วันจันทร์ที่ 5 มกราคม พ.ศ. 2541

บัตร สวัสดิการประชาชนด้านการรักษาพยาบาล



หากท่านได้ติดตามข่าวในระยะนี้จะพบว่าได้มีการพูดถึงบัตร ที่เกี่ยวกับการรักษาพยาบาลอยู่หลายประเภทเช่น บัตรสุขภาพ บัตรสวัสดิการด้านการรักษาพยาบาล หรือบัตร สปร. และบัตรประกันสังคม หลายท่านอาจสงสัยและสับสน ว่าบัตรอะไรใช้อย่างไร ผู้เขียนใคร่เรียนทำความเข้าใจดังนี้ครับ

บัตรสุขภาพ เป็นบัตรที่ท่านสามารถซื้อเพื่อประกันการเจ็บป่วยของท่าน โดยซื้อได้ที่โรงพยาบาลหรือสถานีอนามัย ราคา 500 บาท ใช้รักษาพยาบาลได้ 5 ท่าน เป็นเวลา 1 ปี หมดอายุต้องซื้อใหม่(หมดอายุบัตรนะครับ ไม่ใช่หมดอายุท่าน)

บัตรประกันสังคม ก็เป็นบัตรใช้ในการรักษาพยาบาลสำหรับลูกจ้างโรงงาน หรือลูกจ้างสถานที่ต่างๆ (อยากรู้รายละเอียดต้องรอดู โก๊ะตี๋ ผีหน้ารักอธิบายหน้าจอทีวี)

ส่วน บัตรประกันสุขภาพประชาชนด้านการรักษาพยาบาล หรือ บัตร สปร. ก็คือบัตรที่กระทรวงสาธารณสุขออกให้เฉพาะผู้ที่ยากจน และผู้ที่สังคมควรช่วยเหลือเกื้อกูล เมื่อสมัยก่อนเรียกว่าบัตรสงเคราะห์ประชาชนผู้มีรายได้น้อย หรือบัตร สปน. หรือบัตรสงเคราะห์ ต่อมาเปลี่ยนชื่อเป็นบัตร สปร. ขณะนี้ท่านที่มีบัตรนี้อยู่ได้หมดอายุไปแล้วเมื่อ 30 กันยายน 2540 แต่เราต่ออายุให้ใช้ได้ถึง 31 มกราคม 2541

ในปีใหม่นี้จะดำเนินการออกบัตรสปร.ให้ใหม่ มีหลักเกณฑ์อยู่ 8 ประเภท ดังนี้

1. เด็กอายุ 0-12 ปี ได้แก่เด็กอายุ 0-12 ปีทุกคน ยกเว้นเด็กที่พ่อแม่เบิกได้

2. ผู้มีรายได้น้อย ได้แก่ผู้ที่อายุระหว่าง 13-60 ปี

คนโสด มีรายได้ไม่เกินเดือนละ 2000 บาท

ครอบครัว มีรายได้รวมกัน ไม่เกินเดือนละ 2800 บาท

3. นักเรียน เฉพาะนักเรียนที่อายุเกิน 12 ปีขึ้นไป และเรียนยังไม่จบชั้น ม.3

4. ผู้พิการ เฉพาะผู้พิการตามเกณฑ์พรบ. และอายุอยู่ระหว่าง 13-60 ปี

5. ทหารผ่านศึก เฉพาะตามเกณฑ์ทหารผ่านศึก และ อายุระหว่าง 13-60 ปี

6. ภิกษุ/ผู้นำศาสนา เฉพาะอายุระหว่าง 13-60 ปี

7. ผู้สูงอายุ ได้แก่ผู้ที่อายุ 60 ปีบริบูรณ์ขึ้นไป ยกเว้นผู้ที่เบิกได้

8. บัตรชั่วคราว สำหรับผู้มีสิทธิตามข้อ 1-7 แต่ชื่อไม่ได้อยู่ในทะเบียนบ้าน
ท่านที่มีสิทธิในบัตรในประเภทใด โปรดอย่าชะล่าใจ มัวแต่รอเจ้าหน้าที่มาดำเนินการให้ อาจผิดพลาดได้ จะให้ดีท่านต้องติดตามเรื่องด้วยนะครับ ที่สถานีอนามัย หรือโรงพยาบาล

แต่ถ้าจะให้ดีก็ อย่าป่วย ถ้าไม่อยากป่วยผู้เขียนขอแนะนำสุขบัญญัติแห่งชาติ 10 ประการ รายละเอียดขออุบไว้ก่อน ท่านที่สนใจโปรดติดตาม ใบปลิว ฉบับต่อไป




Post ครั้งแรกเมื่อ 2540

ไม่มีความคิดเห็น: