วันเสาร์ที่ 13 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2553

โรงพยาบาลทัพทัน


โรงพยาบาลทัพทัน เป็นสถานบริการของจังหวัดอุทัยธานีแห่งแรก ที่ผู้เขียนได้ไปเยือน

รู้สึกประทับใจกับการนำเสนอของท่านผู้อำนวยการ นพ.ปรารถนา ประสงค์ดี ที่ดูจะมีไฟในการพัฒนาอยู่ตลอดเวลา


โรงพยาบาลทัพทัน เป็นโรงพยาบาลชุมชนขนาด 90 เตียง ทุกอย่างดูน่าภาคภูมิใจไปหมดสำหรับ ผอ.ป๋อง (ชื่อเล่นนพ.ปรารถนา) ซึ่งถ้าเป็นผู้เขียนก็คงจะรู้สึกเช่นเดียวกัน ทำให้นึกถึงเมื่อตอนที่ทำหน้าที่ผู้อำนวยการโรงพยาบาลชุมชน ที่คิดก็ได้คิด ทำก็ได้ทำ(อย่างที่คิด) ไม่เหมือนเมื่อมาทำงานระดับจังหวัด ที่เริ่มจะไม่ได้คิด แม้ได้คิดก็ไม่มีโอกาสทำตามความคิดของตน (หลายครั้งถูกห้ามคิดซะอีกแน่ะ)

โรงพยาบาลทัพทัน มีนวัตกรรมหลายอย่างที่ผู้เขียนรู้สึกประทับใจ เชื่อว่า หลายโรงพยาบาลหลายท่านผู้อำนวยการ ก็คงมีการพัฒนาคล้ายคลึงกัน ดังที่ผู้เขียนเคยบอกเล่าไว้ใน บัวบังใบ แม้เพียงเห็นรำไร แต่ก็มีที่มา ว่า สิ่งที่เราคิดว่าเราเป็นคนแรกที่คิด อาจมีคนอื่นคิดออกมาก่อน สิ่งที่เราคิดไม่ออก อาจมีคนอื่นคิดออก ความรู้และประสบการณ์ ย่อมปะปนจนปนเป ไม่รู้ใครคิดก่อนใคร หากจะนำมาใช้เพื่อประโยชน์แก่สังคม จะห่วงไปใย ว่าไม่ได้คิดเป็นคนแรก


เริ่มที่ห้องจ่ายยา หากไม่สังเกตุ อาจจะไปเห็นความแตกต่างกับห้องจ่ายยาโรงพยาบาลทั่วๆไป ที่มักปิดกระจกมิดชิด เจาะรูกระจกแบบไม่ให้พูดคุยกันรู้เรื่อง แต่ห้องยาที่นี่จัดเป็นเคาน์เตอร์จ่ายยานั่งหน้าห้อง พูดคุยกับคนไข้รู้เรื่อง หากใครกลัวเรื่องติดเชื้อก็ผูก mask ซะ เป็น presenter ป้องกันโรคทางเดินหายใจไปในตัว

ห้องชันสูตร โรงพยาบาลทัพทัน สามารถทำ lab สนองความต้องการของแพทย์ เอ้ย ตามความจำเป็นของผู้ป่วย ได้เต็มที่ เป็นเรื่องดี ที่ไม่ห่วงเรื่องค่าใช้จ่ายจนมากเกินไป เพราะแพทย์ยุคปัจจุบันอาศัย lab ค่อนข้างมาก แม้จะเป็นที่ถกเถียงกันอยู่ว่าอาจ over investigation หรือไม่ แต่หากเรากำหนดมาตรฐานให้ชัดเจน ประโยชน์ก็จะเกิดแก่ คนไข้ นั่นเอง X-ray ที่ใช้ระบบ Digital ตลอดจน การแสดง Film ที่หน้าจอห้องตรวจและห้องทันตกรรม ก็เป็นความทันสมัยที่มุ่งให้เกิดความสะดวกรวดเร็ว เป็นประโยชน์ต่อคนไข้เช่นกัน

ห้องตรวจผู้ป่วยนอกแยกประเภท เป็นอีกจุดที่ผู้เขียนประทับใจ แต่ดู ผอ.ป๋อง จะเป็นกังวลนิดๆว่า จะเป็น double standard หรือไม่ เนื่องจากใช้ตรวจผู้ป่วยนอกแยกคิวเฉพาะผู้ป่วยสิทธิต่างๆที่สามารถเบิกได้ แต่แพทย์ ชันสูตร และยา ใช้มาตรฐานเดียวกัน ผู้เขียนกลับเห็นว่า ดีแล้ว หากเราสามารถอธิบายได้ โดยเฉพาะการที่แยก ข้าราชการออกมาตรวจจากคิวปกติ เพื่อให้ข้าราชการจะได้รีบกลับไปบริการประชาชนในหน่วยงานของตน ผู้เขียนได้มาตรฐาน 2 แบบ นี้มาจากอาจารย์แพทย์ (อ้างอาจารย์ไว้ก่อน ไม่เสียหลาย) อาจารย์ท่านหนึ่งบอกว่า นศพ.(นักศึกษาแพทย์) ที่พาญาติมาต้อง รอคิว เหมือนผู้ป่วยทั่วไป เพื่อเป็นตัวอย่างที่ดี แต่อาจารย์อีกท่านบอกว่า รีบๆลัดคิว ให้นศพ. จะได้รีบส่งญาติกลับ แล้วรีบกลับไปเรียนหนังสือ (ดู มุมมอง และ มุมมอง(อีกครั้ง) )

ห้องสุขา ห้องสุขาทุกห้องของโรงพยาบาลทัพทันสะอาด ผอ.ป๋องคุยอวดแบบภูมิใจ(จริงๆ) พาผู้เขียนชมอยู่หลายห้อง โดยเฉพาะ ห้องส้วมหน้าบ้าน จะทดลองใช้ก็ไม่ได้ ผอ.ป๋องท่านเดินคุมไปด้วยทุกที่ จนในที่สุดผู้เขียนต้องอดทน ไปใช้ห้องน้ำที่โรงพยาบาลถัดไป

ทั้งหมดอาจบันทึกความประทับใจได้ไม่ครบ แต่ก็หวังว่าจะได้มาเยี่ยมชม และเพิ่มเติมส่วนอื่นๆได้ในภายหลังครับ

อ้อ ขอขอบคุณท่านสาธารณสุขอำเภอ วิภา คำแหงพล ที่มาร่วมต้อนรับ โอกาสหน้าคงมีโอกาสแวะไปเยี่ยมสสอ.นะครับ

post ครั้งแรกที่ Gotoknow
13 ก.พ. 2010

ไม่มีความคิดเห็น: