ำสวยงามนับพัน เขาตะพาบนั้นช่างงามครัน
          ปฐวีนั้นเกินจำนรร ดุจเทพเสกสรรแต่งเติมไว้ไห้
          ถึงอุทัยไม่ต้องอุทธรณ์ ค่ำแล้วก็นอนที่เมืองอุทัย
          แม้ใครได้ดำน้ำสามผุด คงไม่หลุดไปจากอุทัย

และยังพบเนื้อเพลงทำนองเดียวกันอีก คือ เพลง อุทัยธานีศรีเมือง (คำร้อง ทำนอง สุนทราภรณ์) ความว่า ......เมื่อถึงอุทัยปลอบใจมิให้อุทธรณ์ ค่ำลงก็จงโปรดนอนพักผ่อนที่อุทัย อุทัยเลื่องลือสมญาระบือ เด่นไกล เชื้อเชิญชักชวนพักใจ ณ อุทัยทั่วกัน ภูมิใจหากใครถ้าแม้นได้มาเยี่ยมเยือนต้องติดตาซึ้งในอุราทุกคืนวัน.... 


[โพสต์ครั้งแรกที่ Uthaihealth Gotoknow 11 กุมภาพันธ์ 2553 21:54]

วันเสาร์ที่ 6 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2553

มาแล้วก็ไป



สักวา 3 บทต่อไปนี้ ตั้งใจเขียนลงตีพิมพ์ใน วารสาร ของสำนักงานสาธารณสุขจังหวัดหนองบัวลำภู (ที่ตั้งวัตถุประสงค์เพื่อสื่อสารทุกเรื่องราวระหว่างเจ้าหน้าที่ในคนสาธารณสุขหนองบัวลำภู)

แต่น่าเสียดายที่รอแล้วรอเล่า ก็ไม่สามารถเกิดขึ้นได้ (ด้วยผู้เขียนไม่เชื่อ ทฤษฎีเกียร์ว่าง ของ เสี่ยตุ้ก นั่นเอง)

จึงนำมาบันทึกไว้ ณ ที่นี้ เพื่อยืนยันความตั้งใจ

บทแรก ตั้งใจให้เป็น บทสุดท้าย ก่อนลาจาก

มีคนหนองบัวจำนวนไม่น้อย ตัดพ้อถึงระบบราชการที่ไม่สนใจใยดีจังหวัดหนองบัวลำภู เปลี่ยนแปลงผู้บริหารในระดับจังหวัดเป็นว่าเล่น ระยะเวลาเพียง 16 ปี เศษ มีผู้ว่าราชการจังหวัดแล้ว 13 คน มีนายแพทย์สาธารณสุขจังหวัด 7 คน 9 สมัย หลายท่านปรารภกับผู้เขียนว่า แล้วอย่างนี้จะแก้ปัญหาประชาชนจังหวัดหนองบัวลำภูอย่างไร ความจริงผู้เขียนยืนยันแนวทางที่ได้เสนอมาตั้งแต่มาอยู่ คือ PRISS+C 
(ดู PRISS  http://buabangbai.blogspot.com/2008/09/p-r-i-s-s.html และ ใจเย็นไว้โยม  http://buabangbai.blogspot.com/2009/06/blog-post_15.html
แต่ถ้าไม่มีกระบวนการที่เกิดจาก คนอื่น ก็จำเป็นที่ คนหนองบัวลำภู ต้องตั้งต้นด้วยตนเอง หากไม่แล้วการพัฒนาก็คงต้วมเตี้ยมต่อไป

       สักวา มามา แล้วก็ไป
เห็นหนองบัว เป็นบันได หรือไรหนอ
หากยอมยอม คงเจริญ แบบเพียงพอ
คนหนองบัว ต้องไม่ย่อ ไม่พ้อใคร
สร้างแนวทาง พัฒนา ให้เด่นชัด
แก้ปัญหา ของจังหวัด ไม่หวั่นไหว
ใครย้ายมา เพียงขับเคลื่อน ผลักดันไป
ไม่ต้องคิด อะไรใหม่ ได้ไหมเอย 


บทที่สอง ตั้งใจให้สำหรับ คนที่บอกผู้เขียนเสมอว่า คนอีสานชอบทำงานแบบให้สั่ง ซึ่งผู้เขียนไม่เชื่อ และสรุปได้ในที่สุดว่า เป็นความเห็นของ คนชอบสั่ง แถมชอบเอา เงิน มาเป็น แรงจูงใจ 
(อ่าน อำนาจเงิน  http://buabangbai.blogspot.com/2009/02/blog-post_28.html ) น่าเบื่อจริงๆ