วันอาทิตย์ที่ 31 พฤษภาคม พ.ศ. 2563

COVID-19 ถึงเวลาโชห่วย ถึงเวลาปฐมภูมิ

ก่อนที่จะพูดถึงโชห่วย อยากจะขอพูดถึงนักมวยก่อนสักหน่อยเพราะช่วงนี้มีคนชอบใช้ศัพท์นักมวยคำหนึ่งกันบ่อยในสถานการณ์โควิด-19 คือคำว่า การ์ดอย่าตก

ลีลาการชกของนักมวยมี 2 ประเภท คือ Fighter กับ Boxer 

Fighter คือพวกชอบเดินลุยเข้าปะทะอย่างเดียว นักมวยที่เดินลุยเข้าชกจึงต้องยกการ์ดสูงเพื่อป้องกันตัว พวกลุยแล้วไม่ยกการ์ดส่วนใหญ่จะเป็นพวกที่มั่นใจในน้ำหนักหมัดของตนเอง เปิดการ์ดล่อคู่ต่อสู้ แต่ก็พบว่าหลายรายโดนน้อคไปอย่างไม่เป็นท่าในที่สุด

ส่วน Boxer คือพวกลีลาสวยงาม เน้นเต้นฟุตเวิร์ก แย้ปเก็บคะแนน อาศัยจังหวะเข้าโจมตีคู่ต่อสู้ จึงยกการ์ดเมื่อจำเป็น ไม่ต้องยกการ์ดตลอดเวลา นักมวยบางรายเป็นพวกติ๊ดชึ่ง คิดว่าคะแนนนำ เอาแต่เต้นท่าสวยไม่ยอมเข้าใกล้คู่ต่อสู้ ดังนั้นคนดูจึงมักไม่ค่อยชอบพวก Boxer เพราะดูแล้วเซ็งไม่มันส์ในอารมณ์ ที่ดูแล้วยิ่งน่าเบื่อมากคือพวกที่นอกจากเอาแต่เต้นไม่ยอมเข้าปะทะยังยกการ์ดสูงตลอดเวลา คือไม่รู้จะยกไปทำไม

โควิด-19 หากเปรียบเป็นมวย บางประเทศก็ลุยแบบ Fighter แลกเป็นแลก ไม่โดนน้อคก็ได้แผลปูดบวม ได้ภูมิคุ้มกันกลับมา บางประเทศก็ใช้สไตล์ Boxer ค่อยเต้นฟุตเวิร์ก ค่อยแย้ป ไม่ปะทะโดยตรง หวังเก็บคะแนนหมัดสวย รอจังหวะ วัคซีนมาเมื่อไรจะได้ลุยคลุกวงใน แต่บางประเทศก็ติ๊ดชึ่งไปเรื่อย ๆ พี่เลี้ยงก็ตะโกนสั่งให้ยกการ์ดไว้ ๆ แต่อย่าเข้า พวกนี้ถึงที่สุดไม่แพ้คะแนนก็โดนไล่ลงเวที ขึ้นเวทีทีไรคนดูก็โห่เอา เพราะเป็นนักมวยประเภทกลัวเจ็บตัว ขึ้นเวทีรอครบยกเอาค่าตัว การ์ดไม่ตก ไม่เข้าคลุกวงใน ไม่บวมไม่แตก ไม่มีภูมิคุ้มกัน เมื่อไรคลื่นโควิดระบาดละลอกสองสามสี่ห้าหกเจ็ด... ก็ต้องทำเหมือนเดิม ยกการ์ดไว้ อย่าลุยเข้าไป อย่าให้เข้ามาใกล้ตัว ป้องกันได้แน่นอน แต่ต้องทำอย่างนี้ทุกรอบการระบาด

เมื่อเรายกการ์ดสูงเพื่อป้องกันโควิด ห้างสรรพสินค้ารวมทั้งร้านสะดวกซื้อจึงกลายเป็นความยุ่งยากยุ่งเหยิง ประชาชนจะเข้าห้างต้องเช็คชื่อรายคน วัดไข้รายคน จดเบอร์โทรศัพท์ หรือสแกนคิวอาร์โค้ด เมื่อเข้าห้างใหญ่ไปแล้วจะเข้าร้านค้าย่อยแต่ละร้านก็ต้องผ่านกระบวนการเช็คชื่อ วัดไข้ จดเบอร์โทร สแกนคิวอาร์โค้ด กันทุกร้านไป พฤติกรรมปกติเดิมของการไปเดินห้างที่ส่วนใหญ่จะเดินดูไปเรื่อย ๆ เข้าร้านนั้นออกร้านนี้ หมดเวลาไปเป็นวันไม่จำเป็นต้องได้ของ มาเจอระบบ New Normal นี้เข้า จึงย่อมสร้างความรู้สึกไม่สะดวกของประชาชน หากเป็นเช่นนี้ต่อไปคนจะเบื่อห้าง คนจะเบื่อร้านสะดวกซื้อ เพราะมันไม่สะดวกสมชื่อ แค่อยากได้น้ำเปล่าดื่มสักขวดก็ต้อง ผูก mask วัดไข้ สแกนคิวอาร์โค้ด

ดังนั้นถึงเวลาที่ ร้านโชห่วยต้องฉวยโอกาส กลับมาเร่งเสนอตัวสู้กับห้างสรรพสินค้าและร้านสะดวกซื้อ เพราะร้านเหล่านั้นไม่สะดวกในการซื้อเสียแล้ว เมื่อไม่สะดวก ร้านโชห่วยที่ปรับปรุงให้อำนวยความสะดวกเพิ่มขึ้นก็จะกลับมาเป็นที่นิยมได้อีกครั้ง 

ร้านโชห่วยต้องปรับอะไรบ้าง
1.ปรับปรุงหน้าร้านให้ดูดี สะอาด จัดวางสินค้าให้ไม่รกรุงรัง
2.มีสินค้าหลากหลาย Brand มากขึ้น ในสินค้าประเภทเดียวกัน 
3.ปรับระบบรับจ่ายเงิน เป็นระบบ QR code หรือ รับระบบ e-Wallet ให้ได้
4.ปรับปรุงการพูดจาท่าทางให้เอาลูกค้าเป็นพระเจ้ามากขึ้น (หลักการคิดคือ ให้คิดในใจเสมอว่า ลูกค้าคือปีศาจ ไม่ว่าจะเอาใจแค่ไหน มาใหม่ทีไรก็ต้องเอาใจเสมอไป พลาดครั้งเดียว โดนแชร์แน่นอน)

ทำอย่างนี้ลูกค้าก็สะดวกกว่าไปร้านสะดวกซื้อ  เอาจุดที่ลูกค้าไม่ชอบเช่น ไม่ได้เดินเลือกสินค้าเอง มาเป็นจุดขาย บอกมาว่าต้องการอะไรจะหยิบให้ ไม่เสียเวลา ไม่สัมผัส ไม่อยู่นานรีบซื้อรีบจ่ายรีบไป จุดอ่อนก็จะกลายมาเป็นจุดแข็ง

ขออย่างเดียว อย่ามีใครมาสั่งให้ร้านโชห่วยยกการ์ดขึ้นเหมือนร้านสะดวกซื้อ ที่จู่ ๆ ก็โดนมาตรการคลายล็อกต้องทำเข้มข้นขึ้นก็แล้วกัน

แล้วหน่วยบริการสุขภาพประเภทโชห่วยล่ะ จะถึงเวลากลับมาด้วยมั้ย

ย้อนไปทบทวนข้อความเดิมที่เคยกล่าวหาว่า โรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบล หรือ รพสต.เป็นร้านโชห่วย ควรปรับปรุงเป็นร้านสะดวกซื้อ เรียกว่า คลินิกหมอครอบครัว กันก่อน (https://buabangbai.blogspot.com/2016/09/blog-post_52.html)

...แล้ว โรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบล หรือ รพสต.เป็นอะไร รพสต.ก็กำลังปรับโฉมให้เป็นคลินิกหมอครอบครัวเหมือน ร้านโชห่วย ที่เอาใจลูกค้า ปรับโฉมเป็นมินิมาร์ทไง (อุ้ย...หมออนามัยจะโกรธมั้ยนี่ ไปหาว่าเขาเป็นโชห่วย) 

เดิมร้านโชห่วยก็เป็นขวัญใจลูกค้าในชุมชนอยู่แล้ว กะปิปลาร้าเขาก็ไม่เอาไปขายในมินิมาร์ท กะปิปลาร้าก็ยังต้องพึ่งโชห่วยอยู่ เหมือนพื้นฐานการดูแลสุขภาพก็ยังต้องพึ่งรพสต. เพียงแต่คลินิกหมอครอบครัวที่ว่านี้จะจัดระบบให้ชัดเจนขึ้น เป็นการยกระดับการบริการปฐมภูมิให้กับประชาชน คงส่วนเดิมเติมส่วนขาด ให้รพสต.มีความครบถ้วนมากขึ้น ขาดอะไรก็เติม ที่ดีอยู่แล้วก็คงไว้ อำนวยความสะดวกให้ประชาชน

เรียกว่าเป็นการเพิ่มศักยภาพของรพสต. ทำทั้งงานที่ถนัดอยู่เดิม งานใหม่ที่เพิ่มก็หาคนที่ถนัดมาทำ ไม่เหมือนเมื่อก่อน เพิ่มงานอะไรก็หมอคนเดิม เดิมรักษาเล็ก ๆ น้อย ๆ ต่อมาเห็นว่ารักษาฟันจำเป็น เขาก็จะเข็นให้หมออนามัยขูดหินปูน(ยังจำได้มั้ย) เมื่อเห็นว่าภาวะทางจิตสำคัญ เขาก็ส่งหมออนามัยไปอบรมจิตเวช ตอนนี้เขาก็ให้หมออนามัยรักษาเบาหวาน ความดันโลหิตสูง ถึงเกิดคำฮิตที่ว่า อะไรก็กู  ถ้าครั้งนี้ไม่เอาแพทย์เวชศาสตร์ครอบครัวลงมา ต่อไปคงต้องให้หมออนามัยฉีด SK ละลายลิ่มเลือด

แล้วโชห่วยต่างจากคอนวีเนียนสโตร์อย่างไร โชห่วยมีของที่คนขายอยากขาย ลูกค้ามาซื้อต้องบอกว่าจะซื้ออะไร เจ้าของร้านจะไปหยิบมาให้ คอนวีเนียนสโตร์มีของที่ลูกค้าอยากซื้อ เลือกหยิบเอาเองตามความพอใจ คลินิกหมอครอบครัวก็เช่นกัน ลูกค้าคือประชาชนในพื้นที่ สามารถเข้าถึงทีมหมอครอบครัว ปรึกษาหารือได้ถึงสุขภาพของตน โดยทีมหมอที่พร้อมจะให้คำปรึกษา ไม่เหมือนโรงพยาบาลใหญ่ที่ สินค้าเหมือนซุปเปอร์มาร์เก็ต แต่ระบบบริการเหมือนโชห่วย คือแล้วแต่หมอจะตัดสินใจ คนไข้ได้แต่ทำตามที่หมอสั่ง... 

วันนี้รพสต.ยังคงเป็นร้านโชห่วยเหมือนเดิม หากแต่ชาวบ้านยังนิยม แม้พยายามจะปรับปรุงเป็นรพสต.ห้าดาว ก็มักเน้นที่โครงสร้างมากกว่าปรับระบบบริการ

ในสถานการณ์โควิดที่พยายามบอกกันว่าเราต้องทำ New Normal พวกโรงพยาบาลโรงเล็กโรงใหญ่ทั้งหลาย จึงกำหนดแนวทาง New Normal กันยกใหญ่ ต่างพากันกำหนดว่าอันโน้นอันนี้ก็ต้องปรับปรุง คนไข้ไม่จำเป็นต้องมาโรงพยาบาล ยาก็จะเอาไปส่งให้ที่บ้าน ทำฟันก็ยาก ผ่าตัดไม่ต้องพูดถึง ให้ชะลอไปก่อน แล้วประชาชนที่รู้สึกว่าตนเองเจ็บป่วยจะไปพึ่งใคร จะไปปรึกษาใคร แค่ไหนต้องไปโรงพยาบาล แค่ไหนรอได้ บางโรคบางรายรอไปรอมาอาการหนักจนสายเกินไป

รพสต.โชห่วยนี่แหละที่จะเป็นที่พึ่งของประชาชน ปรับปรุงอีกสักหน่อย จะสามารถฉวยโอกาสดึงประชาชนให้กลับมาสู่ระบบสุขภาพปฐมภูมิ ที่ในที่สุดประชาชนจะ มีภูมิความรู้ทางสุขภาพและสามารถจัดการสุขภาพตนเองและครอบครัวได้ ในเมื่อร้านค้าโชห่วยยังต้องปรับปรุง รพสต.ก็คงต้องปรับปรุงบ้างเช่นกัน 

รพสต.ต้องปรับอะไร

1.ปรับระบบให้เป็นกระบวนการเวชศาสตร์ครอบครัว แม้จะยังไม่มี แพทย์เวชศาสตร์ครอบครัว ก็เอาเจ้าหน้าที่ที่มีอยู่อย่างจำกัดนี่แหละ แบ่งงานทีมงานใหม่ เลิกแบ่งเนื้องานออกเป็นส่วน ๆ แต่แบ่งคนตามพื้นที่ออกเป็น catchment แล้วดูแลคนแบบองค์รวม ดูแลทั้งตัวและหัวใจ ดูแลทั้งครอบครัวและชุมชน เลิกเน้นดูรายโรค รายอวัยวะ 
2.ปรับปรุงระบบบริการให้ทันสมัยขึ้น ใช้ IT ให้มากขึ้น ใช้ระบบเชื่อมโยง IOT ให้มากขึ้น ทำทุกอย่างบนโปรแกรม ที่สามารถ Real time , Online ทำครั้งเดียวจบ
3.ปรับปรุงเครื่องไม้เครื่องมือให้ทันสมัยมากขึ้น  ลดงานเสมียน ลดงานจับกัง ถึงเป็นโชห่วย ก็โชห่วยที่พัฒนาแล้ว
4.สร้างความเชื่อมั่นให้ประชาชน ว่า เราเป็นหมอประจำตัวที่พึ่งได้ ประสานกับหมอรพ.ใหญ่ได้ ปรึกษาได้
5.รพสต.และคลินิกหมอครอบครัวต้องเป็นผู้นำในการปรับปรุงระบบ  เพราะผู้เชี่ยวชาญด้านระบบสุขภาพปฐมภูมิคือพวกเรา สถานการณ์โควิดชี้ให้เห็นว่า โรงพยาบาลทั้งหลายไม่สามารถรับมือกับระบบบริการปฐมภูมิ  ต้องจัดสรรส่วนแบ่งทั้ง เงิน ทรัพยากร บุคลากร ที่เหมาะสมมาที่หน่วยบริการปฐมภูมิ

ได้เวลาโชห่วย ได้เวลา รพสต. ได้เวลาคลินิกหมอครอบครัว ที่จะยึดการดูแลสุขภาพปฐมภูมิกลับมาให้ประชาชน









ไม่มีความคิดเห็น: