วันพฤหัสบดีที่ 1 มกราคม พ.ศ. 2541

การบริหารสไตล์ จิกซอว์(JIGSAW)


JIGSAW PUZZLE หมายถึงรูปภาพตัดออกเป็นชิ้นเล็กๆสำหรับต่อเล่น เป็นของเล่นชนิดหนึ่งที่นิยมเล่นเป็นงานอดิเรก กำลังเป็นที่แพร่หลายในประเทศไทย มูลค่าการนำเข้าปีละเป็นพันล้าน เหตุที่มีผู้นิยมเล่นจิกซอว์มากขึ้น เป็นเพราะจิกซอว์เป็นของเล่นที่ท้าทายความสามารถ ผู้เล่นจะต้องใช้ความพยายาม สมาธิ ความอดทน ความช่างสังเกต ใจเย็นพอที่จะรอพบความสำเร็จ เพราะต้องประกอบชิ้น ส่วนเล็กๆจำนวนนับพันชิ้น (อาจมากหรือน้อยกว่าตามต้องการ) เข้าด้วยกัน ต้องประสานกันได้แนบสนิท ผิดไม่ได้แม้ตัวเดียว

จิกซอว์มีหลายประเภท หลายรูปแบบ หลายราคา ที่สามารถจำแนกชนิดได้ชัดเจนก็คือการกำหนดจำนวนชิ้น ว่ามีจำนวนเท่าไร ที่นิยมเล่นได้แก่ 500 ชิน้ 1000 ชิ้น 1500 ชิ้น 2000 ชิ้น ฯลฯ ราคาที่แตกต่างก็ขึ้นอยู่กับคุณภาพ และจำนวนชิ้นของจิกซอว์

จิกซอว์เกี่ยวอะไรกับการบริหาร มีผู้บริหารจำนวนไม่น้อยที่เปรียบเทียบงานที่ตนกำลังทำอยู่ว่าเสมือนกำลังต่อจิกซอว์ แต่นั่นเป็นเพียงแค่การมองภาพปะติดปะต่อของงานเท่านัน้ หากเราพิจารณาให้ลึกลงไป จิกซอว์มีอะไรที่น่าสนใจมากกว่านั้น เราลองมาเปรียบเทียบ การบริหารงานกับการต่อจิกซอว์ดูกัน

ภาพต้นแบบ การต่อจิกซอว์จะต้องมีภาพต้นแบบที่ชัดเจน เพื่อที่จะได้ทราบว่าจะต่อจิกซอว์แต่ละชิ้นเข้าด้วยกันได้อย่างไร ภาพต้นแบบบางครั้งอาจสร้างไว้ในใจโดยไม่ต้องเป็นภาพที่เห็นด้วยตา เช่นการต่อจิกซอว์รูปแผนที่ประเทศไทยซึ่งผู้ต่อสามารถสร้างภาพในใจได้อยู่แล้ว

การบริหารงานก็เช่นกัน เราต้องทราบภาพต้นแบบซึ่งก็คื วัตถุประสงค์ ของงานที่จะทำนั่นเอง วัตถุประสงค์หรือเป้าหมาย จะต้องชัดเจน พอที่จะวางแผนการดำเนินงานให้ไปถึงได้อย่างถูกต้อง เป้าหมายที่เบลอๆ(blur) ก็จะวางแผนได้เบลอๆเช่นกัน หรือ อาจวางแผนไม่ได้เลย เหมือนจิกซอว์ที่ไม่มีภาพต้นแบบ ต่อให้ผู้ต่อมีความเก่งกาจเพียงใดก็ไม่สามารถทราบได้ว่าจะต่อไปเป็นภาพอะไรดี

จัดกรอบให้ได้ ขั้นตอนแรกของการต่อจิกซอว์ให้สำเร็จง่ายคือ การจัดกรอบของภาพให้ได้ มีเทคนิคคือเลือกจิกซอว์ที่เป็นขอบ( ด้านใดด้านหนึ่งตรงเรียบ ) แยกมารวมกันไว้ แล้วต่อให้ได้กรอบนอกของภาพ บางท่านเห็นว่าไม่จำเป็น แต่ถ้าท่านได้ดำเนินการเช่นนี้จะพบว่าทำให้การต่อจิกซอว์สำเร็จง่ายขึ้น

เมื่อเปรียบกับการบริหารงาน การจัดกรอบก็คือ การจัดทำกรอบของแผนงาน หรือคือการกำหนดเป้าหมายของงานนั่นเอง ถ้าการวางแผนทำงานไม่มีขอบเขตชัดเจน ไม่มีเป้าหมายชัดเจนว่าจะทำงานนั้นๆกับใครก็อาจทำงานออกนอกกรอบได้(สะเปะสะปะ)

จัดหมวดหมู่ หลายท่านใจร้อน จะรีบต่อให้ภาพเสร็จ หยิบได้จิกซอว์ชิ้นใดก็เอามาต่อๆกันไปเรื่อยๆ แต่ก็มักจะสับสนในที่สุด เมื่อเจอชิ้น ส่วนที่คล้ายๆกัน ข้อแนะนำก็คือจัดการแยกหมวดหมู่ สี กลุ่มเดียวกันไว้ด้วยกันก่อนจะเริ่มดำเนินการต่อ จะทำให้การต่อง่ายขึ้น

การบริหารงานก็เช่นกัน ไม่ว่าจะจัดทำงานโครงการใด ควรแยกหรือจัดหมวดหมู่ของกระบวนการทำงานไว้ให้ชัดเจน การไม่ลำดับให้ชัดเจนว่างานใดจะทำเมื่อใด ก็อาจจะมั่วและงงเมื่อทำงานไปได้สักระยะ

ปะติดปะต่อ หลังจากนั้น ก็เริ่มจัดการต่อชิ้น ส่วนจิกซอว์แต่ละชิ้นเข้าด้วยกัน ค่อยๆทำ ด้วยความอดทน มีวัตถุประสงค์เป็นที่ตั้ง ค่อยๆต่อจากภาพกลุ่มเดียวกัน ค่อยๆขยาย จนกระทั่งเสร็จ อย่าท้อถอย เบื่อนักพักก่อน

การบริหารงานก็เช่นกัน ต้องใจเย็นๆ ค่อยๆทำงานทีละชิ้น ทีละส่วนอย่างตั้ง ใจ หมั่นมุมานะ แล้วก็จะเสร็จทั้งโครงการได้ในที่สุด

ต่อส่วนไหนก่อน อันที่จริงจะเริ่มต่อบริเวณไหนของภาพก่อนก็ได้ เพราะท้ายที่สุดก็จะต้องต่อทุกชิ้น เข้าด้วยกัน แต่เพื่อความรวดเร็ว มองเห็นโครงร่างได้ชัดเจน ช่วยให้มีกำลังใจ ควรเลือกบริเวณที่ง่ายๆ สะดุดตา มีลวดลายชัดเจนก่อน

การบริหารงานก็ควรเลือก งานชิ้นเด่นๆก่อน เพราะเมื่อสำเร็จสักชิ้น ก็จะมีกำลังใจ เห็นแนวทางของโครงงานชัดขึ้น ว่ามีความหวังจะสำเร็จแน่นอน ตรงไหนที่ทำได้ก็ทำตรงนั้น เร่งทำให้สามารถขยายงานให้ได้มากขึ้น จนไปชนกับงานอื่นที่ดำเนินการไว้แล้ว

ต่อผิดต่อใหม่ได้ จิกซอว์อาจมีชิ้นส่วนที่คล้ายคลึงกันทั้งรูปร่างและสี อาจมีการต่อผิดได้ แต่มักจะพบในที่สุดว่าไม่สามารถต่อให้ต่อเนื่องไปได้ เพียงแค่หยิบชิ้นนั้นออก เอาชิ้นใหม่ใส่ก็สามารถเดินหน้าต่อไปได้

ทำงานหรือบริหารงานก็เช่นกัน เมื่อรู้ว่าผิด ไม่ว่าจะเป็นกระบวนการผิด คิดผิด ข้อมูลผิด หรือใช้คนผิด ก็เอาส่วนผิดออก และเริ่มใหม่ อย่าดันทุรัง จิกซอว์ต่อผิดต่อใหม่ได้ ไม่เสียหาย งานทำผิดก็ทำใหม่ได้เช่นกัน อาจจะเสียหายบ้างแต่ก็ดีกว่าไม่แก้ไข

หลายคนช่วยต่อเสร็จเร็วขึ้น เป็นธรรมดาของการช่วยกันทำงาน จิกซอว์ไม่ใช่ต้มไข่ที่ต้มมากใบใช้เวลาเท่าเดิม แต่ต่อจิกซอว์ยิ่งช่วยกันต่อคนละหน่อยก็เสร็จเร็วขึ้น เพราะแต่ละคนถนัดไม่เหมือนกัน อาจมองบางมุมได้ชัดเจนกว่าคนอื่น แต่มีข้อแม้ว่าทุกคนที่ช่วยต่อต้องเข้าใจภาพเหมือนๆกัน มองภาพไปพร้อมๆกัน

ทำงานยิ่งสำคัญ ถ้าทุกคน เห็นวัตถุประสงค์ เห็นเป้าหมายร่วมกันอย่างชัดเจน การช่วยกันทำงานแต่ละส่วน มองจุดผิดของผู้อื่นที่จะช่วยเตือนทีมให้แก้ไขให้ถูกต้อง ก็จะเร่งให้งานเสร็จเร็วขึ้น แต่ถ้าต่างคนต่างทำไม่ประสานงานกัน หรือเข้าใจวัตถุประสงค์ต่างกัน ก็พังเหมือนเดิม

ชิ้นส่วนหาย หลายครั้ง ที่เล่นเพลินๆ อาจมีชิ้นส่วนบางชิ้น หายไป มักจะเป็นโดยบังเอิญ ถ้าปล่อยให้ขาดว่างไว้ ก็อาจจะดูเป็นทำไม่สำเร็จ อาจใช้ฝากล่องตัดให้คล้ายชิ้นส่วนที่หายไป ต่อไว้แทนก็พอดูได้

การทำงานก็มีบ่อยครั้ง ที่บางส่วนของงานหายไป หรือไม่ครบ(แต่มักจะเกิดจากการตั้งใจไม่ทำงานมากกว่าบังเอิญ) ก็ต้องพยายามหาทางให้ได้ใกล้เคียง ไม่จำเป็นต้อง complete ที่สุด ให้มองผาดๆว่างานสำเร็จก็ดีกว่าปล่อยว่างๆไว้ แต่ไม่ใช่มองผาดๆทั้งโครงการ มีงานจริงอยู่ไม่เท่าไร ถ้าอย่างนัน้ ก็รื้อทำใหม่เถอะ เป็นจิกซอว์ก็ซื้อกล่องใหม่ได้แล้ว

ต่อตรงไหนได้ต่อก่อน อย่าลังเลเมื่อหยิบชิ้นส่วนใดขึ้นมาแล้วสามารถวางได้ตรงจุด แม้จะยังไม่ต่อเนื่องมาถึง เพราะชิ้นส่วนที่ต่อไปลดลง 1 ชิ้น ก็ทำให้ส่วนที่เหลือง่ายขึ้น 1 ชิ้น เมื่อจะต้องค้นหาในกองที่เหลือ

งานก็เช่นกัน เมื่อพบว่างานใดทำได้ก็อย่าลังเล รีบทำให้เสร็จ เสร็จ 1 งานก็ลดลง 1 งาน นอกจากงานจะเหลือน้อยลงแล้ว ยังทำให้มองภาพงานรวมชัดเจนขึ้นด้วย

ชิ้นสุดท้าย ต่อจิกซอว์ต้องมีชิ้นสุดท้าย และชิ้นสุดท้ายจะเป็นชิ้นที่ทำให้ภาพสมบูรณ์ เป็นชิ้นที่มีความสุขที่สุด เมื่อประกอบชิ้นสุดท้ายลงไปจะรู้สึกถึงความสำเร็จ และผู้ที่ได้รับเกียรติให้เป็นคนลงชิ้นสุดท้ายจะได้ความภาคภูมิใจสูง เช่นกัน เมื่องานดำเนินมาครบถ้วนสำเร็จลง ถ้างานชิ้นสุดท้ายผู้บังคับบัญชาได้มีส่วนร่วมในการเป็นผู้ปิดงานย่อมก่อให้เกิดความภูมิใจ(อย่าลืมบริหารเจ้านายสักนิด)

ทากาว-ใส่กรอบ เมื่อต่อจิกซอว์เสร็จเรียบร้อยแล้ว ถ้าไม่ทำการประสานชิ้นส่วนเล็กๆเข้าไว้ด้วยกันก็อาจทำให้มีโอกาสที่จะหลุดหายไปได้ ภาพที่สมบูรณ์ก็อาจเว้าแหว่ง หรือล่วงหลุดทั้งหมดได้ ต้องเสียเวลาเริ่มต่อใหม่ ควรประสานชิ้นส่วนแต่ละชิ้นเข้าด้วยกันด้วยกาว เทคนิคคือใช้กาวที่แถมมากับจิกซอว์หรือใช้กาวน้ำก็ได้ ทาที่ด้านหน้าของรูปภาพ ใช้ฟองน้ำเนื้อละเอียดลูบให้เรียบทั่ว ทิง้ ไว้ให้แห้ง ก็เสร็จเรียบร้อย นำไปใส่กรอบติดโชว์ได้

การทำงานก็เช่นกันต้องหาทางทำให้งานที่ทุ่มแรงกายแรงใจทำมานั่น ยั่งยืนต่อไป(Sustain) นานเท่านาน ไม่ใช่พองานชิ้นสุดท้ายเสร็จ ชิ้นแรกก็เริ่มจางลงหรือหายไป ขณะเดียวกันต้องไม่ลืมการประชาสัมพันธ์งานนั้นๆต่อไป

บอกแล้วว่าไม่ใช่แค่ต่อจิกซอว์

[พิมพ์ครั้งแรก ว.๘ เมื่อ ๒๕๔๑]


ไม่มีความคิดเห็น: