วันจันทร์ที่ 23 กรกฎาคม พ.ศ. 2550

ขนาดในหลวงยังต้องทรงรอถึง ๒๐ ปี



เมื่อวันพุธที่ ๑๘ กรกฎาคม ๒๕๕๐ ผู้เขียนได้มีโอกาสติดตาม นายแพทย์สถาพร วงษ์เจริญ ผู้ตรวจราชการกระทรวงสาธารณสุข เขต ๒ (ซึ่งเดินทางมาตรวจราชการที่จังหวัดพิษณุโลก) ไปเยี่ยมชม โครงการเขื่อนแควน้อย อันเนื่องมาจากพระราชดำริ ได้รับฟังบรรยายสรุปถึงความเป็นมาของเขื่อนแควน้อยว่า


สถานที่ตั้ง เส้นรุ้งที่ ๑๗ องศา ๑๑ ลิปดา เหนือ และเส้นแวงที่ ๑๐๐ องศา ๒๕ ลิปดา ตะวันออก ที่บ้านเขาหินลาด ต.คันโช้ง อ.วัดโบสถ์ จ.พิษณุโลก ลักษณะของเขื่อน ประกอบด้วยเขื่อน ๓ เขื่อนติดต่อกัน คือ


เขื่อนแควน้อย ลักษณะเป็นเขื่อนหินทิ้งดาดหน้าคอนกรีต สูง ๗๕ เมตร ยาว ๖๘๑ เมตร
เขื่อนสันตะเคียน ลักษณะเป็นเขื่อนหินทิ้งแกนดินเหนียว สูง ๘๐ เมตร ยาว ๑๒๖๐ เมตร
เขื่อนปิดช่องเขาต่ำ ลักษณะเป็นเขื่อนดิน สูง ๒๓ เมตร ยาว ๖๖๗ เมตร

สามารถเก็บกักน้ำได้ ๗๖๙ ล้านลูกบาศก์เมตร มีข้อมูลที่นำเสนอถึงที่มาของโครงการนี้ว่า

วันที่ ๒๕ กุมภาพันธ์ ๒๕๒๕ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว เสด็จพระราชดำเนินทรงเปิด เขื่อนนเรศวร บ้านหาดใหญ่ ตำบลพรหมพิราม อำเภอพรหมพิราม จังหวัดพิษณุโลก ได้พระราชทานพระราชดำริที่สำคัญเกี่ยวกับโครงการเขื่อนแควน้อย โดยสรุป คือ ควรพิจารณาวางโครงการและก่อสร้างเขื่อนเก็บกักน้ำแควน้อย ในเขต อำเภอวัดโบสถ์ จังหวัดพิษณุโลก โดยเร่งด่วน

วันที่ ๔ ธันวาคม ๒๕๓๘ ณ ศาลาดุสิดาลัย สวนจิตรลดา พระราชวังดุสิต ได้พระราชทานพระราชดำรัสความตอนหนึ่งว่า...ส่วนที่พิษณุโลกนี่ก็มีน้ำไหลลงมาจากข้าง ๆ อีกสายหนึ่งแควน้อยซึ่งจะต้องทำเพื่อเก็บกักน้ำที่มาจากอำเภอชาติตระการ...

วันที่ ๑๖ พฤศจิกายน ๒๕๔๕ ณ พื้นที่ป่าชายเลน แปลงปลูกป่า FPT29 และ 29/3 อำเภอปราณบุรี จังหวัดประจวบคีรีขันธ์ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวได้พระราชทานพระราชดำริ ให้นายสุวิทย์ คุณกิตติ รองนายกรัฐมนตรี พิจารณาความเหมาะสมเร่งรัดดำเนินการก่อสร้างโครงการเขื่อนแควน้อย อำเภอวัดโบสถ์ จังหวัดพิษณุโลก

วันที่ ๒๑ มกราคม ๒๕๔๖ คณะรัฐมนตรี โดย พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร นายกรัฐมนตรี สนองพระราชดำริอนุมัติเปิดโครงการเขื่อนแควน้อย

วันที่ ๑ กุมภาพันธ์ ๒๕๔๖ กรมชลประทาน ประกาศเปิดโครงการเขื่อนแควน้อย

[ข้อมูลประกอบจากเอกสารนำเสนอของ สำนักงานก่อสร้าง ๒ (โครงการแควน้อย) สำนักโครงการขนาดใหญ่ กรมชลประทาน และ http://irrigation.rid.go.th/rid3/krawnoi.htm]

ระหว่างเดินทางกลับจากพื้นที่สร้างเขื่อน และ ระหว่างการเดินทางในวันรุ่งขึ้น ท่านผู้ตรวจฯ ปรารภกับผู้เขียนหลายครั้งว่า การเยี่ยมชม โครงการเขื่อนแควน้อย อันเนื่องมาจากพระราชดำริ ครั้งนี้ ได้ข้อคิดที่เป็นประโยชน์มาก คือ ขนาดพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ทรงมีพระราชดำริ และมีกระแสรับสั่ง ให้ดำเนินการก่อสร้างเขื่อนแควน้อยโดยเร่งด่วน ยังต้องทรงอดทนรอคอยถึง ๒๐ ปี และ ยังต้องทรงเตือนซ้ำ โครงการจึงจะบังเกิดขึ้น

ท่านผู้ตรวจฯ สอนผู้เขียนว่า แล้วเราเป็นใคร ที่คิดว่าจะสั่งงานคนอื่นให้ทำได้ดังใจ

ดังนั้นต้องตั้งใจ ต้องอดทน โดยไม่ย่อท้อ ในการมอบหมายงานผู้เกี่ยวข้อง จึงจะบังเกิดผลสำเร็จได้



[โพสต์ครั้งแรกที่ Notes on Weblog Gotoknow 23 Jul 2550 17:26]

ไม่มีความคิดเห็น: