มีผู้คนจำนวนมากพยายามที่จะพัฒนาตนเองในด้านการบริหาร โดยเฉพาะอย่างยิ่งมุ่งที่จะ บริหารบุคคล ที่ถือว่าเป็นสุดยอดของงานการบริหาร (แต่น้อยมากที่จะคิดพยายามที่จะบริหารตนเอง) ซึ่งส่วนใหญ่แล้ว งานบริหารบุคคลที่คิดกันอยู่ก็คือ การบริหารผู้ใต้บังคับบัญชาของตน จะมีใครคิดบ้างไหมว่าคนที่เราน่าจะคิดบริหารมากที่สุด (นอกจากตัวเราเองแล้ว) ก็คือ ผู้บังคับบัญชา หรือ เจ้านาย ของเรานั่นเอง
การบริหารเจ้านาย มิได้หมายความถึงการพยายามทำให้เจ้านายอยู่ภายใต้อาณัติของเรา หรือเป็นเสมือนหุ่นเชิดของเรา ถ้าใครคิดเช่นนั้น ถือว่าเป็นความผิดอย่างมหันต์ และไม่สมควรอย่างยิ่ง
เจ้านาย(BOSS) หรือผู้บังคับบัญชา ก็คือผู้ที่มีอำนาจเหนือเราในการดำเนินงานที่ทำอยู่เป็นกิจวัตรประจำวัน เจ้านายอาจจะมีบางอย่างหรือหลายอย่างด้อยกว่าเรา เช่น ความรู้ด้อยกว่า วิสัยทัศน์(VISION)สั้นกว่า หรืออีกหลายๆอย่างที่แย่กว่า (ในความเข้าใจของเราเอง) แต่เจ้านายทุกคนไม่ขาดเลยก็คือ อำนาจที่เหนือกว่า อำนาจที่จะลงโทษหรือกระทำการอย่างใดอย่างหนึ่งแก่เรา และอย่าลืมว่า ทุกคนมีเจ้านาย อย่าคิดว่าตนเป็นเจ้านายของผู้อื่นเท่านั้น
ทำไมบางคนจึงเข้าหาเจ้านายได้ เรามักมองคนที่เข้าเจ้านายได้ดีว่าเป็นคนประจบสอพลอ เป็นคนเลียแข้งเลียขา แต่เราก็มักแอบอิจฉาอยู่ในใจตลอดมาว่า ทำอย่างไรเจ้านายจึงจะรักเราเช่นนั้นได้ ทำอย่างไรจึงจะทำให้คนที่เราทั้งรัก ทั้งเกลียด ทั้งกลัว รักเราได้
นายแพทย์กระแส ชนะวงศ์ นายแพทย์แมกไซไซ เคยให้หลักในการบริหารเจ้านายไว้ 10 ประการ คือ
1. จงเป็นนักฟังที่ดี คือต้องไม่ แกล้งฟัง (ทำท่าว่าฟัง แต่ไม่รู้เรื่อง) ต้องตั้งใจ และตีความหมายแท้จริงที่เจ้านายพูดให้ได้ สรุปความให้ได้ อย่ามัวประสาทเมื่อเจอเจ้านาย สบสายตาบ้าง (แต่อย่าตลอดเวลา) เมื่อเจ้านายพูดจบ อาจถามทวนเพื่อความแจ่มชัด (เท่าที่จำเป็น) จดข้อความที่จำเป็น(อย่าเอาแต่จด) และโปรดจำไว้ว่า เจ้านายเหมือนกันทุกคนคือ ไม่ชอบบอกซ้ำเรื่องเดิมบ่อยๆ
2. พูดตรงประเด็น กระทัดรัด เวลามีค่าสำหรับผู้บริหารทุกคน ใช้เวลาให้น้อยที่สุด เลือกเฉพาะที่สำคัญ พูดให้ตรงจุด ไม่อ้อมค้อม ชัดเจน หากทำรายงาน ควรจำกัดความยาวเพียง 1 หน้ากระดาษเป็นดีที่สุด การเขียนสั้นๆ แต่มีประสิทธิภาพนั้น แสดงว่าได้คิดและกลั่นกรองแล้ว
3. ใช้หลักการทูต ข้อเสนอต่างๆ ควรเปิดโอกาสให้เจ้านายได้เป็นผู้ตัดสินใจในขั้นสุดท้าย ด้วยความภาคภูมิใจ สบายใจ (เราเองก็จะได้พิจารณาอย่างรอบคอบก่อนเสนอ) อย่าปฏิเสธข้อเสนอของเจ้านายทันทีทันใด เพราะอย่างน้อยท่านต้องคิดถึงข้อดีข้อเสียแล้ว ถ้าไม่เห็นด้วยจริงๆอาจจะลองเสนอว่า ถ้าเป็นอย่างนั้น อย่างนี้จะเป็นอย่างไร แต่อย่ามัวเกรงว่า เรื่องบางอย่างอาจจะกระทบเจ้านายให้ไม่พอใจ เพราะอาจเป็นประโยชน์ในการตัดสินใจของเจ้านาย ลูกน้องที่เต็มใจบอกเจ้านายอย่างสุภาพว่า ท่านลืมรูดซิบ ดีกว่าลูกน้องที่ชมกันตะพึดตะพือ อย่างไม่ลืมหูลืมตา
4. แก้ปัญหาด้วยตนเอง ทุกวันนี้ไม่มีอะไรที่ทำให้ผู้บริหารเสียเวลา และเสียหัวสมองมากเท่ากับการคอยแก้ปัญหาให้ลูกน้อง
5. ส่งเสริมภาพพจน์ที่ดีของเจ้านาย ควรหาจุดเด่นของเจ้านาย และหาโอกาสส่งเสริมจุดเด่นเหล่านั้น อย่าทำให้เจ้านายเป็นตัวตลก หรือตัวโง่ (แม้แต่รู้สึก) บางครั้ง อาจต้องยอมให้เครดิตแก่เจ้านาย แม้ว่าสิ่งนั้นจะเป็นของตนเอง เมื่อเจ้านายดีขึ้นเราก็มีโอกาสดีขึ้นด้วย
6. มองโลกในแง่ดี นักบริหารที่ประสบผลสำเร็จล้วนแต่มองโลกในแง่ดี อย่ามองทุกอย่างเป็นปัญหา แต่ให้มองเป็นสิ่งที่ท้าทาย เวลาพูดกับเจ้านาย ถึงผู้ร่วมงานจงพูดแต่สิ่งที่ดี แสดงถึงการเป็นคนที่ทำงานกับผู้อื่นได้
7. อย่าทำงานล่วงเวลา แต่จงทำงานก่อนเวลา การทำงานแต่เช้าบอกให้รู้ว่า ท่านกระหายที่จะทำงาน ในขณะที่ทำงานล่วงเวลาบอกให้รู้ว่า ท่านยังทำงานไม่เสร็จ
8. รักษาคำมั่นสัญญา เจ้านายเข้าใจในปัญหาอุปสรรคของลูกน้องเสมอ แต่เจ้านายไม่ปรารถนาที่จะฟังคำแก้ตัวเมื่องานไม่เสร็จตามเวลา
9. รู้จักเจ้านาย หาความรู้พื้นฐานของเจ้านายว่าเป็นอย่างไร ประวัติ นิสัยการทำงาน เป้าหมายในชีวิต ฯลฯ (เจ้านายชอบดูมวย ไปขอคำปรึกษาขณะที่เจ้านายกำลังลุ้นมวย ย่อมก่อให้เกิดความหงุดหงิดไม่มากก็น้อย)
10. อย่าใกล้ชิดเจ้านายมากเกินไป ความใกล้ชิดเกินไปจะทำให้ท่านตีเสมอเจ้านาย อาจเผลอทำในสิ่งที่ไม่ควรทำ เพื่อนร่วมงานก็อิจฉา เจ้านายเหมือนกับไฟ อยู่ไกลก็หนาว อยู่ใกล้เกินก็ไหม้ การพยายามทำให้เจ้านายรัก เจ้านายมองเห็นความดี ความสามารถของเรา ในการที่จะสร้างสรรค์งานและไว้วางใจ มอบหมายงานสำคัญให้เราทำด้วยความเต็มใจ มีความสุขที่จะสนับสนุนงานของเราให้สำเร็จ โดยเจ้านายมีความมั่นใจว่า แท้จริงแล้วงานที่เราทำอยู่ ก็คืองานของเจ้านายนั่นเอง คือสิ่งที่ผู้เขียนเรียกว่า การบริหารเจ้านาย ในที่นี้ แต่ถ้าเป็นการทำแบบหวังกอบโกยความก้าวหน้าส่วนตัว เหยียบหัวเพื่อนฝูงเพื่อเอาแต่ได้ส่วนตนถ่ายเดียวแล้วไซร้ สมควรเรียกว่า ประจบสอพลอ (แต่ถ้าเป็นการหวังเผื่อไว้เล็กๆน้อยๆก็ไม่ว่ากัน)
เมื่อบริหารเจ้านายแล้ว อย่าลืมตั้งใจทำงานที่อยู่ในความรับผิดชอบให้ดีที่สุด มิฉะนั้นสิ่งที่ท่านปฏิบัติมาก็เป็นเพียงสิ่งลวงโลก สร้างภาพ เจ้านายรู้นะ จะบอกให้
ก่อนจะจบ อยากจะเรียนกับเจ้านายของผู้เขียน (ถ้าบังเอิญท่านมาอ่านบทความนีเ้ข้า)ว่า ทั้งหมดที่กล่าวมานั้น เป็นตำรับตำราที่ได้ศึกษามาระหว่างที่ท่านส่งผู้เขียนไปศึกษา แล้วเก็บเอามาเล่า โดยส่วนตัวแล้ว ผู้เขียนมิบังอาจ แม้แต่คิดที่จะบริหารเจ้านายคนใดเลย (แม้แต่เจ้านายที่บ้าน) และ ยินดีเสนอตัวให้เจ้านายบริหารอยู่เหมือนเดิม....จริงๆครับ(รู้สึกจะนอกตำราการบริหารเจ้านายแล้ว นะเนี่ย.....เอ! หรือเป็นเทคนิคชั้น สูง.....แฮ่ม)
อ้างอิง
1. นพ.กระแส ชนะวงศ์, เอกสารประกอบการบรรยาย “การบริหารงานสาธารณสุข” ปรับปรุงโดย นพ.สมชาติ โตรักษา
คณะสาธารณสุขศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล 14 มิถุนายน 2537
2. สุธี สุทธิสมบูรณ์,สมาน รังสิโยกฤษณ์ หลักการบริหารเบือ้ งต้น พิมพ์ครัง้ ที่ 15 กรุงเทพมหานคร: บริษัทประชาชนจำกัด, 2537
[พิมพ์ครั้งแรก ว.๘ เมื่อ ๒๕๔๑]
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น