และต่อมา ศ.เกียรติคุณ นพ.ปิยะสกล สกลสัตยาธร อดีตรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข ผลักดันให้เกิดพรบ.ระบบสุขภาพปฐมภูมิ พ.ศ.2562 รองรับ รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ.2560 มาตรา 258 ช. ด้านอื่น ๆ (5) บัญญัติให้ดำเนินการปฏิรูปประเทศโดยให้มีระบบการแพทย์ปฐมภูมิที่มีแพทย์เวชศาสตร์ครอบครัวดูแลประชาชนในสัดส่วนที่เหมาะสม
เป็นความคาดหวังของผู้ทำงานด้านปฐมภูมิ ที่จะพัฒนางานสุขภาพให้เกิดระบบที่มีประสิทธิภาพ ประชาชนคนไทยมีสิทธิได้รับบริการสุขภาพปฐมภูมิที่เป็นธรรม มีคุณภาพและมีมาตรฐาน
แต่ความหวังค่อย ๆ ริบหรี่ เมื่อกระทรวงสาธารณสุขไม่เอาจริงเอาจังในการพัฒนางานสุขภาพปฐมภูมิ จะด้วยผู้บริหารระดับสูงที่ไม่เข้าใจลึกซึ้งถึงงานสุขภาพปฐมภูมิหรือไม่ใส่ใจ ก็สุดจะคาดเดา
งานคลีนิกหมอครอบครัวที่ตั้งเป้ามีแพทย์เวชศาสตร์ครอบครัว และสหวิชาชีพ เป็นทีม ก็เริ่มค่อย ๆ ถูกลดจำนวนลง เหลือแค่ 3 หมอ ซึ่งประกอบด้วย หมอประจำบ้าน คือ อสม. หมอสาธารณสุข คือ บุคคลากรในสถานบริการปฐมภูมิ และ หมอครอบครัว คือ แพทย์ในโรงพยาบาล ซึ่งทั้งหมดนั้นก็แตกต่างไปจากวันที่รัฐมนตรีเจ้ากระทรวงประกาศในวาระแรก ที่ยอมรับว่าตนไม่รู้จักแพทย์เวชศาสตร์ครอบครัว
นโยบาย 3 หมอ ถือเป็นการ ถอยหลังกรูด เหมือนกลัวประชาชนจะได้รับสิ่งที่ดี เหมือนกลัวสูญเสียอำนาจเช่นเดิม ดังนั้นจึงไม่แปลกใจที่ คณะกรรมการระบบสุขภาพปฐมภูมิ ตามพรบ.จึงพลอยถอยกรูดไปด้วย โดยลดสัดส่วน พยาบาลวิชาชีพและผู้ประกอบวิชาชีพการสาธารณสุขชุมชน เหลือแค่ 2 คนขึ้นไป จากเดิมตำแหน่งละ 4 คน (ซึ่งเมื่อเริ่มต้นโครงการก็ลดลงมาครึ่งหนึ่งจาก สัดส่วนที่เหมาะสม คือตำแหน่งละ 8 : 10000 มาเป็น 4 : 10000 แล้ว นี่ลดลงไปอีกเหลือ 2 : 10000) ทั้งตัดตำแหน่งอื่น ๆ ทิ้งไปทั้งหมด
หนึ่งคือ เปลี่ยนหลักคิดเดิมของหน่วยบริการปฐมภูมิไปอย่างสิ้นเชิง จากพรบ.ที่กำหนดให้มี หน่วยบริการปฐมภูมิ และ เครือข่ายหน่วยบริการปฐมภูมิ ซึ่งทั้งสองรูปแบบนี้จะจัดระบบบริการปฐมภูมิที่เท่ากันทุกประการ เปลี่ยนไปเป็น หน่วยบริการ S M L ที่กำหนดให้หน่วยบริการระดับ L เป็นหน่วยรับส่งต่อจาก S และ M เป็นการขัดต่อหลักเหตุผลและความจำเป็นในการตราพรบ.นี้ ที่บัญญัติว่า เพื่อให้ประชาชนได้รับบริการสุขภาพปฐมภูมิที่มีประสิทธิภาพ มีความเป็นธรรม มีคุณภาพและมีมาตรฐาน แทนที่ประชาชนจะได้รับบริการที่ลดขั้นตอน ลดภาระการเดินทาง กลับเป็นเพิ่มภาระเพิ่มขั้นตอนมากยิ่งขึ้น
หนึ่งคือ เปลี่ยนหลักแนวคิดเดิมของหน่วยบริการปฐมภูมิ ที่ไม่ต้องการให้มีเกณฑ์ ตัวชี้วัดและการประเมิน ที่เป็นภาระมากเกินไป จนรบกวนระบบงานให้บริการประชาชน แต่คู่มือคุณภาพฯดังกล่าว ก็ไม่ต่างอะไรกับ เกณฑ์ รพสต.ดีเด่น หรือ เกณฑ์ รพสต. 5 ดาว ซึ่งเน้นตัวชี้วัดตามกระบวนการมากกว่าการวัดผลลัพธ์ทางด้านสุขภาพ เป็นการกลับไปติดกับดักเดิม ตกหลุมพรางเดิม
กระทรวงสาธารณสุขควรเติมเต็มด้วยการเร่งผลักดันให้คณะกรรมการระบบสุขภาพปฐมภูมิ ตามพรบ. กำหนดมาตรการหรือออกประกาศที่ต้องทวีความเข้มข้นในการให้บริการมากขึ้น เพื่อประชาชนจะได้รับบริการที่มีคุณภาพมากขึ้น ไม่ใช่ไปลดกฏเกณฑ์ลง ต้องผลักดันแนวทางการจัดงบประมาณค่าใช้จ่ายบริการสุขภาพปฐมภูมิตาม มาตรา 16 วรรค 2 เพื่อแก้ปัญหาด้านการเงินการคลังโดยเร็ว ซึ่งจะแก้ปัญหาได้ทั้งค่าใช้จ่ายด้านการรักษาพยาบาล และส่งเสริมสุขภาพป้องกันโรค ของทุกกองทุน
ไม่ใช่ผู้บริหารระดับต่าง ๆ ของกระทรวงสาธารณสุข ออกมาส่งสัญญาณ ออกมาตีกัน คอยกระตุกแข้งขาทางฝั่งอบจ. เปรียบเทียบเปรียบเปรย ดูหมิ่นเหยียดหยามว่าอบจ. ดูแลระบบปฐมภูมิไม่ได้ไม่เป็น เหมือนเกรงว่าประชาชนจะได้ดี
ประตูบ้านคนโบราณต้องมีธรณีประตู เพื่อความแข็งแรงของบานประตู และเพื่อป้องกันฝุ่นละออง ป้องกันน้ำ ป้องกันแมลง สัตว์เลื้อยคลาน ฯลฯ คนโบราณทำธรณีประตูให้ใหญ่เพื่อให้สะดุดตา จะได้ไม่สะดุดตีน ปัจจุบันยุคสมัยเปลี่ยนไป ความจำเป็นของธรณีประตูก็ลดลง ก็เอาออกเสีย จะได้ไม่เป็นอุปสรรคในการก้าวเดิน ก้าวสะดุด
ต้องหนีให้พ้นจากระบบเดิม ๆ ถ้าไม่สามารถรื้อถอนธรณีประตูออกได้ เพราะไม่มั่นใจในความแข็งแรงของประตู ก็ควรก้าวข้ามให้พ้น จะได้ไม่เจ็บตีน
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น