ศูนย์สุขภาพชุมชน หรือ ที่หลายท่านรู้จักในนามว่า หน่วยบริการปฐมภูมิ หรือ PCU (Primary Care Unit) นั้น ยังเป็นที่สับสน ของคนอีกจำนวนไม่น้อย ทั้ง ผู้บริหารหลายระดับในหน่วยงานสาธารณสุข ตลอดไปจนถึงผู้ปฏิบัติ ดังนั้น ไม่ต้องสงสัยเลยว่า ประชาชน ชาวบ้านธรรมดา จะเข้าใจได้อย่างไร
มีผู้บริหารท่านหนึ่งกล่าวว่า ศูนย์สุขภาพชุมชน ทำให้เกิดความหายนะ ๔ ประการ (ความจริงท่านผู้นั้นใช้ถ้อยคำรุนแรงกว่านี้ แต่ผู้เขียนเห็นว่าแรงเกินไป จึงขอดัดแปลงมาถ่ายทอด
เพื่อเป็นข้อวิพากษ์) คือ ศูนย์สุขภาพชุมชน ทำให้ ๑.
สถานีอนามัยต้องล่มสลายไป ๒. เจ้าหน้าที่สถานีอนามัยสูญเสียบทบาทอย่างสิ้นเชิง ๓. โรงพยาบาลศูนย์
/โรงพยาบาลทั่วไปต้องล่มสลาย และ ๔.
แพทย์เฉพาะทางต้องสูญเสียบทบาทอย่างรุนแรง
นิสิตแพทย์ท่านหนึ่งได้กล่าวว่า ศูนย์สุขภาพชุมชน ไม่มีอะไรแตกต่างกับ สถานีอนามัย เพียงแต่มี แพทย์ไปให้บริการเพิ่มขึ้น ซึ่งแพทย์ก็ไม่พอเพียงอยู่แล้ว
ศูนย์สุขภาพชุมชนจึงไม่น่าจะมีประโยชน์อันใดชัดเจน
จริงหรือ ที่ศูนย์สุขภาพชุมชนเลวร้ายขนาดนั้น
หรือเป็นเพราะการไม่เข้าใจใน แนวคิด (Concept)
ของศูนย์สุขภาพชุมชน เราจึงไปสับสนปนเปกับ โครงการหน่วยแพทย์เคลื่อนที่ โครงการแพทย์หมุนเวียน และ
โครงการส่วนขยายห้องตรวจผู้ป่วยนอก (Extended OPD)
ท่านผู้อ่านครับ ความสำคัญของโครงการหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้าอยู่ที่ การมีสุขภาพดี มากกว่าการเจ็บป่วย
กระบวนการทำให้สุขภาพของประชาชนมีสุขภาพดี แต่เดิมเราใช้ หลายกระบวนการเข้ามามีส่วนร่วม โดยเน้น
การดูแลสุขภาพส่วนบุคคล และการดูแลสุขภาพทั้งชุมชน
สิ่งที่ยังขาดไปก็คือ ครอบครัว ซึ่งเป็นอีกองค์ประกอบหนึ่ง ที่มีความสำคัญต่อการเจ็บไข้ได้ป่วยของบุคคลในครอบครัว ทั้งผลจากด้าน
พันธุกรรม พฤติกรรม และ
สภาพแวดล้อม กระบวนการเวชศาสตร์ครอบครัวจึงเข้ามามีบทบาทตรงนี้ครับ
หากศูนย์สุขภาพชุมชน มิได้ใช้กระบวนการ
เวชศาสตร์ครอบครัว ในการดำเนินการ ศูนย์สุขภาพชุมชนก็คงไม่ต่างอะไรกับ สถานีอนามัย
ดังที่นิสิตแพทย์ท่านนั้นกล่าว
และก็คงไม่สามารถตอบคำกล่าวหาถึงความหายนะ ๔ ประการที่มีผู้กล่าวหาไว้
แต่ก็คงไม่สามารถตอบง่ายๆเพียงคำว่า เวชศาสตร์ครอบครัว เพียงคำเดียว
หาก
ศูนย์สุขภาพชุมชน ที่ดำเนินการกันอยู่ทุกวันนี้ ไม่จัดตั้งกันจนเกินงาม
ทำทุกอย่างตามกระบวนการอย่างรอบคอบระมัดระวัง
ไม่มุ่งแสดงความสามารถด้านปริมาณอย่างแข่งขันกัน เราก็จะสามารถจัดทีมแพทย์ พยาบาล
ทันตแพทย์ เภสัชกร และอื่นๆ ที่จะใส่ลงไปใหม่ ให้รวมเป็นเนื้อเดียวกับ
เจ้าหน้าที่สถานีอนามัยเดิม ให้เป็นทีมเดียวกัน กำหนดภารกิจร่วมกันอย่างชัดเจน
แพทย์ทำหน้าที่เป็นพี่เลี้ยงในทีมได้อย่างเหมาะสม บทบาทสถานีอนามัย
ก็จะมิใช่ถูกลดลง หากแต่ปรับขยายขึ้นเพื่อผลประโยชน์ของประชาชน
โดยมิต้องไปคำนึงถึงชื่อว่าจะเป็นอะไร จะเป็นสถานีอนามัย ศูนย์สุขภาพชุมชน หน่วยบริการปฐมภูมิ หรือ
แม้แต่จะหันกลับไปใช้ชื่อ สุขศาลา และ บทบาทของเจ้าหน้าที่สถานีอนามัย ก็จะไม่ลดลง
หาก เป็นการปรับให้สามารถใช้ศักยภาพของตนอย่างชัดเจน ตรงกับความต้องการของประชาชน
เป็นที่พึ่งของประชาชนได้มากขึ้น
เราต้องไม่ลืมว่า
ทุกวันที่ โรงพยาบาลศูนย์/โรงพยาบาลทั่วไป ทำงานอย่างไร
คงไม่สามารถปฏิเสธได้ว่าหน้าที่หนักทุกวันนี้ อยู่กับโรคที่ ประชาชนรักษาตัวเองได้
อยู่กับโรคที่ สถานีอนามัยหรือโรงพยาบาลชุมชนรักษาได้ คนไข้มากกว่าร้อยละ ๘๐
เป็นผู้ป่วยที่ไม่ต้องมาโรงพยาบาลศูนย์/โรงพยาบาลทั่วไป
การลงทุนทางโครงสร้างและทรัพยากรอื่นๆมากมาย ไม่สอดคล้องกับภารกิจที่ควรจะเป็น
ถ้าเราปรับบทบาทให้ชัดเจน มี ศูนย์สุขภาพชุมชน มาคอยรองรับ เป็นกันชน
ระหว่างผู้ป่วย กับแพทย์เฉพาะทาง ก็จะสามารถลดขนาดโรงพยาบาลลง ใช้จ่ายลดลง
ใช้เฉพาะผู้ป่วยที่จำเป็นอย่างแท้จริง ดังนี้แล้ว ศูนย์สุขภาพชุมชน
จึงเป็นผู้ชูความโดดเด่นของโรงพยาบาลศูนย์/โรงพยาบาลทั่วไป และแพทย์เฉพาะทาง
ให้เต็มบทบาทต่างหาก
แต่ภาพที่ผู้เขียนกล่าวนั้น
คงไม่สามารถปรากฎให้เห็นในชั่วข้ามคืน
ปัญหาต่างๆดังกล่าวเกิดขึ้นจากกระบวนการทางบริหาร
ที่จำเป็นต้องปรับเปลี่ยนให้เกิดความเข้าใจที่ตรงกัน
โดยการศึกษาให้เข้าใจชัดเจนถึงแนวคิดของกระบวนการเวชศาสตร์ครอบครัว
และนำไปปฏิบัติอย่างพร้อมเพียงกัน
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น