วันจันทร์ที่ 22 พฤศจิกายน พ.ศ. 2553

ไม่เชื่ออย่าลบหลู่



เมื่อขุดเจอต้นตะเคียนจมน้ำจมดินอยู่

สังคมเราก็ไปกราบไหว้บูชา ขอเลขขอหวย.....ไม่เชื่ออย่าลบหลู่

เมื่อ หมู หมา กา ไก่ ออกลูก ออกไข่ มีสามหัวแปดกร
สังคมเราก็ไปกราบไหว้บูชา ขอเลขขอหวย.....ไม่เชื่ออย่าลบหลู่

เมื่อมีข่าวเจอ ศพเด็กที่เกิดจากการ ทำแท้ง 1000 กว่าราย
สังคมเราทำได้อย่างดี ก็เพียง ทำบุญใหญ่.....ไม่เชื่ออย่าลบหลู่

ผู้เขียนรู้สึก หดหู่ กับสำนวน ไม่เชื่ออย่าลบหลู่
ผู้เขียนยอมรับได้กับคำว่า เป็นความเชื่อส่วนบุคคล
เพราะนั่นยังให้โอกาสให้เรา ได้ใช้สมอง ได้ใช้ความคิด ว่าเรา จะเชื่อก็ได้ จะไม่เชื่อก็ได้

แต่การปิดกั้นไม่ให้เราได้ใช้ความคิด เพราะต้องเชื่อเท่านั้น หากไม่เชื่อก็ห้ามลบหลู่

หากสังคมไทยเรายังมีคำว่า ไม่เชื่ออย่าลบหลู่ ใช้แพร่หลาย ก็อย่าหมายสังคมเราจะหลุดพ้นไปจากความงมงายทั้งปวง

มองอีกด้านหนึ่ง คงเป็นความพยายามที่จะให้คนไทยเรา โง่ ไปตลอด
เพราะ คนโง่ นั้นปกครองง่ายกว่า

เด็กไทยเรามันถึง โง่ อยู่ทุกวันนี้

เอ หรือเป็นเพราะว่า

เรามันอยากโง่เอง


[โพสต์ครั้งแรกที่ From Notes on Weblog Gotoknow 22 Nov 2553 21:34]

วันอังคารที่ 9 พฤศจิกายน พ.ศ. 2553

แผ่เมตตา


เมื่อ 20 ปีที่แล้ว ผู้เขียนพบปัญหาหนักหน่วงในชีวิต ความโกรธ ความแค้น ความไม่พอใจ เกิดระหว่างผู้เขียนกับผู้ร่วมงานจำนวนมาก ความทุกข์ ยิ่งทับทวี ไม่สามารถผลักออกไปจากความรู้สึก โกรธ เกลียด แค้น ได้

ผู้เขียนไม่ใช่คนทำบุญทำทานบ่อยนัก แต่เมื่อทำบุญ ก็ปฏิบัติตาม ความเชื่อ ที่ต้องกรวดน้ำอุทิศส่วนกุศล และ แผ่เมตตาให้ บุคคลอันเป็นที่รัก และเจ้ากรรมนายเวร

อะไรไม่ทราบ ทำให้ผู้เขียนนึกถึง การแผ่เมตตา

เมื่อนึกได้ ตั้งแต่นั้น เมื่อกรวดน้ำ และ แผ่เมตตา ผู้เขียนจะอุทิศส่วนกุศลที่ทำมาให้กับคนที่คิดว่าเป็นศัตรูก่อนเป็นคนแรก ตอนนั้นคิดว่าตนเองมีศัตรูจำนวนมาก จึงอุิทิศส่วนกุศล แผ่เมตตาให้ทีละคนๆ ตามลำดับความรู้สึกโกรธเกลียด เมื่อหมดแล้วจึงเหลือบุญให้คนอันเป็นที่รักตามปกติ

ผู้เขียนพบในที่สุดว่า เมื่อทำบ่อยครั้งเข้า ผู้เขียนแผ่เมตตาให้เขาเหล่านั้นน้อยลงๆ และในที่สุดเหลือแต่คนอันเป็นที่รักเหมือนเดิม ไม่ใช่เพราะทำใจแบ่งบุญกุศลให้ไม่ได้ แต่เพราะความโกรธเกลียดหายไปจนหมดสิ้น ความเป็นศัตรูหายไปจนหมดสิ้น เมื่อพบเจอก็ไม่มีความรู้สึกโกรธเกลียดใดๆ มีแต่ความรู้สึกของการเป็นมิตร

เมื่อไม่กี่วันมานี้ คุณจำรัส นิมิตพรชัย เภสัชกรเชี่ยวชาญ สำนักงานสาธารณสุขจังหวัดอุทัยธานี เพิ่งสึกมาจากการไปบวช 1 พรรษา กลับมารายงานตัวทำงานพร้อมด้วยหนังสือเล่มเล็กชื่อ บทสวดมนต์ บอกว่า ลายเส้นสวยดี ลองไปอ่านดู

ผู้เขียนไม่นิยมอ่านหนังสือธรรมะ แต่ก็พลิกๆดู ด้วยความเกรงใจ พบข้อเขียนของท่าน ว.วชิรเมธี จึงได้คำอธิบายที่ชัดเจนของการแผ่เมตตา
ต้องขออนุญาตคัดลอก มาแสดงไว้ ณ ที่นี้

ทำไม สวดมนต์แล้วต้องแผ่เมตตาด้วย

การแผ่เมตตา มีประโยชน์และมีความสำคัญมาก เป็นการฝึกให้เราเรียนรู้ที่จะรักตัวเอง พร้อมๆกับการรู้จักรักคนอื่นด้วย ถ้าเรารักตนเองพร้อมๆกับที่เรารักคนอื่น เราก็จะเป็นมนุษย์ที่ไม่กล้าทำร้ายใคร และโดยวิธีเช่นนี้โลกนี้ก็จะมีแต่สันติสุข เมตตาที่เราเผื่อแผ่ไปทุกวันนั้น ก็จะทำให้จิตใจของเราชุ่มเย็น ผู้ที่ได้รับกระแสแห่งเมตตาก็เบิกบานมีความสุข เช่นกัน หากโลกเรานี้เต็มไปด้วยผู้คนซึ่งมีความเมตตากรุณาเป็นเรือนใจ โลกนี้ก็จะมีแต่ความสุขสวัสดีมีชัย การเบียดเบียน มุ่งร้ายทำลายกัน การสงครามทั้งหลาย ก็จะไม่เกิดขึ้น หรือเกิดขึ้นก็น้อยมาก ดังนั้น การแผ่เมตตาจึงเป็นศิลปะในการอยู่ร่วมกันในโลกอย่างสันติสุข...ว.วชิรเมธี

ผู้เขียนเห็นว่า สังคมทุกวันนี้ มีแต่การแบ่งฝักแบ่งฝ่าย ฝ่ายตรงข้ามคือศัตรู

ในที่ทำงาน ก็มีฝักมีฝ่าย มีโกรธ มีเกลียด มีแค้น มีศัตรู

วันนี้มาเชิญชวนให้ แผ่เมตตา แผ่ให้คนที่เราไม่ชอบนั่นแหละ

เมื่อทำแล้ว ใครจะเป็นอย่างไรไม่รู้ แต่เราเองจะมีความสุขขึ้น 


[โพสต์ครั้งแรกที่ Gotoknow Blog Office 09 พฤศจิกายน 2553 13:15]

วันอาทิตย์ที่ 17 ตุลาคม พ.ศ. 2553

เจ้าเข้าครอง


เมื่อหน่วยบริการสุขภาพ ยอมรับตัวเองเป็น ผู้ขายบริการ เสียแล้ว

ผู้ซื้อก็ย่อมถือตนเป็น เจ้าเข้าครอง ผู้ขาย

ใครมาเป็นเจ้าเข้าครอง คงจะต้องบังคับขับใส
เคี่ยวเข็ญเย็นค่ำกรำไป ตามวิสัยเชิงเช่นผู้เป็นนาย
เขาจะเห็นแก่หน้าค่าชื่อ จะนับถือพงศ์พันธุ์นั้นอย่าหมาย
ไหนจะต้องเหนื่อยยากลำบากกาย ไหนจะอายทั่วทั้งโลกา

(สร้อยเพลง บทพระราชนิพนธ์ในพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว)
[โพสต์ครั้งแรกที่ Gotoknow Blog Office 17 ตุลาคม 2553 14:03]

วันอาทิตย์ที่ 10 ตุลาคม พ.ศ. 2553

วังน้ำวน


ตั้งแต่ สำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ ใช้เงินเป็นปัจจัยหลักในการผลักดันงานดูแลสุขภาพประชาชน

การบริหารหน่วยบริการสุขภาพก็เปลี่ยนไป เป็นการบริหารโดยมี เงินเป็นตัวตั้ง

อะไรที่ทำแล้วได้เงิน...ทำ
อะไรที่ทำแล้วไม่ได้เงิน...ไม่ทำ

โรงพยาบาลและสถานีอนามัย ในยุคก่อนหน้าไม่นานมานี้
แม้ไม่มีเงิน เราก็บริหารจัดการให้ โรงพยาบาลและสถานีอนามัย สามารถดูแลสุขภาพประชาชนได้

ปัจจุบัน เราเองก็ต้องมีเงินเป็นตัวผลักดันให้ทำงาน เราเรียกมันว่า แรงจูงใจ

เรากำลังถูกกระแสเงินพัดพาให้ไปอยู่ใน วังน้ำวน ของเงินตรา

เราต้องรีบออกมาจากวังวน ก่อนที่จะ ลึกลงทุกที

แล้วเราก็จะไม่สามารถหลุดพ้นจาก วังน้ำวน

วังน้ำวนสายชลวนเชี่ยว เป็นเกลียวลึกลง
เกลียวน้ำวน วนวิ่งดิ่งตรง ลึกลงทุกที
สิ่งใดที่หลงในวัง วนอับจนจะพ้นหรือมี
สายชลเชี่ยววนทวี เหลือที่จะดันสายชล

(วังน้ำวน คำร้อง แก้ว อัฉริยะกุล ทำนอง เอื้อ สุนทรสนาน)

[โพสต์ครั้งแรกที่  Gotoknow Blog Office 10 ตุลาคม 2553 21:40]

วันจันทร์ที่ 4 ตุลาคม พ.ศ. 2553

รากแก้ว


ต้นไม้แผ่กิ่งก้านสาขาใหญ่โต
รู้ว่าไม่มี รากแก้ว เมื่อโดนพายุพัดโค่นล้ม
องค์กร ก็เช่นกัน จะรอจนรู้ว่าไม่แข็งแรงและล้มลงเพราะวิกฤต
หรือจะรีบ เสริมฐานรากให้แข็งแรง

[โพสต์ครั้งแรกที่ My Idea Gotoknow 04 ตุลาคม 2553 13:18]

น้ำดี VS น้ำเสีย


หลายคนบอกว่า ให้เอาน้ำดีไปไล่น้ำเสีย


ในหลักการทางวิชาการ มีแต่ของเสียจะเข้ามาผสมในน้ำดี
และรวมตัว กลายเป็นน้ำเสียในที่สุด


น้ำดีจึงไม่มีทางไล่น้ำเสีย

ด้วยเหตุนี้ เราจึงสูญเสียคนดีไปจำนวนมาก



[โพสต์ครั้งแรกที่ My Idea Gotoknow 04 ตุลาคม 2553 13:12 ]

สมองมีไว้คิด


สมองมีไว้คิด หากไม่คิด ก็ไม่จำเป็นต้องมีสมอง

ตามทฤษฎีวิวัฒนาการ ส่วนไหนของร่างกายที่ไม่ค่อยได้ใช้ก็จะค่อยๆเล็กลงฝ่อลง

ที่สำคัญ มันฝ่อทั้งเผ่าพันธุ์ ไม่ใช่ฝ่อลงแต่ท่านคนเดียว

อย่าทำตัวเป็น ผู้ทำลายล้างเผ่าพันธุ์ ด้วยการ

1.ไม่คิด ทำตามแนวคิดของผู้อื่นเพียงอย่างเดียว

2.คิดคนเดียว ไม่ให้โอกาสคนอื่นคิด

[โพสต์ครั้งแรกที่ My Idea Gotoknow เมื่อ  04 ตุลาคม 2553 12:54]

โดนทำร้าย แต่ต้องไม่โดนทำลาย




หลายคนคิดว่า ต้องรักจึงอกหัก


ฟังเพลง อกหัก ของ บอดี้สแลม แล้ว

จึงควรซาบซึ้งใจว่า ไม่รักก็อกหักได้

อกหักจากเพื่อน อกหักจากผู้ร่วมงาน
อกหักจากคนรู้จัก อกหักจากคนไม่รู้จัก

แต่

...คนๆเดียวมันไม่มีสิทธิขนาดนั้น...
...ชีวิตแค่โดนทำร้าย แต่ที่สุดมันต้องไม่โดนทำลาย...
...ให้มันทำลายชีวิตไม่ได้...


[โพสต์ครั้งแรกที่ My Idea Gotoknow 04 ตุลาคม 2553 09:56]

วันอังคารที่ 7 กันยายน พ.ศ. 2553

ไข้เลือดออก กับ ยางรถยนต์


เมื่อเข้าฤดูฝน คนทำงานด้านสาธารณสุข ก็ต้องพูดกันเรื่อง ไข้เลือดออก 

ไม่ใช่ว่า ไม่รู้จะคุยกันเรื่องอะไร แต่ ไข้เลือดออก มันเป็นโรคที่มากับฝนจริงๆ
ผู้เขียน รบ กับไข้เลือดออกมาตั้งแต่ยังเรียนไม่จบ เพราะต้องตอบข้อสอบวิชา เวชศาสตร์ป้องกัน
คำตอบข้อสอบตอนนั้น ท่องมาใช้ตอนนี้ และต่อๆไปได้ว่า วิธีป้องกันไข้เลือดออกคือ ต้องคว่ำกะโหลกกะลากำจัดลูกน้ำยุงลาย 

เรียนจบมาทำงานจนใกล้จะเกษียณอายุราชการ เมื่อถึงฤดูฝนทีไร ก็ต้องออกไป คว่ำกะโหลกกะลา และคงต้องคว่ำกันต่อไป แม้ว่าจะอยาก กรวดน้ำคว่ำขัน ซะให้รู้แล้วรู้รอด

เบื่อที่จะบอกว่า เพื่อไม่ให้เจ็บป่วยตายด้วยไข้เลือดออก เราๆท่านๆ ต้องทำ 4 ต้องต่อไปนี้

1. ต้อง อย่าให้ยุงลายกัด
2. ต้อง ฆ่ายุงลายตัวแก่ให้หมด
3. ต้อง ฆ่าลูกน้ำยุงลายให้หมด
4. ต้อง อย่าให้มีแหล่งเพาะพันธุ์ยุงลายอีกต่อไป

หลายท่านมีปัญหากับ ยางรถยนต์

ไม่รู้เป็นยังไง ชาวบ้าน ชอบเก็บยางรถยนต์ใช้แล้วไว้กับบ้าน มักอ้างว่า จะเอาไว้ทำโน่นทำนี่ ทั้งที่ขายได้ก็ไม่ขาย

จนแล้วจนรอดก็กองไว้ขังน้ำฝนเพาะพันธุ์ยุงลาย


ยางรถยนต์เป็นภาชนะขังน้ำที่กำจัดยาก เทน้ำไม่หมด เจาะเป็นรูก็ยาก ผู้เขียนก็จนปัญญากับยางรถยนต์จนเมื่อมาที่ อุทัยธานี

เห็นเจ้าของร้าน อุทัยคาร์เซอร์วิส-กิจยางยนต์ ทำดี น่าสนใจ จึงถือโอกาสเอามาบอกต่อ



คือเอาตาข่ายมุ้งในล่อนมาหุ้มยางไว้ เรียกว่า กางมุ้งให้ยาง

ป้องกันได้แค่ไหน ไม่แน่ใจ แต่อย่างน้อยก็เห็นความพยายามรับผิดชอบต่อสังคม

ไม่ลองลุกขึ้นไปดูยางรถยนต์เก่าข้างบ้านหน่อยเหรอ



หมายเหตุ

รูปล่างเป็นอ่างบัวที่มีปลาหางนกยูง คอยกินลูกน้ำที่หน้าบ้าน เรือนทิวา อุทัยธานี เหมือนกันครับ



[โพสต์ครั้งแรกที่ Gotoknow Blog Office 07 กันยายน 2553 13:59]


วันเสาร์ที่ 14 สิงหาคม พ.ศ. 2553

หมอเป็นใบ้


ที่ตึกผู้ป่วยนอก โรงพยาบาลใหญ่แห่งหนึ่ง ในจังหวัดใหญ่ภาคเหนือตอนล่าง ตึกผู้ป่วยทาสีเขียวๆ

เล่าต่อๆกันมาว่า ที่ตึกแห่งนี้ ให้บริการผู้ป่วยด้วยใจ ทำมานาน ก่อนนโยบายรัฐมนตรี ที่เรียกว่า 3 ดี (เดิม 3S ) เสียอีก

นโยบาย 3 ดี นะ จิ๊บๆ

คนไข้ที่ตึกนี้ส่วนใหญ่จะเป็น คนไข้เก่า คุ้นเคยกับเจ้าหน้าที่(ที่เก่าเหมือนกัน) บ่อยครั้งที่เอาขนมนมเนยมาฝากหมอ แบบที่เคยได้ยินมาเมื่อสมัยโบราณ บ่งบอกถึง ความสัมพันธ์ที่ดีระหว่าง หมอกับคนไข้ ความสัมพันธ์ที่หายไปนาน สามารถกลับมาได้ด้วยความพยายามของทีมงานเจ้าหน้าที่ทุกคน (แต่ไม่รู้ว่าความสัมพันธ์เหล่านี้จะเลือนหายไปอีกหรือไม่ เมื่อมีคนพยายามเข็น พรบ.คุ้มครองผูัเสียหายจากการรับบริการสาธารณสุข ออกมา)

วันหนึ่ง คุณลุงผู้ป่วยเก่า ไปใช้บริการที่ตึกผู้ป่วยอื่นในโรงพยาบาลเดียวกัน กลับมาบ่นกับพยาบาลเก่า ที่ตึกเขียวๆ ที่คุ้นเคยว่า วันนี้โชคไม่ดีที่ไปเจอกับ หมอเป็นใบ้

คุณลุงเล่าว่า

หมอที่เพิ่งไปตรวจมานะ เค้าเป็นใบ้ เพราะไม่เห็นพูดจา พอเข้าไปนั่งตรวจ เห็นพลิกแฟ้มประวัติดู เขียนใบสั่ง แล้วก็ชี้ให้ออกไป พยาบาลก็ส่งไปเจาะเลือด พอผลเลือดออก พยาบาลก็เรียกเข้าไปพบหมอคนเดิม ก็ไม่เห็นพูดเห็นจาอะไร ถามอะไรก็เงียบ ไม่ถามอาการ ไม่ว่า ไม่บ่น ไม่เหมือนหมอคนอื่นที่มักจะบ่นจะว่าคนไข้ ที่ปฏิบัติตัวไม่เหมาะสม แล้วก็พยักเพยิดส่งใบสั่งยาให้ออกไปรับยาได้

ลุงถามพยาบาลเก่า คนคุ้นเคยว่า หมอคนนี้เขาเป็นใบ้เหรอ เป็นใบ้แล้วเรียนหมอมาได้ยังไง แล้ววันนี้ผมจะได้คุยกับหมอมั้ย

ร้อนถึง หัวหน้าหมอตึกเขียว ต้องรีบออกมาอธิบายคุณลุงให้เข้าใจ ทำหน้าที่แทน พยาบาลหลังตรวจ (exit nurse)

แต่ไม่รู้ว่า หัวหน้าหมอ เรียก หมอใบ้ ไปชี้แจงทำความเข้าใจหรือเปล่า ว่า

คนไข้ทุกคน พูดได้ ฟังเข้าใจ ไม่ใช่คนใบ้ หมอเข้าใจอะไรผิดอ๊ะเปล่า ถึงใช้ภาษาใบ้กับคนไข้ อิอิ


[โพสต์ครั้งแรกที่ Lanhinlad Lanpanya 14 Aug 2010]

วันจันทร์ที่ 2 สิงหาคม พ.ศ. 2553

อยากเอาชนะ


ในทุกสังคม บุคคลในสังคมย่อมต้องการการยอมรับจากผู้อื่น การได้รับการยอมรับ คือการมีสิ่งใดสิ่งหนึ่งเด่นเหนือผู้อื่น ซึ่งก็คือ ความสามารถในการเอาชนะผู้อื่นนั่นเอง

การเอาชนะทางกาย เป็นเรื่องที่ตรงไปตรงมา ตัวใหญ่กว่า กำลังมากกว่า แรงดีกว่า ย่อมเอาชนะ ตัวเล็กกว่า กำลังน้อยกว่า แรงด้อยกว่า

แต่ การเอาชนะทางใจ นั้น ไม่สามารถสู้กันด้วยกำลังในใจ ต้องสู้ด้วยการกระทำ การแสดงออก ซึ่งบ่งบอกถึง พลังใจ

ผู้เขียนได้รับแรงบันดาลใจนึกถึงเรื่องนี้จาก นายแพทย์โสภณ เมฆธน ท่านผู้ตรวจราชการกระทรวงสาธารณสุข เขต 18 เมื่อคราวมาตรวจราชการและนิเทศงาน จังหวัดอุทัยธานี ประจำปี 2553 รอบแรก เมื่อวันที่ 1 เมษายน 2553 ท่านบอกว่า

พึงเอาชนะผู้สูงกว่าด้วยการอ่อนน้อมถ่อมตน

พึงเอาชนะผู้ต่ำกว่าด้วยการให้

พึงเอาชนะผู้เท่าเทียมกันด้วยความเพียร

ผู้เขียนพิจารณาแล้ว เห็นว่า ในองค์กรหนึ่งๆ ย่อมมีทั้ง ผู้สูงกว่า ผู้ต่ำกว่า และ เท่าเทียมกัน

ผู้สูงกว่า อาจไม่สูงกว่าที่ อายุ แต่สูงกว่าด้วยตำแหน่งหน้าที่
ผู้สูงกว่า อาจไม่สูงกว่าที่ตำแหน่งหน้าที่ แต่สูงกว่าที่อายุ
ผู้ต่ำกว่า อาจไม่ต่ำกว่าที่ อายุ แต่ต่ำกว่าด้วยตำแหน่งหน้าที่
ผู้ต่ำกว่า อาจไม่ต่ำกว่าที่ตำแหน่งหน้าที่ แต่ต่ำกว่าที่อายุ

แม้ผู้ต่ำกว่า อาจต่ำกว่าทั้งอายุและตำแหน่งหน้าที่ แต่ก็อาจสูงกว่ากว่า ใน ประสบการณ์
ผู้สูงกว่า อาจไม่สูงกว่าใดๆเลย เพียงสูงกว่าเพราะ ทรัพย์ศฤงคาร

ผู้สูงกว่า ด้านหนึ่ง จึงอาจเป็น ผู้ต่ำกว่า ในอีกด้านหนึ่ง
ผู้ต่ำกว่า ด้านหนึ่ง จึงอาจเป็น ผู้สูงกว่า ในอีกด้านหนึ่ง

ไม่มีใคร สูงกว่าทุกด้าน และไม่มีใคร ต่ำกว่าทุกด้านเช่นกัน หลายอย่างอาจ เท่าเทียมกัน

เราจึงต้องปฏิบัติ ธรรมะ ดังกล่าว ทั้ง 3 สถานะ แม้กับบุคคลเดียวกัน

เมื่อจบแพทย์ใหม่ๆ ผู้เขียนคิดว่า ตนเอง สูงกว่าทุกคน แต่ก็พบในที่สุดว่า เรา ต่ำกว่า คนอื่น ในหลายเรื่อง

เมื่อเป็นผู้อำนวยการโรงพยาบาล ผู้เขียนคิดว่า ตนเอง สูงกว่าทุกคน แต่ก็พบในที่สุดว่า เรา ต่ำกว่า คนอื่น ในหลายเรื่อง

เมื่อเป็น นายแพทย์สาธารณสุขจังหวัด ผู้เขียนจึงพบว่า ตนเอง ต่ำกว่าแพทย์ ต่ำกว่าผู้อำนวยการโรงพยาบาล ต่ำกว่าคนงาน ต่ำกว่าคนขับรถ และ ต่ำกว่า คนอื่น ในหลายเรื่อง

ในฐานะผู้ต่ำกว่า เมื่ออ่อนน้อม ก็จงอ่อนน้อมทั้ง กายและใจ คำพูด การปฏิบัติตน

ในฐานะผู้สูงกว่า เมื่อให้ ก็จงให้ด้วยใจ ให้แล้ว ต้องไม่คิดมาก ไม่หวังผลตอบแทน ไม่หวังเข้าไปครอบครองยึดครอง

ในฐานะผู้เท่าเทียมกัน เมื่อเพียรพยายาม ก็ต้องเพียรในเนื้องาน มิใช่ในความเจ้าเล่ห์เพทุบาย

ท่านจึงจะเอาชนะผู้อื่นได้ เป็นการชนะทางใจ




[โพสต์ครั้งแรกที่ Gotoknow Blog Office 02 สิงหาคม 2553 11:54]

วันจันทร์ที่ 19 กรกฎาคม พ.ศ. 2553

ใครๆก็ลดโลกร้อน


ยุคนี้ใครๆก็พูดถึง โลกร้อน และ การลดโลกร้อน
ใครไม่พูดถึง โลกร้อน ก็ตก trend เรียกได้ว่า ทำตัวเป็นทองไม่รู้ร้อน
ผู้เขียนก็กลัวจะตก trend อย่างว่า ก็เลยต้องเขียนถึงการลดโลกร้อนบ้าง

เมื่อหลายเดือนก่อน(หรืออาจจะเป็นปีมาแล้ว) ได้ดูรายการโทรทัศน์ เป็นรายการเกมส์โชว์เกาหลี จำไม่ได้แล้วว่าชื่อรายการอะไร พิธีกรพูดถึง การกำจัดขยะประเภท ซองบะหมี่สำเร็จรูป ว่าจะทำอย่างไร เพราะเปลืองเนื้อที่ในถังขยะเหลือเกิน ไม่ว่าจะขยำขยี้อย่างไร มันก็จะขยายตัวกลับมาเต็มพื้นที่เหมือนเดิม

พิธีกรเฉลย ขั้นตอนที่จะทำให้ซองบะหมี่สำเร็จรูปกินเนื้อที่ในถังขยะน้อยลงมาก




คือ พับซองบะหมี่ให้เป็นชิ้นเล็กๆ แล้วจับยัดลงไปในซองเครื่องปรุง เท่านี้มันก็จะขยายตัวไม่ออก ลดเนื้อที่ในถังขยะไปได้โข

ผู้เขียนเห็นแล้วก็รู้สึกทึ่งใน Idea สร้างสรร ก็เกิดภาวะ Idea บรรเจิด ว่าปัจจุบันซองขนม ถุงใส่ของใช้มากมายก็เป็นเช่นซองบะหมี่ แป๊บเดียวเต็มถังขยะ ต่างกันที่ถุงเหล่านี้ ไม่มีซองเครื่องปรุง

จึงเอา Idea เกาหลี บวก Idea คุณยายของลูกๆ ที่เคยสอนเรื่องการพับถุงพลาสติกเก่าเก็บไว้ใช้ จากถุงใบใหญ่เป็นสามเหลี่ยมเล็กๆ โดยใช้ตัวมันเองสอดล็อคตัวเองไว้




แค่นี้ก็ลดเนื้อที่ขยะไปได้ แต่ไม่ลดการใช้ถุงพลาสติก อาจลดเนื้อที่การขนส่งขยะทั้งวงจร ก็พอจะอ้างว่า ลดโลกร้อนได้บ้างละน่า

[โพสต์ครั้งแรกที่ From Notes on Weblog Gotoknow 19 Jul 2553 13:26]








วันอังคารที่ 22 มิถุนายน พ.ศ. 2553

Why keep a dog and bark yourself ?


คนทำงาน หลายท่าน บ่นกับผู้เขียนถึงผู้บังคับบัญชาตนเองว่า

ทำงานละเอียดจัง คิดให้ทุกอย่าง จนผู้ใต้บังคับบัญชาไม่ต้องคิดอะไร บางครั้งถึงกับลงทุนทำเองในงานเล็กๆ แทนที่จะนั่งคิดการใหญ่ แล้วมอบหมายให้ผู้ใต้บังคับบัญชาได้ใช้ศักยภาพพัฒนางาน

สงสัยว่า เป็นเพราะไม่ไว้ใจผู้ใต้บังคับบัญชา เกรงงานจะออกมาไม่ได้ดี
หรืออาจ เป็นเพราะเมื่อสมัยก่อนไม่เคยได้ทำเอง เพิ่งมีโอกาสทำ
หรืออาจ เป็นเพราะทำงานไม่เป็น ไม่เข้าใจบทบาทหน้าที่ของตน

ผู้เขียนไปเจอสำนวนอังกฤษตามที่ตั้งเป็นชื่อเรื่องไว้ คิดว่าเข้ากันได้กับผู้บังคับบัญชาประเภทนี้

ก็เลยเอามาฝากครับ

Why keep a dog and bark yourself ?

เป็นสำนวน แปลได้ความว่า

There's no need to do something yourself when you have somebody to do it for you.

เฮ้อ! ลงทุนซื้อ บางแก้ว มาเลี้ยงเฝ้าบ้าน แต่กลับเอาไปผูกไว้หลังบ้าน แล้วมาคอยนั่งเห่าไล่ขโมยเอง

[โพสต์ครั้งแรกที่ Gotoknow Blog Office 22 มิถุนายน 2553 12:20]

วันอังคารที่ 25 พฤษภาคม พ.ศ. 2553

Up to you


ผู้เขียนไม่เคยใช้สำนวน Up to you มาก่อน และได้รู้จักคำนี้จากเพื่อนร่วมงานท่านหนึ่ง ซึ่งถ้าท่านที่เคยติดตามผู้เขียนมาสักระยะ ก็จะรู้จัก เภสัชกรศิริชัย ระบาเลิศ หรือ เสี่ยตุ้ก หัวหน้ากลุ่มงานคุ้มครองผู้บริโภคและเภสัชสาธารณสุข สำนักงานสาธารณสุขจังหวัดหนองบัวลำภู เป็นอย่างดี

ศิริชัย ชอบพูดคำว่า Up to you แล้วก็แปลให้ฟังอย่างตรงไปตรงมา เข้าใจง่ายว่า แล้วแต่มึง

ผู้เขียนก็ยังคงไม่เคยใช้ Up to you ต่อไป เว้นแต่เมื่อโดนศิริชัยยัดเยียดให้ มาคิดถึงคำนี้อีกครั้ง เมื่อนั่งอบรมหลักสูตร ผู้นำ Proactive อยู่ที่โรงแรมชมวิว อำเภอหัวหิน จังหวัดประจวบคีรีขันธ์ ตามโครงการพัฒนาศักยภาพผู้บริหารของ ผู้ว่าฯชนม์ชื่น บุญญานุสาสน์ ผู้ว่าราชการจังหวัดอุทัยธานี เมื่อวันที่ ๒๑-๒๒ พฤษภาคม ๒๕๕๓ ที่ผ่านมา เมื่อผู้บรรยายพูดถึงคำว่า ปลดปล่อยศักยภาพ

แล้วมันเกี่ยวอะไรกับ Up to you

Up to you แปลให้น่าฟังก็ แล้วแต่ความเห็นของคุณ ตามใจคุณ แล้วแต่คุณ

เวลานั่งที่โต๊ะสั่งอาหาร ผู้เขียนมักตอบว่า ตามใจ เมื่อภรรยาถามว่า จะกินอะไร Up to you

ผู้ใต้บังคับบัญชาจำนวนไม่น้อย ชอบที่จะให้ผู้บังคับบัญชาตัดสินใจเสียทุกเรื่องทุกราว อะไรๆก็ Up to you แล้วแต่นาย

ในที่สุด ผู้บังคับบัญชา ก็เคยชิน คิดแทนทุกเรื่อง เหมือนผู้เขียนที่สูญเสียอำนาจการตัดสินใจไปแล้ว เมื่อบอกว่าตนเองอยากจะกินอะไร ภรรยาก็จะบอกว่า อย่ากินเลยเมนูนั้นเอาเมนูนี้ดีกว่า Up to me

ในฐานะผู้บังคับบัญชา ผู้เขียนไม่สุขใจนัก เมื่อเจอผู้ใต้บังคับบัญชาประเภท Up to you

ทำไมจะต้องมาถามความเห็นเสียทุกเรื่องราว ทุกอย่างต้องรอให้ผู้บังคับบัญชาตัดสินใจ โดยเฉพาะอย่างยิ่งบางท่านไม่เสนอแนวคิดอะไรเลย มาด้วย สมองใสๆ อย่างแท้จริง

หากท่านไม่คิดอะไรเลย ท่านจะแสดงศักยภาพในตัวเองออกมาได้อย่างไร

ในฐานะผู้ใต้บังคับบัญชา ผู้เขียนก็เบื่อผู้บังคับบัญชา ประเภท Up to me

ผู้บังคับบัญชาที่ไม่ยอมให้ผู้ใต้บังคับบัญชาได้คิด ได้เป็นตัวของตัวเอง

ทุกคนมีศักยภาพเพียงพอในการทำงาน ไม่ต้องเป็นห่วง เป็นกังวลไปเสียทุกเรื่อง
ต้องรู้จัก ปลดปล่อยศักยภาพ ของผู้ใต้บังคับบัญชาบ้าง

หมายเหตุ ทั้งหมดนี้ยกเว้น ผู้บังคับบัญชาที่บ้าน ที่ยังคงเหมือนเดิม อิอิ




[โพสต์ครั้งแรกที่ Gotoknow Blog Office 25 พฤษภาคม 2553 11:40]

วันศุกร์ที่ 7 พฤษภาคม พ.ศ. 2553

Dropbox


วันนี้ผู้เขียนลาพักผ่อนหนึ่งวัน แต่ก็โดนโทรศัพท์ ทวงรายงาน แต่เช้า

เมื่อติดตามก็ได้รับคำตอบว่า ส่งไปแล้ว ผู้รับสับสนเอง ผู้เขียนเข้าใจเอาเองว่า กระบวนการทั้งหมดเกิดจากระบบการส่งที่ใช้วิธีแนบไฟล์ส่งทาง email ซึ่งผู้เขียนเองไม่ค่อยชอบใช้ ไม่ว่าจะเป็น free email หรือ email ขององค์กร ด้วยเหตุที่ว่า

1. การแนบ file ไปกับ email มักมีข้อจำกัดเรื่อง ขนาดของ file ที่ใหญ่มากไม่ได้
2. การส่งไปทาง email มักมีข้อถกเถียงกันว่า ไม่ได้ส่ง กับ ส่งแล้วไม่รับ เพราะไม่มีระบบตรวจสอบ ผู้ส่งอาจไม่ได้ส่งจริงๆ หรือส่งแล้วแต่ผู้รับยังไม่ได้ check mail ของตน หรือ มันอาจตกไปอยู่ที่ ถังขยะ ผู้เขียนจึงไม่ค่อยชอบให้ผู้ร่วมงานส่งข้อมูลในลักษณะ file ทาง email เว้นแต่เป็นเรื่องส่วนตัว

ผู้เขียนชอบใช้ Dropbox ของ http://www.dropbox.com ใช้มาหลายปี ตั้งแต่ ลูกชาย(ธันวา ธีระกาญจน์) แนะนำ พบว่ามีข้อเด่นหลายประการ

กรณีใช้งานคนเดียว

1. Dropbox ใช้สำหรับเก็บข้อมูล ให้เนื้อที่ฟรี 2GB (มี promotion กรณีแนะนำให้ผู้อื่นใช้ ตอนนี้ผู้เขียนได้เนื้อที่ 3.25GB)
2. เมื่อสมัครใช้ และ Download Dropbox มาติดตั้งในเครื่องคอมพิวเตอร์ มันจะจัดการสร้าง Folder ให้เครื่องเราใช้ชื่อว่า My Dropbox ใน Documents(My Documents) ต่อนี้ไป หากเครื่องเราอยู่ในสถานะ online เมื่อเราวาง file ใดๆลงใน Folder My Dropbox มันจะจัดการ upload ข้อมูลไปเก็บใน sever ของระบบ เราจึงมีข้อมูล backup ได้ทันที File ใหญ่หน่อยก็ไม่ค่อยมีปัญหา
3. กรณีมีคอมพิวเตอร์ใช้งานหลายเครื่อง (สำหรับผู้เขียนใช้ 4 เครื่อง คือ เครื่องที่ทำงาน เครื่องที่บ้าน โน้ตบุ้ค และ pocket PC Phone ) หากเรา set up ทุกเครื่องของเราด้วย user name เดียวกัน เมื่อเรา online ทุกเครื่องของเราก็จะได้รับการ Synchronize ให้ทุกเครื่องเหมือนกัน ไม่ต้องใช้ Handy drive ไม่ต้องสับสนกับ ไฟล์ใหม่เก่า หากผิดพลาดประการใด Dropbox จะจัดการเก็บไฟล์ที่ incompatible ไว้ให้เลือกใช้
4. หากผิดพลาดลบไฟล์สำคัญทิ้งไป ยังสามารถเข้าทาง web กู้กับคืนได้ แถมมี log file บันทึกกิจกรรมของเราไว้เรียบร้อย หากไปใช้เครื่องที่ร้านเน็ต ก็สามารถเปิดผ่าน web ไป download ไฟล์ที่ต้องการได้
5. สามารถใช้งาน offline ได้ เมื่อไรที่ online มันก็จะจัดการ update ทุกอย่างเอง

กรณีใช้งานร่วมกับผู้อื่น

Dropbox อนุญาตให้ share folder ได้ ทุกคนที่ share folder ร่วมกันสามารถ เห็น ใช้ ใน folder นั้นร่วมกัน มันจัดการ sync ให้ทุกเครื่อง ใครเป็นผู้ใส่ไฟล์นั้นลงมา ใครลบทิ้ง ใครแก้ไข มันเขียนไว้ใน log file เป็นหลักฐาน

หากต้องการใช้งานมากๆ ก็จ่ายเงินซื้อเนื้อที่เพิ่มเอาเองหากหน่วยงานนำเอา Dropbox หรือโปรแกรมอื่นใดลักษณะนี้ มาใช้ ก็จะลดปัญหาการส่งรายงานได้พอสมควร

Try it


[โพสต์ครั้งแรกที่ Gotoknow Blog Office 07 พฤษภาคม 2553 15:50]

วันอังคารที่ 27 เมษายน พ.ศ. 2553

โรงพยาบาลห้วยคต

วันพุธที่ 3 กุมภาพันธ์ 2553 ผู้เขียนยังคงเดินทางต่อเพื่อแวะเยี่ยมโรงพยาบาลชุมชนในจังหวัดอุทัยธานีให้ครบทุกแห่งตามเป้าหมาย แต่มีเหตุให้ต้องแวะที่ สำนักงานสาธารณสุขอำเภอห้วยคต เนื่องจากท่านสาธารณสุขอำเภอทวีป ต้องการให้แวะดูอาคารสำนักงานโทรมๆ สักหน่อย

เมื่อออกจากสำนักงานสาธารณสุขอำเภอห้วยคตก็รีบเดินทางไป โรงพยาบาลห้วยคต ที่อยู่ไม่ไกลกัน ที่ต้องรีบเพราะเลยเวลาเที่ยงแล้ว ถึงแม้ ถึงอุทัยไม่ต้องอุทธรณ์ แต่ตอนนี้ท้องเริ่มร้องอุทธรณ์ นัดผู้อำนวยการโรงพยาบาล คุณหมอ วิชาญ แป้นทอง ไว้แล้ว คุณสำรอง พขร.มือหนึ่ง จึงพาอ้อมไปด้านหลังโรงพยาบาล แวะโรงอาหารก่อน เรื่องอื่นค่อยว่ากันทีหลัง

ท่านผู้อำนวยการจัดอาหารให้เป็นพิเศษ เป็นเมนู หมูทอด น้ำพริกผักต้ม และต้มยำเห็ด มีทีมงานโรงพยาบาลมาร่วมรับประทานอาหารหลายคน



หลังจากนั้นจึงขึ้นไปเยี่ยมชมโรงพยาบาล ระหว่างทางสังเกต ว่ามีระบบประปาของโรงพยาบาลที่มีถังเก็บน้ำใส ขนาดใหญ่ แต่บริเวณสนามหญ้าทั่วไปดูแห้งแล้ง เข้าใจว่าอยู่ในช่วงที่ต้องประหยัดน้ำไว้ใช้
โรงพยาบาลห้วยคต เป็นโรงพยาบาลขนาด 30 เตียง มีประชากรในระบบหลักประกันสุขภาพเพียงประมาณ 18000 คน จึงค่อนข้างมีปัญหาในการบริหารจัดการด้านการเงินการคลัง โดยเฉพาะอย่างยิ่งเมื่อคณะกรรมการระดับจังหวัดพิจารณาการจัดสรรงบประมาณแบบ ตามประชากรจริง ด้วยเห็นว่า ช่วยกันเองภายในจังหวัดมานานแล้ว ส่วนกลางก็มองไม่เห็นสักทีว่าเป็นปัญหา ก็เลยทดลองชนิดที่ พอประชุมจัดสรรงบประมาณเสร็จ ผู้อำนวยการโรงพยาบาลห้วยคตก็เรียกรถ Ambulance มารับกลับโรงพยาบาลทันที

หลังจากนั้น ผู้เขียนได้ติดตามท่านผู้ตรวจราชการกระทรวงสาธารณสุข นายแพทย์โสภณ เมฆธน ไปเยี่ยมโรงพยาบาลห้วยคตอีกครั้ง เมื่อวันศุกร์ที่ 5 กุมภาพันธ์ 2553 จึงได้มีเวลาพูดคุย รับทราบปัญหามากขึ้น เช่น การจัดตั้ง กองทุนสุขภาพตำบล ที่ยากเย็นเข็ญใจ ทั้งที่ทั้งอำเภอมีเพียง 3 ตำบล ทำให้งบประมาณโดยรวมที่จะเข้ามาแก้ไขปัญหาสุขภาพประชาชนก็ยิ่งน้อยลงไปอีก ฯลฯ

อย่างไรก็ตาม ผู้อำนวยการและทีม ก็ยังมีแรงขับ ที่จะทำงานต่างๆให้เคลื่อนไปได้ แม้จะไม่ค่อยมีเงิน ก็ยังพยายามสนับสนุนสถานีอนามัยต่างๆในเขตรับผิดชอบ เช่น การต่อเติมอาคารชั้นล่างของสถานีอนามัย (ซึ่งผู้เขียนก็ไม่ทราบเหมือนกันว่า คนออกแบบคิดอย่างไร ให้สถานีอนามัยทั่วประเทศไทยแบบ ใต้ถุนสูง จน คนเจ็บ คนไข้ เด็ก คนท้อง คนแก่ ต้องปีนบันไดขึ้นไปหาหมอทุกคน หรือมันจริงที่เขาว่ากันว่า เป็นแผนที่จะให้มาหาเงินต่อเติมเอง)

เอาใจช่วยเต็มที่นะครับ (ส่วนเงินค่อยหาช่วยทีหลัง)

โพสต์ครั้งแรกเมื่อ 27 เม.ย. 2010 

วันพฤหัสบดีที่ 15 เมษายน พ.ศ. 2553

สำนักงานสาธารณสุขอำเภอห้วยคต


วันพุธที่ 3 กุมภาพันธ์ 2553 หลังจากแวะเยี่ยมโรงพยาบาลชุมชนในจังหวัดอุทัยธานีแล้ว 3 แห่ง
ท่าน ส.วนิดา(ส. เป็นชื่อย่อที่คนในสำนักงานสาธารณสุขจังหวัดเรียก นักวิชาการสาธารณสุขเชี่ยวชาญด้านส่งเสริมพัฒนา) บอกในการเดินทาง One Day Tour ทั่วอุทัย ว่า ก่อนจะถึงโรงพยาบาลห้วยคต ควรจะแวะดู สำนักงานสาธารณสุขอำเภอห้วยคต สักหน่อย

อำเภอห้วยคต อยู่ห่างจากตัวจังหวัดประมาณ 45 กิโลเมตร แยกการปกครองมาจากอำเภอบ้านไร่ จังหวัดอุทัยธานี ประกอบด้วย 3 ตำบล 31 หมู่บ้าน ได้แก่ ตำบลห้วยคต 10 หมู่บ้าน ตำบลสุขฤทัย 13 หมู่บ้าน ตำบลทองหลาง 8 หมู่บ้าน ประชากรประมาณ 20000 คน มีคำขวัญประจำอำเภอว่า

ห้วยคตป่าใหญ่ รวมใจทุกคน ใจคนงดงาม น้ำพุร้อนพุน้ำใส พระใหญ่ เขาเชือกงาม น้ำตกไซเบอร์

ฟังดูแล้วรู้สึกสะดุดที่ น้ำตกไซเบอร์ เพราะฟังดูแล้วทันสมัยดี เหมือนเป็นน้ำตกในโลกอินเตอร์เน็ทยังไงอยู่ แต่พอซักไซร้ไล่เรียงแล้ว คำว่า ไซเบอร์ เป็นภาษากระเหรี่ยง(แต่ไม่รู้แปลว่าอะไร) มีชื่ออีกชื่อว่า น้ำตกหินลาด

เมื่อได้แวะเยี่ยม ท่านสาธารณสุขอำเภอ ทวีป สมัครการไถ นับเป็นสาธารณสุขอำเภอคนล่าสุด หนุ่มสุด ของอุทัยธานี ยืนรอรับอยู่ บอกว่าค่อยๆขึ้นบันไดนะ แล้วก็อย่าขึ้นไปทีละหลายคน กลัวสำนักงานรับไม่ไหว




เป็นสำนักงานสาธารณสุขอำเภอที่ใช้อาคารสถานีอนามัยเก่า น่าจะมีใครทำข้อมูลไว้จะได้รู้ว่า เป็นสถานีอนามัยรุ่นไหน ปัญหาที่ยิ่งใหญ่คือ ปลวกขึ้นทั้งหลัง จนต้องคอยเตือนผู้มาเยือนว่า อย่าเผลอไปยืนพิงเสาหรือฝา เดี๋ยวพลาดพลั้งไปจะได้ออก เก็บตก หรือ สะเก็ดข่าว

ท่านสาธารณสุขอำเภอแจ้งว่าได้ของบประมาณก่อสร้างทดแทนไปตามโครงการใครเข้มแข็ง เอ้ย ไทยเข้มแข็ง แต่ปรากฏว่ากระทรวงสาธารณสุขไม่ค่อยเข้มแข็ง จนป่านนี้ยังไม่ได้ใช้เงินสักบาทเดียว แต่โดนตราหน้าว่า ทุจริต ไปแล้ว ไม่รู้ว่าอาคารสำนักงานสาธารณสุขอำเภอห้วยคต จะขึ้นต้นตรงปลายคดสมชื่ออำเภอหรือเปล่าก็ไม่รู้

ฟังการนำเสนอของท่านสาธารณสุขอำเภอแล้วก็ให้เป็นงงหน่อย ในระบบการดูแลสถานีอนามัยของจังหวัดอุทัยธานี ที่ยึดเอาประชาชนเป็นศูนย์กลาง มีสถานีอนามัย 3 แห่ง คือ สถานีอนามัยสุขฤทัย สถานีอนามัยทองหลาง สถานีอนามัยบ้านคลองแห้ง และต้องดูแลสถานีอนามัยของอำเภอบ้านไร่อีก 1 แห่ง คือ สถานีอนามัยบ้านห้วยคตคลองหวาย ตำบลคอกควาย อำเภอบ้านไร่ (ได้ทราบว่ายังมีที่อำเภออื่นที่เป็นลักษณะนี้อีก)

ต่อมาเมื่อวันที่ 5 กุมภาพันธ์ 2553 ผู้เขียนได้ติดตาม ผู้ตรวจราชการกระทรวงสาธารณสุขเขต 18 นายแพทย์โสภณ เมฆธน ตรวจเยี่ยมที่สำนักงานสาธารณสุขอำเภอห้วยคตอีกครั้ง ได้รับการยืนยันจากท่านผู้ตรวจฯ ว่าได้จัดลำดับความสำคัญให้เป็นอันดับหนึ่งของเขต ท่านสาธารณสุขอำเภอก็น่าจะเบาใจได้ ว่าจะได้สำนักงานใหม่ (เมื่อเดือนมีนาคม ได้ทราบข่าวว่า โดนลมพายุพัดหลังคาหายไปหลายแผ่น)

จะอย่างไรก็ตาม ก็ขอให้กำลังใจกับทีมงาน ที่ยังยืนยันกับผู้เขียนว่า ใจสู้ ทุกคน


โพสต์ครั้งแรกเมื่อ 15 เม.ย. 2010 

วันศุกร์ที่ 2 เมษายน พ.ศ. 2553

การกระจายอำนาจ ขอทดลองอยู่ก่อนแต่ง


มีหลายท่านเปรียบเทียบ การกระจายอำนาจบทบาทภารกิจ ของกระทรวงสาธารณสุข ไปให้ องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ตาม พระราชบัญญัติกำหนดแผนและกระจาอำนาจฯ พ.ศ.2542 ว่าเป็นเสมือน การแต่งงาน

องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น(อปท.) ก็คือ หนุ่ม ที่จะไปขอ ลูกสาว สถานีอนามัย(สอ.) ของกระทรวงสาธารณสุข(กสธ.) คนเป็นพ่อเป็นแม่ ก็เลยต้องขอดูตัว ดูทรัพย์สมบัติ ดูการประกอบสัมมาอาชีพ ดูความประพฤติ นิสัยใจคอ และต้องการ คำรับรองว่าจะดูแลลูกสาวเป็นอย่างดี สุดท้าย ก็ขอดูว่าจะจ่ายสินสอดทองหมั้นเท่าไร อย่างไร

ส่วนอปท. ก็ยืนยันว่า จะดูแลเป็นอย่างดี ยกตัวอย่าง ลูกสาวกระทรวงศึกษาธิการ(โรงเรียน) ที่อปท.ขอแต่งมาก่อนหน้านี้ ก็ได้รับการเลี้ยงดูเป็นอย่างดี มีหน้ามีตา สมฐานะ

ต่อรองกันมา 10 ปี จนจะหมดเวลาตามเงื่อนไขพระราชบัญญัติ

จนมี อปท.บางท่านทนไม่ได้ บอกว่า กสธ.ชักจะเล่นตัวมากไปแล้ว
มีการออกคำสั่งตั้งคณะอนุกรรมการประสานความร่วมมือการดำเนินงานด้านสาธารณสุข และกำหนดรูปแบบการกระจายอำนาจเงื่อนไขใหม่ 5 รูปแบบ คือ

1. ถ่ายโอนสอ.ไปให้องค์การบริหารส่วนตำบล(อบต.) หรือเทศบาล แยกรายสอ.

2. ถ่ายโอน โดยรวมกลุ่มสอ. ไปให้อบจ. มีคณะกรรมการบริหารระดับจังหวัดโดยมีนายกองค์การบริหารส่วนจังหวัด(อบจ.)เป็นประธาน

3. สอ.และโรงพยาบาลชุมชน(รพช.) หรือโรงพยาบาลทั่วไป(รพท.) รวมกลุ่มกันเป็นเครือข่ายบริการ ขึ้นต่อคณะกรรมการบริหารระดับจังหวัดโดยมีนายกอบจ.เป็นประธาน

4. รวมกลุ่มสอ. หรือ กลุ่มสอ.และรพช. รวมเป็นเครือข่ายบริการ พัฒนาไปเป็นองค์การมหาชน

5. รูปแบบอื่นๆ ที่สอดคล้องและเป็นไปตามปรัชญากระจายอำนาจตาม พระราชบัญญัติกำหนดแผนและกระจายอำนาจฯ

อปท.บางท่านที่ทนไม่ไหวบอกว่า หากไม่ได้คราวนี้ เห็นทีจะต้อง ปล้ำข่มขืน กันบ้างละ

ภาคประชาชนฟังมานาน ก็เรียกร้องว่า ประชาชนก็เหมือนลูก พ่อกับแม่จะแต่งงานกันก็คุยกันดีๆ ไม่อยากให้เกิดการข่มขืนกันขึ้นมา ประชาชนก็จะกลายเป็นลูกที่ถูกทอดทิ้ง เพราะพ่อแม่ไม่รักกัน

ผู้เขียนได้ยินก็ ตกใจ รู้สึกว่าจะ Go Big ไปกันใหญ่ ใคร่เสนอรูปแบบกลางๆสำหรับ หนุ่มสาว คู่นี้ว่า ทดลองอยู่กันก่อน ดีมั้ย อย่าให้ถึงขนาดปลุกปล้ำกันเลย

ผู้เขียนพักไว้ ไม่วิพากษ์วิจารณ์ความเห็น ควรไม่ควรถ่ายโอน ด้วยเห็นว่าเป็น เรื่องที่ต่างคนต่างคิด ไม่มีผิดไม่มีถูก หรือ ที่สุดอาจเรียกได้ว่าเป็น นานาสังวาส ใยต้องจับองค์กรที่ทำเพื่อประชาชนเหมือนกัน แต่มีแนวคิดที่ต่างกัน มาอยู่ร่วมกันให้ได้

วิธี ทดลองอยู่ก่อนแต่ง เป็นรูปแบบที่ 5 รูปแบบหนึ่ง เป็นรูปแบบประนีประนอม ที่น่าจะพอเป็นไปได้ ที่หน่วยบริการสาธารณสุข ยังคงต้องถ่ายโอนภารกิจไปให้อปท. กสธ.ยังสามารถควบคุมกำกับหน่วยง่านใต้สังกัดได้เช่นเดิม และอปท.ได้รับการกระจายอำนาจตามปรัชญากระจายอำนาจ สามารถบริหารจัดการเพื่อดูแลสุขภาพประชาชนตามบทบาทภารกิจ สอ.และรพ. ก็ยังคงอยู่ในความหลากหลายได้เช่นเดิม

วิธีการก็คือ ปรับปรุงระบบบริหารจัดการปัจจุบัน ในประเด็น 3 สาระสำคัญได้แก่

1. ให้สำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ(สปสช.) เปลี่ยนการซื้อบริการ จากซื้อบริการกสธ.เป็นจ่ายเงินซื้อบริการไปที่อปท. และให้อปท.ซื้อบริการที่กสธ.ผ่านสำนักงานสาธารณสุขจังหวัด(สสจ.)หรือเอกชน ทั้งนี้อปท.สามารถใช้งบประมาณของอปท.เพิ่มเติมในการซื้อบริการได้

2. ปรับเปลี่ยนโครงสร้าง คณะอนุกรรมการหลักประกันสุขภาพระดับจังหวัด(อปสจ.)เดิม ที่มีนายแพทย์สาธารณสุขจังหวัด(นพ.สสจ.)เป็นประธาน ปรับให้นายกอบจ.เป็นประธาน จัดองค์ประกอบใหม่ให้ท้องถิ่นและภาคประชาชนมีจำนวนมากขึ้น เป็นการกำหนดให้อปท.เข้ามามีบทบาทในการบริหารจัดการสถานพยาบาลชัดเจนขึ้น เป็นไปตามปรัชญาการกระจายอำนาจ

3. ปรับวิธีการซื้อบริการสาธารณสุข จากเดิมเหมาจ่ายผ่าน CUP(Contracting Unit for Primary care) แบบเหมาโหล ไปเป็น ซื้อบริการตามภารกิจกับสสจ. ผ่านสำนักงานสาธารณสุขอำเภอ(สสอ.)ซึ่งควบคุมกำกับสอ. ด้านส่งเสริมสุขภาพป้องกันโรค การรักษาพยาบาลระดับปฐมภูมิ และผ่านโรงพยาบาล(รพ.)ด้านการรักษาพยาบาลระดับทุติยภูมิ ตติยภูมิ เป็นการจัดสรรงบประมาณให้เหมาะสมชัดเจนตามภารกิจ เลิกคิดกันทีที่จะให้หน่วยงานเดียวดูแลทั้ง สร้างสุขภาพ และ ซ่อมสุขภาพ โดยงบประมาณที่จัดสรรอย่างเบี่ยงเบน ทั้งเพื่อเป็นการลดปัญหาความขัดแย้งลึกๆที่ไม่ค่อยมีใครกล้าพูดระหว่าง รพ. ที่มักมองว่า เงินเป็นของตน กับ สอ. ที่รู้สึกเหมือนต้องแบมือขอเงินทำงาน เหมือนลูกที่ไม่มีวันโต



ข้อดีของระบบที่ผู้เขียนเสนอนี้ นอกจากเป็นการกระจายอำนาจ ให้อปท.สามารถให้บริการด้านสาธารณสุขแก่ประชาชนได้ตามเจตนารมณ์ แล้ว กสธ.ก็ไม่ต้องอึดอัดกับสปสช.ที่ดูจะบีบเคล้น(Clench) เข้ามาทุกวัน ให้สปสช.ไปบีบอปท. แล้ว อปท.มาบีบกสธ.เอง ซึ่งจะเป็นการบีบแบบถ้อยทีถ้อยอาศัยมากกว่า ด้วยเป็นการบีบให้ทำงานเพื่อประชาชนในพื้นที่ ที่ผู้ซื้อและผู้ขายมองเป้าหมายชัดเจนร่วมกัน

ทั้งหมดที่เสนอมา ผู้เขียนเรียกว่า ระบบ อยู่ก่อนแต่ง หากได้ผลดี อาจแต่งก็ได้ ไม่แต่งก็ได้ เลิกกันก็ได้ หรือถึงวันนั้น ค่อยถาม ลูก อีกทีว่าจะให้แต่งกันหรือไม่ ก็ไม่สาย


[โพสต์ครั้งแรกที่ Gotoknow Blog Office 02 เมษายน 2553 11:24]



วันจันทร์ที่ 15 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2553

โรงพยาบาลลานสัก


วันพุธที่ 3 กุมภาพันธ์ 2553 โรงพยาบาลลานสัก เป็นเป้าหมายที่ 3 ในการเดินทาง One Day Tour ทั่วอุทัย

เมื่อเดินทางถึง โรงพยาบาลลานสัก ซึ่งเป็นโรงพยาบาลขนาด 60 เตียง


พบว่าผู้อำนวยการ นพ.โชคราชัน ชัยฤกษ์สุขสันต์ เป็นคนไฟแรงอีกคน ในการพัฒนาโรงพยาบาล แต่ก็ยังทำงานหนัก ยังต้องช่วยตรวจคนไข้ จึงแวะไปทักทายที่ OPD แค่ให้รู้ว่ามา แล้วขอตัวไปเดินชมโรงพยาบาล ปล่อยท่านผอ.จัดการคนไข้ต่อไปให้หมด ไม่งั้นจะกลายเป็นปัญหาทำให้คนไข้รอนาน
หัวหน้าฝ่ายบริหารฯ และ หัวหน้าฝ่ายการพยาบาล พาเดินชมโรงพยาบาล ตั้งแต่ผู้ป่วยนอก ห้องจ่ายยา แพทย์แผนไทย ฝ่ายสุขาภิบาล ฝ่ายส่งเสริมสุขภาพ ห้องชันสูตร ห้องงานข้อมูล จบที่ฝ่ายบริหาร พบสิ่งหนึ่งที่น่าสนใจมากเข้าให้ที่ OPD นั่นคือ



จอคิวผู้ป่วย ที่หน่วยบริการอื่นอาจให้ผู้ป่วยถือบัตรคิวไว้ คอยดูว่าเมื่อไรจะถึงเลขตนเอง แต่ที่โรงพยาบาลลานสัก หน้าจอขึ้นทั้งเลข ทั้งชื่อ แถม รูปถ่ายขนาดใหญ่ ไม่ผิดตัวแน่นอน หากบังเอิญไม่ได้ยินหมอเรียกตรวจ คนไข้ด้วยกันยังช่วยหาตัวได้ด้วย ผู้เขียนจึงตามไปดูที่ห้องเวชระเบียน พบผู้ป่วยกำลังยิ้มให้กล้องเพื่อทำบัตรอยู่พอดี โรงพยาบาลอื่นๆจะเอาไปเป็นเลียนแบบ โรงพยาบาลลานสักคงไม่ว่าอะไร
เรื่องจอแสดงคิวผู้ป่วยนี่ ผู้เขียนเห็นว่าเป็นนวัตกรรม ที่เป็นการประยุกต์เอาสิ่งที่มีใช้อยู่แล้วในปัจจุบันให้เป็นประโยชน์สูงสุด ซึ่งคงมีหลายๆเรื่องที่เราสามารถ ดัดแปลง ได้เช่นนี้ เพียงแต่เราจะพยายามคิด ออกนอกกรอบ บ้างหรือไม่(แต่ก็ระวังจะไปหลงอยู่ใน กรอบใหม่ เข้าล่ะ)

ห้องจ่ายยา ห้องยาที่โรงพยาบาลลานสัก คล้ายกับ โรงพยาบาลทัพทัน และ โรงพยาบาลสว่างอารมณ์ แต่ใช้รูปแบบ เปิดกระจกกว้าง ซึ่งก็ได้ประสิทธิภาพเช่นกัน ซึ่งเมื่อสังเกตุที่ ห้องทำบัตร ก็เปิดกระจกกว้างเช่นกัน เจ้าหน้าที่ที่โรงพยาบาลลานสักก็คงไม่ต้อง ตะเบ็งเสียง คุยกับคนไข้

เนื่องจากเวลาที่เร่งรัด ทำให้ผู้เขียนไม่สามารถเก็บรายละเอียดได้หมด จึงตั้งใจว่าจะมาแวะเยี่ยมใหม่อีกสักครั้ง
โพสครั้งแรกเมื่อ 15 ก.พ.2010

วันอาทิตย์ที่ 14 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2553

โรงพยาบาลสว่างอารมณ์


ออกจากโรงพยาบาลทัพทัน ถึงโรงพยาบาลสว่างอารมณ์ เหมือนสับสวิตช์ ผู้อำนวยการ นพ.สุชิน คันศร ดูจะเป็นคนพูดน้อย (แต่มีคนกระซิบว่า ต่อยหนัก)

โรงพยาบาลสว่างอารมณ์ ชื่อดีเหมือนอำเภอ น่าจะนำมาเป็นชื่อโครงการด้านสุขภาพจิตเด่นๆได้ เป็นโรงพยาบาลขนาด 30 เตียง



วิสัยทัศน์โรงพยาบาล เป็นสถานบริการสาธารณสุขที่มีคุณภาพ ให้บริการด้วยความเสมอภาค โดยการมีส่วนร่วมของประชาชนและชุมชน เป็นวิสัยทัศน์ที่ผู้เขียนรู้สึกได้ถึงโอกาสของความสำเร็จในการแก้ไขปัญหาสุขภาพของประชาชน เพราะโดยส่วนตัวผู้เขียนมีความเชื่อว่า ปัญหาสุขภาพหลายอย่างของประเทศเราเป็นปัญหาเรื้อรัง ก็เพราะข้าราชการประเภท พี่มีแต่ให้ เหมือนเนื้อเพลง พี่มีแต่ให้...
...พี่คนนี้ นั้นมีแต่ให้ เจ้าใช่ไหม ไม่เคยให้พี่ อยากได้อะไรหาให้ทันที ให้เจ้ามากขนาดนี้ ไม่ดีอีกหรือแม่คุณ…
ผู้เขียนยืนยันว่าการแก้ไขปัญหาสุขภาพประชาชนต้องอาศัยแนวทาง 6 ประการคือ

การมีส่วนร่วมของผู้มีส่วนเกี่ยวข้อง (Participatory) ที่มีค่านิยมร่วมในการมุ่งผลสัมฤทธิ์ (Result Based Management Value) และการบูรณาการ (Integration) กระบวนการบริหาร วิชาการ ตลอดจนเทคโนโลยีสารสนเทศ บนพื้นฐานของการจัดการระบบที่ดี (Systematic Management) และสอดคล้องกับวิถีชีวิตของชุมชน (Style of Life) บนความต่อเนื่องของเวลา(Continuity)[PRISS+C] (อ่าน PRISS และ ใจเย็นไว้โยม)
เพราะไม่เช่นนั้นก็ต้องร้องท่อนจบของเพลงด้วยความรู้สึกช้ำใจเหมือนทุกวันนี้ว่า
...พี่วันนี้ พี่ก็ยังให้ เจ้าวันไหน เจ้าจะให้พี่ ให้ความจริงใจ ให้ความรักพี่บ้างซิ ให้เจ้ามากอย่างนี้ ให้พี่ไม่ได้เชียวหรือ...

สภาพโดยทั่วไปโรงพยาบาลสว่างอารมณ์ เป็นโรงพยาบาลที่สะอาด ดูดี เรียบง่าย มีจุดที่ผู้เขียน ประทับใจ แม้เดินดูด้วยความเร่งรีบ (เนื่องจากใช้เวลาส่วนใหญ่นั่งคุยกันในห้องประชุมร่วมกับท่านสาธารณสุขอำเภอ วิมล แสงอุทัย และทีมจากสถานีอนามัยบางส่วน) ได้แก่
ห้องจ่ายยา ลักษณะคล้ายกับที่โรงพยาบาลทัพทัน คือตั้งเคาน์เตอร์ออกมาหน้าห้องยา เพื่อการจ่ายยาผู้ป่วยที่มีคุณภาพ

มุมเรียนรู้ต่างๆ เป็นมุมการเรียนรู้ที่ไม่ค่อยได้เห็น เช่น มุมเรียนรู้ธรรมะ มุมเรียนรู้ มุมพัฒนาการเด็ก มุมห้องสมุด น่าจะพัฒนาให้เข้ากับนโยบายปลัดกระทรวง นายแพทย์ไพจิตร์ วราชิต ( 3S + SLE Smile Smell Surrounding Sympathy Library Exercise) ได้แบบไม่ต้องปรับตัวมากนัก

โพสต์ครั้งแรกเมื่อ 14 ก.พ. 2010