วันอังคารที่ 1 มกราคม พ.ศ. 2545

เวชศาสตร์ครอบครัว เติมช่องว่างการดูแลสุขภาพ



นโยบายที่ฮือฮาที่สุดของรัฐบาล ฯพณฯทักษิณ  ชินวัตร ไม่มีเรื่องใดประสบผลสำเร็จเกิน เรื่อง ๓๐ บาทรักษาทุกโรค หรือที่มีชื่อเรียกเป็นทางการว่า โครงการหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้า

ท่านผู้อ่านครับ สิ่งที่เป็นประเด็นสำคัญที่สุดของโครงการหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้า ก็คือ การสร้างสุขภาพตนเอง ไม่ให้เจ็บป่วย นะครับ  มิใช่การรักษาพยาบาล ซึ่งรัฐบาลไม่สามารถหางบประมาณมากมายมาจ่ายให้ท่านได้อย่างแน่นอน แม้ท่านจะต้องจ่ายเพิ่มเองครั้งละ ๓๐ บาท เพราะค่าใช้จ่ายในแต่ละครั้งนั้นมากกว่า ๓๐ บาท เมื่อคิดคำนวณจากต้นทุนทั้งหมด

จากเดิม การดูแลสุขภาพของประชาชน โดยหน่วยงานสาธารณสุขนั้น จะดูแลสุขภาพของประชาชนเป็นรายบุคคล และในภาพรวมของชุมชน โดยใช้กระบวนการที่เรียกว่า สาธารณสุขมูลฐาน ซึ่งทั้ง ๒ วิธีนี้ก็ยังไม่สามารถลดอัตราการเกิดโรคได้เป็นที่น่าพอใจ

โครงการหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้า จึงกำหนดให้มีสถานบริการสุขภาพ ที่มีชื่อเรียกว่า ศูนย์สุขภาพชุมชน ซึ่งจะใช้กระบวนการที่จะทำให้ประชาชน ดูแลสุขภาพตนเองได้อย่างเหมาะสม ด้วยความร่วมมือของเจ้าหน้าที่สาธารรณสุข เรียกว่า กระบวนการ เวชศาสตร์ครอบครัว  โดยมีแนวคิดว่า การที่ประชาชนจะสามารถสร้างสุขภาพให้แข็งแรงได้ จะต้องเกิดจากการดูแลสุขภาพภายในครอบครัวของแต่ละครอบครัว
แล้ว ศูนย์สุขภาพชุมชน แตกต่างจากโรงพยาบาล หรือสถานีอนามัย ทั่วๆไปอย่างไร

ศูนย์สุขภาพชุมชน จะ ดูแลท่านครบทุกด้าน โดยจะ ให้ บริการแต่แรกทุกเรื่อง ต่อเนื่อง เบ็ดเสร็จ ผสมผสาน จัดระบบให้ประชาชนเข้าถึงบริการ ประสานการปรึกษา และส่งต่อ

การให้บริการแต่แรกทุกเรื่อง ก็คือการที่จะจัดให้มีหมอประจำครอบครัวท่าน ซึ่งจะเป็น หมอคนแรก ที่ให้คำปรึกษาแก่ท่านและครอบครัวเรื่องสุขภาพทุกเรื่อง ตั้งแต่เกิดจนตาย

ต่อเนื่อง ก็คือ จะดูแลท่านและครอบครัวอย่างต่อเนื่อง  ทั้งในเรื่องโรคที่ท่านเป็นอยู่ ทั้งในพื้นที่ ทั้งบุคคลและครอบครัว (คือเป็น หมอคนเดิม ตลอดในชุมชนเดียวกัน)

เบ็ดเสร็จ คือ จะดูแลท่านครบทุกด้านได้แก่ ดูแลท่านทั้ง กาย จิตวิญญาณ และสังคม ดูแลท่านทั้ง การรักษาพยาบาล การส่งเสริมสุขภาพ การป้องกันโรค และ การฟื้นฟูสภาพ ดูแลท่านทั้ง รายบุคคล รายครอบครัว และ ชุมชน ทำให้ท่านสามารถปฏิบัติตัวได้สอดคล้องกันกับทุกคนในครอบครัว และชุมชน

ผสมผสาน คือการให้บริการท่านนั้น กระบวนการเวชศาสตร์ครอบครัวจะพยายามให้สอดคล้องเป็นอันหนึ่งอันเดียวกันทุกงานทุกกิจกรรม โดยคำนึงถึงตัวผู้ป่วย ครอบครัว ทีมงานเจ้าหน้าที่ เวลา และทรัพยากร เรียกง่ายๆว่า มาครั้งเดียวได้ทุกเรื่องเดียวกัน

จัดระบบให้ประชาชนเข้าถึงบริการ ก็คือการที่จะจัดให้มีสถานบริการ ใกล้บ้าน ใกล้ใจ (ซึ่งก็คือ ศูนย์สุขภาพชุมชน นั่นเอง)

ประสานการปรึกษา คือหมอประจำครอบครัวของท่านจะทำหน้าที่เป็นผู้ประสานในการปรึกษาถ้าจำเป็น เช่น ต้องไปพบแพทย์เฉพาะทางหรือไม่ ค่าใช้จ่ายเป็นอย่างไร เรียกจากบริษัทประกันได้หรือไม่ เป็นต้น (เอ… มากไปหรือเปล่านะ)

ส่งต่อ ถ้าจำเป็นต้องส่งต่อไปรักษา หมอประจำครอบครัวก็จะทำหน้าที่ประสานงาน ตามไปดูแลท่าน และรับดูแลต่อเมื่อแพทย์เฉพาะทางส่งตัวท่านกลับ

จะเห็นว่า กระบวนการ เวชศาสตร์ครอบครัว เป็นกระบวนการที่ ให้การดูแลครอบคลุมทุกเรื่องในครอบครัวของท่าน แต่ สุขภาพที่ดีไม่มีขาย นะครับ ท่านจะต้องร่วมใจร่วมกายกัน สร้างสุขภาพ ทั้งของตนเอง ของครอบครัว และของชุมชน  อย่างจริงจัง แล้วเราจะมีสุขภาพที่ดีไปพร้อมๆกัน

ท่านผู้อ่านครับ ท่านคงประจักษ์ชัดแล้วว่า สำหรับการดูแลสุขภาพของประชาชนแล้ว ศูนย์สุขภาพชุมชน และ เวชศาสตร์ครอบครัว คงจะเป็นคำตอบสุดท้าย แล้วครับ ท่าน

[พิมพ์ครั้งแรก ว.๘ เมื่อ ๒๕๔๕]



ไม่มีความคิดเห็น: